วิกฤตฝุ่น PM2.5 ปีนี้แรงกว่าปีก่อน ชง 14 แผนรับมือให้ ครม.อนุมัติ

by Admin

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ มีมติเห็นชอบ (ร่าง) มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ปัญหามลพิษอันเกิดจาก PM2.5 ใน 3 ระยะและดำเนินการตลอดทั้งปี รวม 14 มาตรการหลัก โดยจะเสนอให้ ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ปัญหามลพิษจาก PM2.5 เพื่อให้เกิดการบูรณาการเฝ้าระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งการดำเนินงานตามวงจรการรับมือภัยเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ดังนี้

ระยะเตรียมการ (ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม) 6 มาตรการ คือ 1. เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมา ภายใต้ยุทธศาสตร์ CLEAR SKY และให้ติดตามผลการดำเนินงานอยู่เป็นระยะ 2. พัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับการเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า (Traceability) พร้อมติดตามช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเผาตามรอบการเพาะปลูกและส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดการเผา

3. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้แนวทางการปฏิบัติ “GAP PM2.5 Free” 4. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรทดแทนการเผา เช่น การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล การแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดิน 5. จัดทำแผนรับมือและตอบโต้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปฏิบัติการตามแผนอย่างเคร่งครัด 6. จัดอันดับพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาซ้ำซากในป่าสูงสุด 10 อันดับ และจัดกำลังเฝ้าระวังป้องกันทุกจุดตามขนาดของพื้นที่

ระยะเผชิญเหตุ (ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม) 3 มาตรการ คือ 1. จัดตั้ง War Room วิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ในบริหารจัดการและเสนอแนะมาตรการ 2. บริหารจัดการไฟในพื้นที่รับผิดชอบ หากต้องการเผาให้ขออนุญาตฝ่ายปกครองก่อนการเผา เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเผาให้สรุปสถานการณ์การเผาในพื้นที่ 3. ใช้อำนาจตามกฎหมายประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ภัยพิบัติเมื่อ PM2.5 มากกว่า 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์บรูณาการหน่วยงานและยกระดับมาตรการ

ระยะบรรเทา (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนกรกฎาคม ) 1 มาตรการ คือ จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น หน้ากากอนามัย ยารักษาโรคและแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ยารักษาโรคและเร่งจัดบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข (หน่วยบริการตรวจสุขภาพประชาชน คลินิกมลพิษเคลื่อนที่ คลินิกออนไลน์ในทุกจังหวัด)

นอกจากนี้ จัดตั้งศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯ PHEOC ในทุกระดับ ภายใต้มาตรการที่ดำเนินการตลอดทั้งปี 4 มาตรการ คือ 1. ตั้งศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ 2. ผลักดันกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด 3. ให้จัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองภายในปี 2568 3.  สื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้สู่สาธารณะ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะนำมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ปัญหามลพิษอันเกิดจาก PM2.5 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. โดยสาระสำคัญตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทส. และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกันแถลง สรุปบางส่วนที่สำคัญ อาทิ

1) แนวโน้มฝุ่น PM2.5 ปี 2567 จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว (2566) เพราะจะมีสถานการณ์เอลนีโญผสมโรงด้วย  กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้มงวดการตรวจสอบสภาพรถและตรวจจับรถที่เข้ามาในเขตเมือง, กวดขันวินัยจราจร, คุมพื้นที่ก่อสร้าง, รณรงค์ให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และรถสาธารณะมากขึ้น

2) ปีที่ผ่านมามีสถิติการตรวจจุดพักรถ เช่น แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง อู่รถเมล์ ท่าเรือคลองเตย และนิคมอุตสาหกรรม โดยตรวจรถยนต์ 135,000 คัน ไม่ผ่าน 2,141 คัน รถสภาพทั่วไป 37,000 คัน ไม่ผ่าน 217 คัน รถบรรทุก 92,000 คัน ไม่ผ่าน 529 คัน

3) ควบคุมโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่น ถ้าค่าฝุ่น 75.1 มคก./ลบ.ม. ต้องคุมพื้นที่ก่อสร้าง, ลดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย, ห้ามจอดรถถนนสายหลัก สายรอง, วัด, ศาลเจ้างดจุดธูปเทียน

4) ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการเผาในที่โล่งผ่านช่องทางของ กทม. โดยจะได้ค่าแจ้งเบาะแสครึ่งหนึ่งจากอัตราค่าปรับ 2,000 บาท

5) จะใช้ดาวเทียมเฝ้าระวังการเผาชีวมวลในเขตหนองจอก มีนบุรี และคลองสามวาที่มีการทำเกษตรกร หากพบจุดความร้อน (Hot Spot) จะให้เทศกิจเข้าไปดำเนินการ

6) พร้อมจะขอความร่วมมือบริษัทให้พนักงาน Work from home ประมาณ 40,500 คน

Copyright @2021 – All Right Reserved.