ยื่นข้อเสนอเวทีเอเปคป่าไม้เชียงใหม่
ยุตินโยบายคาร์บอนเครดิตฟอกเขียว
เปิดช่องเอกชนยึดที่ดินทำกินชุมชน

by Admin

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมให้นำประเด็นปัญหาป่าไม้และที่ดินเข้าหารือกับผู้นำนานาชาติในเวทีเอเปกป่าไม้ โดยปลัดกระทรวงฯ รับเรื่องแต่ไม่รับปากจะนำข้อเรียกร้องมาหารือในที่ประชุมหรือไม่

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน ได้เข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ เพื่อให้นำปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ตามที่ประชาชนข้อเสนอเข้าหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปกด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. นี้

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นผู้แทนรับหนังสือโดยระบุว่า จะรับข้อเรียกร้องไว้หารือ หากไม่ติดขัดข้อกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามยังไม่รับปากว่าจะสามารถนำเข้าพูดคุยในการประชุมเอเปกป่าไม้ตามที่ร้องขอได้หรือไม่ และยืนยันไม่มีการพูดคุยเรื่องการฟอกเขียวในเวทีดังกล่าว

ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย ดังนี้
1.ขอยืนยันหลักการ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

2.ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้เพื่อเยียวยาแก้ไขประชาชนที่ได้ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาลเผด้๗การทหาร และในระหว่างรอการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรม โดยให้สามารถกลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ และห้ามนำที่ดินที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมเข้าสู่กระบวนการปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตโดยเด็ดขาด

3.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายดังกล่าวโดยชุมชน บนหลักการคนอยู่กับป่า ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

4. ให้เดินหน้าธนาคารที่ดินและกลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

5. หยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” โดยข้ออ้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน และจงหยุดโครงการที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาของรัฐและเอกชนทั้งหมดที่เข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น ซึ่งกำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทันที

6. หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปรกติฤดู โดยที่ไม่เคยมีมาตรการใดๆ กับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ และไม่เคยมีมาตรการดูแลชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบมาตรการประจำฤดูของรัฐ

7. ให้รัฐไทยปฏิบัติตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และขอให้สนับสนุนโดยการเร่งรัดในนายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง (ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ) โดยรัฐไทยจะยอมรับ “หลักการคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรม” และการดำรงอยู่ของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

ด้านนายถาวร หลักแหลม ผู้แทน สกน. กล่าวว่า การประชุมเอเปคป่าไม้จะมีการแถลงนโยบายด้านเดียวโดยรัฐบาลไทย ซึ่งประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีส่วนร่วม ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับและได้รับแก้ไขปัญหาตามเท่าที่ควร ซ้ำร้ายยังปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ การละเมิดสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น

อนึ่ง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ได้เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry) หรือ MMRF5 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 เป็นเจ้าภาพ

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างถ้อยแถลงเชียงใหม่ที่ประเทศไทยพยายามให้ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันว่า ป่าไม้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกเขตเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบนี้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางความร่วมมือต่อไป

โดยการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี 1 ใน 9 เรื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสวงหาโอกาสและแนวทางความร่วมมือในการใช้ภาคการป่าไม้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าของภูมิภาค ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกผ่านกระบวนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และถูกต้องตามกฎหมายในระดับท้องถิ่นของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคและในระดับนานาชาติที่สมาชิกฯ ร่วมเป็นภาคี

ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการฉลองความสำเร็จของสมาชิกเอเปคในการร่วมกันดำเนินงานจนสามารถบรรลุตามเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของภูมิภาคเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด ไว้ในปี 2563

Copyright @2021 – All Right Reserved.