นับถอยหลังเตรียมรับมือ PM2.5

by Igreen Editor

อากาศช่วงฤดูหนาวของเมืองใหญ่และหมอกควันจากฝุ่นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กันราวกับเป็นมลพิษประจำฤดูกาล ซึ่งปกติฤดูหนาวของไทยจะเวียนมาถึงในกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าปกคลุมประเทศไทย

ฤดูหนาวปีนี้จะมาถึงในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า  จึงน่ามีคำทำนายหรือคาดการณ์ว่า ปีนี้แต่ละภูมิภาคของประเทศจะมีความเสี่ยงที่จะเผชิญฝุ่น PM2.5 มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีอากาศและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หนึ่งในนักวิจัยของเครือข่ายอากาศสะอาดและผู้ที่ศึกษาด้านมลพิษทางอากาศ ระบุว่า ปีนี้สถานการณ์ ฝุ่น PM2.5 อาจจะต่างออกไปจากปีก่อนในหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพ

อาจารย์ศิวัช ขยายความว่า แม้ยังไม่มีใครบอกได้ชัดว่าฤดูหนาวที่จะมาถึง ฝุ่นควันพิษแต่ละแห่งจะรุนแรงขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือผลกระทบต่อสุขภาพอาจจะน้อยลง เพราะคนไทยได้ปรับตัวรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาก่อนแล้ว และได้ปฏิบัติตัวในยุคนิวนอร์มอล (New Normal) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยจนกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว

“นิวนอร์มอลช่วงโควิค 19 ระบาดนี้น่าจะส่งผลกับช่วงวิกฤตฝุ่นควันหลายด้าน ก่อนหน้านี้เคยมีการรณรงค์ให้สวมหน้ากากช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 แต่ก็ยังได้รับความร่วมมือไม่มากเท่ากับโควิด-19 กำลังระบาดซึ่งถูกบังคับให้สวม ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลดีให้กับกลุ่มเสี่ยงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบที่จะรับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด”

ขณะเดียวกัน งานวิจัยที่เคยเก็บข้อมูลจากพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ทราบว่า ช่วงเกิดวิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือมีสาเหตุสำคัญมาจากการเผาที่ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มขึ้น แต่หากดูสถานการณ์เชียงใหม่ตลอดทั้งปี โดยไม่ได้โฟกัสแค่เฉพาะช่วงที่มีการเผา พบว่าต้นกำเนิดสารก่อมะเร็งอับดับหนึ่งคือไอเสียจากยานพาหนะ

อันดับสองตามมาด้วยคือการเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้ง แตกต่างจากภาคใต้ที่ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เกือบ 100% สาเหตุมาจากไอเสียยานพาหนะ

ช่วงวิกฤตฝุ่นควันในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้ทำงานที่บ้าน แต่ก็ไม่มีใครกล้ายืนยันว่ามาตรการนี้จะช่วยลดมลพิษได้จริงหรือไม่ ซึ่งผลการประกาศเคอร์ฟิวช่วงโควิด 19 ระบาด สามารถช่วยยืนยันได้แล้วว่า มาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติสามารถลดมลพิษในกรุงเทพฯ ลงได้จริง และมีตัวเลขยืนยันคุณภาพอากาศในช่วงเคอร์ฟิวว่าดีขึ้นมาก

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า กล่าวอีกว่า ในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องเข้าปี 2564 วิกฤตฝุ่นควันอาจจะดีขึ้น เพราะยังไม่มีสัญญาณว่าจะถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนเหมือนปีที่ผ่านมาซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้อากาศแห้งกว่าปกติ

ศ.ดร.ศิวัช ขยายความว่า อากาศแห้งนั้นนอกจากจะทำให้ฝุ่นควันรุนแรงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดไฟป่าได้ง่าย เกิดควันพิษจากปัจจัยจากการเผาง่าย โดยเฉพาะการเผาไหม้ในพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือตอนบน

อย่างไรก็ตาม ฝุ่นควันภาคเหนือซึ่งปกคลุมอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ บวกกับการเผาป่า เผาซังข้าว ซังข้าวโพดจนเกิดการสะสมหมอกควันและฝุ่นพิษในอากาศสูงมาก เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนหลายมิติ จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน

เช่น ต้องบริหารจัดการการทำเกษตร ต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจว่า โครงสร้างพืชเชิงเดี่ยวนั้นไม่เหมาะสมกับหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ราบสูง เพราะไม่สามารถเอาเครื่องจักรขึ้นไปจัดการเตรียมพื้นที่หรือเก็บเกี่ยวได้ เกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการเผาและใช้สารเคมีจัดการ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาอีกหลายด้าน

ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงสุดกรณีฝุ่นควันภาคเหนือ คือ ฮอตสปอตหรือจุดความร้อนเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เผาไร่ข้าวโพดถึงร้อยละ 70 ซึ่งข้ามพรมแดนมาจากนอกประเทศ แม้จะจัดการจุดที่มีการเผาในประเทศที่เหลือได้หมด ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือก็ยังต้องเสี่ยงกับควันพิษข้ามพรมแดนอยู่ดี

นอกจากนี้มีข้อมูลระบุด้วยว่า พื้นที่เกษตรที่มีการเผานอกประเทศนั้นส่วนใหญ่เป็นนายทุนจากฝั่งประเทศไทยไปลงทุนปลูกข้าวโพด จึงต้องหาข้อมูลมาให้ได้ว่าบริษัท หรือนายทุนรายไหนในประเทศไทยที่ไปลงทุนให้ปลูกและเผา จากนั้นใช้มาตรการทางสังคมเพื่อแบนสินค้าของบริษัทดังกล่าว

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมอีกหลายด้านทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ต้องเข้าไปสนับสนุนดูแลอย่างจริงจังในทุก ๆ ด้าน เช่น การดูแลสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนหลายด้าน

ขณะเดียวกันต้องมอบบทบาทให้ชุมชนเข้าไปดูแลป่าอย่างใกล้ชิด เพราะชุมชนนั้นหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในดูแลวิถีชีวิตของทุกคนในท้องถิ่น เมื่อพวกเขามีบทบาทย่อมรู้จักการบริหารจัดการไฟ และจะไม่ยอมให้เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่อย่างแน่นอน

Copyright @2021 – All Right Reserved.