ปกป้องแหล่งผลิตออกซิเจนโลก
สิงห์อาสาจับมือ 12 สถาบันการศึกษา
ปลูกฝังเยาวชนลดขยะสู่ทะเล

by Igreen Editor

มีความจำเป็นจะต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้ต้องใช้ชีวิตในโลกอนาคตได้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทะเลและมหาสมุทรที่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ใหญ่ที่สุดของโลกราว 70% ของออกซิเจนในบรรยากาศทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่ ฉะนั้นการลดปัจจัยรบกวนธรรมชาติ อย่างเช่นการลดขยะลงสู่ทะเล จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่ทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกมากถึง 12 ล้านตัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศอื่นๆ ตามมาอีกมาก โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกราว 100,000 ตัว นกทะเลอีกราว 1 ล้านตัว ต้องถูกสังเวยชีวิตจากการกินขยะพลาสติกเข้าไป เพราะพวกมันเข้าใจผิดว่าขยะเหล่านั้นคืออาหาร รวมถึงเต่าทะเลซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารมักจะเข้าใจผิดและกินถุงพลาติกใสเข้าไปเช่นกัน ในขณะที่ขยะพลาสติกเหล่านั้นไม่ได้ย่อยสลายตามชีวิตสัตว์ที่เน่าเปื่อยลง เพราะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 450-500 ปี อีกทั้งบางส่วนยังกลายเป็นไมโครพลาสติกตกค้างในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จากงานวิจัยพบว่าในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลไม่ว่าจะเป็นวาฬ เต่าทะเลทุกสายพันธุ์จะพบเศษพลาสติกในท้องมากถึงร้อยละ 22 และในกระเพาะอาหารของนกทะเลถึงร้อยละ 44 ของสายพันธุ์นกทะเลทั้งหมด ไม่รวมถึงขยะประเภทอื่นๆ อย่างเช่น เชือก ตาข่ายจับปลาที่กลายเป็นเครื่องพันธนาการรัดร่างกายหรืออวัยวะจนสัตว์ทะเลเหล่านั้นต้องเสียชีวิต

นอกจากมลพิษจากขยะแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐ สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ รายงานในวารสาร Nature ล่าสุดว่า ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรเขตร้อนอาจต้องล้มตายลง หรือเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ภายในปี 2573 เนื่องจากไม่อาจทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นหลายองศาเซลเซียส รวมทั้งหาดทรายครึ่งหนึ่งของโลกจะจมทะเลหายไปภายในปี 2643 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า

“สิงห์อาสา” โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด หนึ่งในองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาในภาคใต้และภาคตะวันออก จัดทำโครงการ SEA SAND STRONG (ซี แซนด์ สตรอง) รณรงค์ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ครอบคลุมชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด โดยเริ่มจากบริเวณหาดสนหนาและหาดยาว อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จากนั้นจะขยายต่อไปยังภาคตะวันออก

โครงการดังกล่าวมุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล การจัดการขยะ ตลอดจนให้กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา รวมทั้งเยาวชน และคนในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมกันดูแลรักษาชายหาด เนื่องจากในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเฉลี่ยประมาณปีละ 2 ล้านตัน และติดอันดับท็อป 10 ของโลกที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด

สำหรับ 12 สถาบันการศึกษาภาคใต้ เครือข่าย “สิงห์อาสา” ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตภูเก็ต ตรัง หาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตนครศรีธรรมราช

คุณสิรณัฐ สก๊อต นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล

ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับ คุณสิรณัฐ สก๊อต นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม SEA YOU STRONG นำนักเรียนจาก 13 โรงเรียนในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันเก็บขยะบริเวณหาดสนหนาและหาดยาว เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร วัสดุบรรจุหีบห่อ และเครื่องมือประมง ฯลฯ เพื่อนำขยะเหล่านี้ไปคัดแยก และรีไซเคิลเป็นวัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหาขยะพลาสติกตกค้าง ทั้งในบ่อกำจัดขยะและในสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศได้พยายามส่งเสริมให้ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น ตลอดจนนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสอาหาร (food-contact packaging) เช่น ขวดเครื่องดื่ม (bottle-to-bottle recycling) ด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีรีไซเคิลในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมากจนสามารถดำเนินการดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย โดยมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือสหภาพยุโรป โดยไม่มีผลกระทบเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) แต่อย่างใด

#สิงห์อาสา #SeaSandStrong

อ้างอิง:

  • “ขยะพลาสติกในมหาสมุทรสีน้ำเงิน”. Greenpeace Thailand
  • “3 เหตุผล ที่เราต้องช่วยกันปกป้องมหาสมุทรโลก”. Greenpeace Thailand
  • “ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อนใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า”. BBC News
  • “สถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2562”. GNews

Copyright @2021 – All Right Reserved.