หลอดพลาสติก…ล้างโลก

by Igreen Editor

หลอด จำนวน 1.68 แสนชิ้น ถูกก่อรูปขึ้นด้วยงานศิลปะจนกลายเป็นคลื่นสูง 11 ฟุต เบนจามิน วอน หว่อง ช่างภาพผู้คิดริเริ่มโครงการอันสะดุดตานี้ เรียกมันว่า Strawpocalypse (สตรอว์โพคาลิปส์)

เป้าหมายของเขา ไม่ได้ทำมันขึ้นคือเพื่อสวยงาม หรือเพื่อความตื่นเต้นแค่นั้น แต่วัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็คือ การสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังล้นโลก

โครงการที่สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโซเชียลมีเดียนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากจากวลีหนึ่งที่ว่า “มันเป็นเพียงแค่หลอด 1 ชิ้น” โดยคน 8,000 ล้านคน!

หลอดพลาสติกชิ้นเล็กๆ ซึ่งถูกมนุษย์ทิ้งในทุกๆ วัน เป็นปัญหาระดับโลก เพราะหลอดอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูดของเหลวเข้าสู่ร่างกายนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ หลอดจึงกลายเป็นขยะถูกทิ้งเกลื่อนไปทั่วทุกมุมโลก

อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีการใช้หลอดมากกว่า 500 ล้านชิ้น/วัน (คาดการณ์เมื่อประมาณ 10  ปีมาแล้ว) เมื่อรวมประเทศอื่นๆ เข้าไปด้วย นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า มีหลอดพลาสติกนับ 8,300 ล้านชิ้นกระจัดกระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทั่วโลก

หรือคิดเป็นอัตราส่วนราว 0.03% ของขยะพลาสติกทั้งหมด 8 ล้านตันในมหาสมุทร

สตรอว์โพคาลิปส์ คือ การนำหลอดพลาสวติกในทะเลมาสร้างมูลค่า (Upcycling) แทนที่จะซื้อหลอดมา 1 แสนชิ้น โดยเบนจามินได้ร่วมมือกับกลุ่มซีโร่ เวสต์ ไซ่ง่อน (Zero Waste Saigon) สตาร์บัคส์ เวียดนาม และอาสาสมัครอีกหลายร้อยคน

พวกเขาช่วยกันรวบรวมหลอดพลาสติก 1.68 แสนชิ้นในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งอาสาสมัครต้องใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาด คัดเลือกหลอด แยกตามสี สำหรับหลอดสีเขียว ดำ และฟ้า ถูกเลือกมาเป็นส่วนของคลื่น สีขาวเป็นฟอง สีเหลืองเป็นทราย รวมทั้งหลอดสีใสจำนวนหนึ่งก็ถูกเลือกเข้ามาเพื่อสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ด้วย

อีกองค์ประกอบกลุ่มอาสาสมัครยังได้เก็บถุงพลาสติกมาใช้ประกอบชิ้นงาน เพื่อเป็นตัวช่วยกระจายแสงไฟแอลอีดี ใช้เชือกพันทำให้มีความสูงกว่า 3 เมตร หลอดถูกตบแต่งให้ออกมามีรูปร่างเหมือนฝีแปรงรูปเกลียวคลื่น ซึ่งเป็นไปตามโครงที่นักออกแบบร่างไว้ ทำให้มองดูเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของทะเล และทำให้ทะเลพลาสติกในความคิดกลายเป็นจริงขึ้นมา

สำหรับ เบนจามิน เขาเป็นช่างภาพชาวแคนาดาเชื้อสายมาเลเซีย มีชื่อเสียงด้วยงานถ่ายภาพแนวคอนเซ็ปต์หรือ Conceptual Photography ผลงานที่เขานำเสนอผ่านออนไลน์นั้นกลายเป็น “ไวรัล” หลายต่อหลายชิ้น โดยเฉพาะงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงหลังแสดงถึงความสนใจของเขาซึ่งมุ่งเน้นไปที่งานอนุรักษ์ และผลกระทบของการเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากผลงาน สตรอว์โพคาลิปส์ นี้ เบนจามินได้ทำให้สาธารณชนรับรู้ความจริงว่า หลอดเล็กๆ หนึ่งชิ้นสามารถรวมกันเป็นปัญหาใหญ่ได้อย่างไร หลังสร้างเสร็จเขาได้ถ่ายภาพลงโซเชียล มีเดีย ซึ่งก็มีการตอบรับอย่างดี ส่วนงานตัวจริงนั้นจัดแสดงอยู่ที่ เอสเตลลา เพลง ในโฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม ไปจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2562

ศิลปะที่ทำจากหลอด ซึ่งรังสรรค์ขึ้นให้ดูสวยงาม แต่มันกำลังสะท้อนภาพของปัญหาที่กำลังคุกคามโลกจากภัยพลาสติกอย่างน่าสะพรึงกลัว

Cr.Newatlas และ Von Wong anceUid

Copyright @2021 – All Right Reserved.