“ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” ไทยเบฟ เปลี่ยนขวดพลาสติกสู้ภัยหนาว 15 จังหวัด

by Igreen Editor

วันนี้ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไปพร้อม ๆ กับการปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมของเราทุกคนให้สอดคล้องวิถีความปกติใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยในการใช้ชีวิตที่จะต้องให้ความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้ส่งผลให้มีการใช้พลาสติกมากขึ้น และกลายเป็นการเพิ่มเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วงอยู่แล้วให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย

ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกนับเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมของโลกมาตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโคโรนาไวรัส  และยิ่งเติบโตขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำเป็นต้องได้รับแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการลดละเลิกการใช้พลาสติกโดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การรวบรวมพลาสติกนำกลับไปใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย และด้วยการลงมือทำของทุกคน

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษมาแล้วที่ “ไทยเบฟ” ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติมาปฏิบัติ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด ESG (Environment, Social and Governance หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)

โครงการ “ไทยเบฟ..รวมใจต้านภัยหนาว” กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ปกป้อง และรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ย่างก้าวอันสำคัญมาถึงในปี 2563 เมื่อ “ไทยเบฟ” ได้สร้างสรรค์กระบวนการผลิต “ผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly Blanket) ถักทอจากเส้นใยรีไซเคิล Recycled PET (rPET) ที่ได้จากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ลดปัญหาขยะขวดพลาสติก ซึ่งผ้าห่ม 1 ผืน มาจากขวดพลาสติก 38 ขวด แต่ยังคงเป็นผ้าห่มซึ่งเปี่ยมคุณภาพ​ นุ่มฟู อบอุ่น ทั้งยังถักทอขึ้นมาด้วยนวัตกรรมซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การผลิตผ้าห่มในช่วง 1 ปี จำนวน 2 แสนผืน ใช้ขวดพลาสติกมากถึง 7.6 ล้านขวด จึงเท่ากับเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกได้มากถึง 7.6 ล้านขวด และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาในปี 2564 รวม 2 ปีนี้สามารถผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกจากเส้นใยขวดพลาสติกถักทอได้ถึง 4 แสนผืน นำขยะจากขวดพลาสติกกลับสู่ระบบรีไซเคิลได้สำเร็จแล้วจำนวน 15.2 ล้านขวด ช่วยลดพลังงานจากการผลิตลงร้อยละ 60 และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ร้อยละ 32

กว่าจะกลายมาเป็นผ้าห่มสีเขียวรักษ์โลก ก้าวแรกเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า “การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน และเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา” ซึ่งทำให้เกิดโครงการ “เก็บกลับ-รีไซเคิล” โดยการร่วมมือร่วมใจของพนักงาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ก่อนต่อยอดขยายออกไปสู่โครงการที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วนของสังคมด้วยความตั้งใจที่จะช่วยรักษา และแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

จากการดำเนินงานด้านการเก็บกลับคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) มายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้ “ไทยเบฟ” พบปัญหาบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่สามารถรีไซเคิลได้นั้นถูกปะปนกับขยะทั่วไป จึงยากต่อการนำมารีไซเคิล หรือมีต้นทุนสูงในรวบรวม คัดแยก และการทำความสะอาด วัสดุที่รีไซเคิลได้มากมายจึงถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือถูกกำจัดโดยต้องใช้พลังงานสูง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นั่นจึงทำให้โครงการ “เก็บกลับ-รีไซเคิล” ถือกำเนิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โครงการฯ ตั้งใจสนับสนุนให้เกิดโมเดลการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนโดยชุมชนเพื่อชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักว่า ถ้ามีระบบการจัดการขยะที่เหมาะสม ชุมชนจะได้รับประโยชน์ และสิ่งที่ลงมือทำจะไม่สูญเปล่า

ทุกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่ได้รับการคัดแยกที่ดีจากชุมชนจะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้อง สร้างคุณค่าให้กับชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังว่าจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติร่วมเป็นกระบอกเสียง และกำหนดแนวทางเพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการขยะในระดับชุมชนให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สามารถติดตาม และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

โครงการนี้ได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้วัสดุมีคุณภาพ นำมารีไซเคิลได้ง่าย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุ สร้างความร่วมมือ สร้างเครือข่าย และร่วมมือให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจรมีความต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังสร้างความรับรู้ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของ “ไทยเบฟ” เพื่อสนับสนุนการเก็บกลับคืนบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคจากสิ่งแวดล้อม และส่งต่อคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม

ทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนในการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก ปรับเปลี่ยน และส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เพื่อง่ายต่อการรีไซเคิล ลดค่าใช้จ่าย และพลังงานในการจัดการ สร้างคุณค่าต่อชุมชน เกิดเป็นกลไกระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ณ สำนักงานใหญ่ของ TBR นับตั้งแต่ปี 2562 พนักงานนำส่งบรรจุภัณฑ์ได้ขยายสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ออกไป รณรงค์การคัดแยก และส่งวัสดุมาบริจาคกับโครงการ เปลี่ยนปริมาณน้ำหนักเป็นเงินสมทบเข้ากองทุน “ไทยเบฟ…เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อช่วยเหลือพนักงาน รวมทั้งสนับสนุนการเก็บกลับในกิจกรรมต่าง ๆ  ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งนำรายได้ไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนในองค์กร หรือการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม

โดยทางโครงการได้จัดเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน OK Recycle ให้สามารถติดตามกิจกรรม และปริมาณการจัดเก็บผ่านมือถือ รวมทั้งมีการสื่อสาร แสดงจุดรับวัสดุรีไซเคิล จุดคัดแยก และข้อมูลอื่น ๆ ผ่านเว็บไซต์ bringbackrecycle.com และที่สำคัญคือ โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล นำขวดพลาสติก PET หลังการบริโภคเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใย rPET (recycled PET) ผลิตเป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ให้กับโครงการ ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว”

โครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ ​22 แล้ว โดยที่ “ไทยเบฟ” ได้ส่งมอบความอบอุ่นกระจายไปทุกพื้นที่ทั่วไทยกับผ้าห่ม 4.2 ล้านผืน ซึ่งในปี 2564 ได้ส่งมอบผ้าห่มซึ่งทอมาจากเส้นใยขวดเครื่องดื่มที่นำกลับมารีไซเคิลจำนวน 2 แสนผืนให้ผู้ประสบภัยหนาวทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 228 อำเภอ 15 จังหวัด คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และ เชียงใหม่

โครงการของ “ไทยเบฟ” ยังส่งมอบความสุขความห่วงใยเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ไม่เว้นแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด

วันนี้ การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ภายใต้โครงการ เก็บกลับ-รีไซเคิล ยังคงจะดำเนินต่อไป ทั้งการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อป แก่ชุมชน และโรงเรียน เพื่อปลูกฝังการคัดแยกระดับชุมชนและครัวเรือน เป็นการสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยกิจกรรมมีการระดมความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาขยะในพื้นที่เพื่อร่วมหารือ และออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนสามารถจัดการอย่างต่อเนื่องได้เอง นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการคัดแยกและเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวด PET ทุกตราสินค้าจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20 แห่ง ในโครงการ คริสตัล ข(อ) ขวด ของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปรีไซเคิลและผลิตป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ให้กับโครงการ ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว”

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เส้นทางสร้างสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืนของ “ไทยเบฟ” ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งโครงการภายในบริษัทโดยพนักงานได้สร้างตลาดนัดรีไซเคิลขึ้นมาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในครัวเรือนและสำนักงาน เป็นการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน ผ่านกิจกรรมภายใต้แนวคิด ‘รวมพลังเปลี่ยนโลก’ โดยจะเน้นที่บรรจุภัณฑ์ PET เพื่อสื่อสารการนำไปรีไซเคิลเป็นผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก เป็นการร่วมแบ่งปัน และมีส่วนร่วมส่งต่อคุณค่าให้แก่สังคม

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งจุดรับบริจาค สนับสนุนช่องทางการเก็บกลับของกลุ่มไทยเบฟทุกภูมิภาค อีกทั้งจะมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ สร้างการจัดการให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างรายได้ ร่วมกับกิจกรรมของหน่วยงาน โรงเรียน ชุมชน รวมถึงการตั้งบูธกิจกรรมควบคู่กับการตั้งถังคัดแยก เพื่อสื่อการกระตุ้นให้เกิดความใส่ใจในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

ฤดูหนาวปีนี้เดินทางมาถึงพร้อมกับโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติการแพร่ระบาดลง ท่ามกลางการใช้ชีวิตตามนิยาม “ความปกติใหม่” ทุกคนยังมีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ลืมที่จะมอบความอบอุ่นแก่ผู้คนร่วมสังคมด้วยความห่วงใย เพราะ “มากกว่าความอบอุ่นคือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน” – “Beyond the Green Blanket … A Sustainable Community of Giving” นั่นเอง

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.