รักษ์โลกง่ายๆ ด้วยการคัดแยกขยะ
ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร

by Igreen Editor

ปี 2561 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 1.64% ตัวเลขนี้คือขยะในระบบที่สามารถคำนวณได้ แต่ยังมีขยะที่ไม่ถูกนำมานับรวมอีกมหาศาลซึ่งหลุดรอดไปโผล่อยู่ในแม่น้ำและมหาสมุทร

คอลัมน์ igreen Talk คุยกับ ชูเกียรติ โกแมน คณะทำงานโครงการสวนผักคนเมือง ในฐานะเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมการนำขยะอินทรีย์มาทำดินหรือปุ๋ยหมัก เขาอธิบายถึงทางออกในการจัดการขยะว่าจะต้องเริ่มจาการคัดแยกขยะก่อนเป็นอันดับแรก โดยที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ซับซ้อนหรือเข้าใจยาก

โดยแยกออก 3 ประเภทคือ 1.ขยะเศษอาหารที่เกิดจากการบริโภค หรือขยะอินทรีย์ 2.ขยะเลอะ เช่น ถุงแกง โฟม พลาสติกแรป ถุงห่อขนม และ 3.ขยะไม่เลอะ เช่น ขวดน้ำดื่ม กระดาษ กระป๋อง ขวดแก้วที่ไม่มีน้ำหรือเทน้ำออก

เมื่อแยกขยะแล้วก่อนจะนำไปทิ้งก็ให้ปิดป้ายหรือเขียนข้างถุงว่าเป็นขยะประเภทไหน เพื่อช่วยให้คนเก็บขยะสามารถแยกขยะได้ตั้งแต่ต้นทางเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดหรือมีความเชื่อผิดๆ ว่าบ้านเราไม่มีระบบคัดแยกขยะ การณรงค์คัดแยกขยะไม่เป็นจริง เนื่องจากเมื่อเราทิ้งขยะออกจากบ้านแล้วจะถูกนำไปเทรวมกันบนรถขนขยะและนำไปฝังกลบทั้งหมด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ความจริงก็คือ รถเก็บขยะไม่ได้วิ่งตรงไปยังบ่อฝังกลบโดยตรง แต่จะไปที่จุดคัดแยกขยะก่อน เพื่อจะคัดแยกเบื้องต้นว่าอะไรที่สามารถนำไปใช้ได้บ้าง ที่เหลือถึงจะนำไปฝังกลบ นั่นหมายความว่าเมื่อมีการคัดแยกขยะจากต้นทาง การคัดแยกขยะปลายทางจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ขยะอินทรีย์แปลงเป็นปุ๋ยหมักด้วยวิธีง่ายๆ

สำหรับขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารที่ทุกบ้านแยกได้เองสามารถนำมาทำดินหรือปุ๋ยสำหรับปลูกพืชได้ โดยวิธีการง่ายๆ คือนำเศษอาหารทุกชนิดจากเดิมที่ใส่ถุงทิ้งทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น เช่น เศษผัก ผลไม้ เศษอาหาร ทิชชู่ น้ำแกง เนื่องจากขยะเหล่านี้มีความชื้นสูงเพราะมีน้ำแกง หรือน้ำจากผักผลไม้สด ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเหม็นระหว่างกระบวนการหมัก จึงต้องหาวัสดุในการดูดซับน้ำ เช่น ดินถุง ขี้วัวแห้ง กากกาแฟ คลุกเข้ากับเศษอาหารที่เตรียมไว้ในกะละมังหรือถังที่ง่ายต่อการคลุกผสมกัน เพื่อดูดซับความชื้นจนมีความแห้ง

ขั้นตอนต่อมาเตรียมถังที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมสำหรับการหมัก และต่อท่อสำหรับดึงอากาศจากภายนอกเข้ามาภายในถัง เพราะในขั้นตอนการหมักจะต้องปิดฝาไม่ให้แมลงหรือสัตว์มาคุ้ยเขี่ยเศษอาหาร โดยมีการติดตั้งตั้งท่อวางราบไปกับก้นถังทั้ง 4 ด้านและเจาะรูประมาณ 9 รู เพื่อให้ออกซิเจนจากภายนอกกระจายตัวในขั้นตอนการหมัก แต่กรณีไม่มีท่อดึงอากาศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ระยะเวลาในการหมักจะนานกว่า

วิธีการหมักเศษอาหารด้วยถังหมักสี่เหลี่ยมและมีท่ออากาศสามารถทำได้ทุกวันขึ้นอยู่กับปริมาณเศษอาหารของแต่ละครัวเรือน บ้านไหนมีเศษอาหารมากก็จะเต็มถังเร็ว มีเศษอาหารน้อยก็ให้ทำแบบเดิมและเติมลงไปเรื่อยๆ จนเต็ม จากนั้นให้พลิกเศษอาหารเหมือนการพรวนดินที่อยู่ในถัง 7 วันครั้ง เพื่อช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยเศษอาหารได้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ หากต้องการเร่งการย่อยสลายให้เติมน้ำตาลทรายลงไปผสมด้วย แต่จะไม่เติมก็ได้ และปล่อยทั้งไว้ประมาณ 14 วันก็จะกลายเป็นดินหรือปุ๋ย ส่วนถังหมักที่ไม่มีท่อกระจายออกซิเจนให้คลุก 3 วันครั้ง และอาจต้องปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน

ชูเกียรติ กล่าวว่า ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์และสามารถนำไปปลูกพืชได้จะต้องแห้ง ไม่มีเศษอาหารหลงเหลือ ยกเว้นเศษอาหารชิ้นใหญ่ เช่น ประเภทกระดูกและต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ถ้าทำแล้วมีกลิ่นเหม็นนั่นหมายความว่าในกระบวนการคลุกเศษอาหารยังไม่แห้งหรือใส่ดินหรือปุ๋ยคอกน้อยเกินไปซึ่งการนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก เศษอาหาร 10 กิโลกรัม จะใช้ดินสำหรับคลุกดูดซับความชื้น 2 ถุง เพราะถ้าความชื้นสูงจะย่อยสลายได้ช้า หากระบวนการหมักไม่สมบูรณ์ดินที่ได้จะเป็นพิษกับต้นไม้

“วิธีการนี้แตกต่างจากการทำปุ๋ยหมักที่ใช้ถังทรงสูงเจาะก้นและทิ้งขยะอินทรีย์ทับลงไปเรื่อยๆ เพราะจะใช้เวลานานและมีกลิ่นเหม็น เนื่องจากต้องปิดฝา ทำให้ไม่มีอากาศภายใน การพลิกเศษอาหารทำได้ยาก เพราะถังมีลักษณะทรงกลม และไม่เหมาะกับบ้านเล็กๆ เพราะต้องใช้วิธีฝังดิน ถ้าน้ำท่วมจะจัดการลำบาก และอาจจะเป็นแหล่งรวมของสัตว์ต่างๆ ถ้าบ้านที่มีพื้นที่กว้างอาจจะทำได้

“ดังนั้นกล่องเหลี่ยมจะเหมาะสำหรับการกระจายตัวของอากาศที่ทำให้การย่อยมีความสมบูรณ์ สามารถทำในพื้นที่จำกัด บ้านขนาดไม่ใหญ่หรือคอนโดก็ทำได้ ตลอดขั้นตอนการทำจะไม่มีกลิ่นเหม็น ระหว่างการหมักสามารถวางไว้ในจุดที่ร่มหรือไม่โดนแดดมาก”

ชูเกียรติ ไม่แนะนำให้ใช้ใบไม้แห้งล้วนคลุกกับเศษอาหาร เพราะดูซับความชื้นได้ต่ำ จะทำให้แฉะและเกิดหนอน หลักการที่ถูกคือให้มีความชื้นต่ำ เพื่อไม่ให้มีกลิ่น ไม่ต้องใช้หัวเชื้ออินทรีย์หรืออีเอ็มลงไป เฉพาะปุ๋ยคอกที่ผสมลงไปเป็นจุลินทรีย์ตัวหลักในการย่อย ซึ่งบ้านเราอยู่ในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับการทำปุ๋ยหมัก แต่สามารถใช้ดินใบไม้ หรือใบไม้แห้งในบริเวณบ้านที่ย่อยมาแล้วลงไปได้

“ถ้าไม่แยกน้ำออก เช่น น้ำแกงทำให้เราต้องใช้ปริมาณดินคลุกมากตามไปด้วย และมีความชื้นสูง และปริมาตรก็จะเพิ่ม ตัวผมไม่แยกน้ำออกเพราะท่อดักไขมันไม่รองรับ ความจริงน้ำจากการล้างจานวันละ 10 ลิตร ถังดักไขมันจะต้องมีขนาด 80 ลิตร แต่ระบบบ้านเราไม่ได้ออกแบบให้รองรับ ฉะนั้นหากไม่ต้องการนำน้ำแกงมาผสมก็ให้แยกออกและนำไปเททิ้งลงชักโครก

ถ้าทำไม่ได้ต้องออกแบบการกิน มันไม่ใช่แค่พกถุงผ้า พกขวดน้ำ แต่ต้องออกแบบกตั้งแต่การกินนั่นคือกินไม่ให้เหลือน้ำแกงทิ้ง หรือต้องไม่กินทิ้งกินขว้างกินเหลือ ถ้ากินเหลือจะต้องปรับลดตั้งแต่การซื้ออาหารมาปรุงหรือซื้อมารับประทานให้พอดีต่อมื้อ”

เต็มกล่อง (ตามภาพ) ใช้เวลาทั้งสิ้น 14 วัน จะได้ปุ๋ยหมักสำหรับใช้เพาะปลูกได้ โดยจะต้องไม่มีกลิ่น ถ้ามีกลิ่นแสดงว่ากระบวนการย่อยยังไม่จบ ถ้าจัดการได้ขยะอินทรีย์จะหายไป 100% และช่วยช่วยขยะในระบบใหญ่จัดการได้ง่ายขึ้นด้วย”

One Can One Car ความเชื่อที่ผิด

“ผมโดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการรีไซเคิลเท่าไหร่ เพราะเทคโนโลยีบ้านเราไม่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ขยะบ้านเราเรา เช่น พลาสติกไม่สะอาด จึงไม่สะอาด ไม่สามารถทำเส้นใยได้  ขวดหรือพลาสติกไม่ได้นำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด พลาสติกแต่ละชนิดที่จะรีไซเคิลจะใช้พลาสติกใหม่ผสมเข้าไป เพราะจะไม่สามารถขึ้นรูปได้ หรือโครงการวนที่นำขยะพลาสติกไปรีไซเคิล ถุงพลาสติก 1 ใบน้ำหนักถึง 5 กรัมหรือ ซึ่งมันไม่สามารถหลอมเข้าด้วยกันได้ ไม่สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลได้ 100% เพราะค่าความหนืดต่างกัน จะเข้าเครื่องฉีดไม่ได้ ยังงัยต้องใส่พลาสติกใหม่เข้าไป ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ผมรู้เพราะบ้านผมทำพลาสติก

“กล่องมีหลายแบบการทำก็มีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักในการจัดการขยะ ซึ่งคนไม่แยกเพราะมีความเชื่อว่า One can One car คือขยะทุกอย่างจะไปในคันเดียวกัน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ความจริงถึงจะไปคันเดียวมันก็แยกได้ เมื่อเชื่อแบบผิดๆ ทำให้ไม่มีการแยกขยะ ทั้งที่การแยกขยะมีต้นทุนการจัดการที่ต่ำที่สุด แค่เข้าใจและแยกมัน และมีคนรับงานไปทำต่อ ดังนั้นจะต้องให้ความรู้ และสร้างความตระหนักเพราะการแยกขยะมีส่วนสำคัญต่อการจัดการในระบบใหญ่มากๆ ที่จะช่วยลดขยะได้”

ขยะสะอาดมีมูลค่าราคาตันละ 400 บาท

สำหรับขยะเลอะ คนทั่วไปเข้าใจว่าจะถูกนำไปฝังกลบอย่างเดียว ความจริงถ้าทำให้ไม่เลอะสามารถขายเป็นขยะ RDF หรือขยะมูลฝอยชุมชนที่นําไปผ่านกระบวนการความร้อนและใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ปัจจุบันขยะประเภทนี้ที่ความชื้นต่ำกว่า 30% ราคาตันละ 400 บาท ซึ่งสามารถสร้างพลังงานความร้อนได้ แต่ถ้าไม่คัดแยกขยะจะทำแบบนี้ไม่ได้

“การไม่คัดแยกขยะ ระบบการจัดการจึงสะเปะสะปะ ฉะนั้นถ้าไม่ต้องการจ่ายค่าเก็บขยะ ก็ต้องคัดแยกขยะเอง เมื่อก่อนเอาถุงพลาสติกมาใส่ขยะทิ้ง หรือซื้อถุงดำมาใส่ขยะซึ่งก็เพิ่มขยะพลาสติกอยู่ดี  ฉะนั้นการใช้ซ้ำจะช่วยได้ทางหนึ่ง การรับถุงพลาสติกควรนำมาใช้ซ้ำ หรือรับหลอดมาทำหมอน การใช้ซ้ำถือว่ายังดี ถ้าตัดวงจรพลาสติกแล้วไปซื้อถุงมาใส่ขยะก็เท่าเพิ่มขยะพลาสติก

“ปี 2560 ค่าจัดการขยะของ กทม.อยู่ที่ 32 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นงบการจัดเก็บ และฝังกลบ ไม่รวมงบการปรับปรุงระบบ ซึ่งถ้ามีการคัดแยกขยะเท่ากับเป็นการรักษ์โลกโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนขยะไม่เลอะที่จะนำไปรีไซเคิล ทุกบ้านไม่ได้ต้องการขายขยะรีไซเคิล เพราะไม่ได้มีปริมาณมากที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น การคัดแยกขยะจะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการขยะทันทีภายใน 6 เดือน ภายใน 1 ปี และไปลดขยะอื่นๆ ฉะนั้นโลกนี้จะต้องปฏิเสธขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ว่าย่อยได้หรือย่อยไม่ได้ โดยเฉพาะขยะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2560-2561 เริ่มมีการพูดถึงบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ แต่ขยะกลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี เท่ากับเราผลิตขยะจนไม่มีที่จะรองรับขยะแล้ว จึงต้องลดการสร้างขยะ ทั้งประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง และไม่ใช่เฉพาะขยะพลาสติก เพราะการมีบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการลดขยะ แต่เป็นการผลิตของมาเป็นขยะ

“เช่น หลอดย่อยสลายได้ แค่เปลี่ยนมาเป็นหลอดกระดาษ ใช้ซ้ำก็ไม่ได้ กระบวนการผลิตกระดาษต้องใช้น้ำ กระดาษ 1 ตัน เกิดน้ำเสีย 3 ตัน น้ำเสียก็เป็นขยะ ให้เข้าใจว่าเมื่อเราแยกขยะ แม้จะไปในคันเดียวกัน เพราะไม่สามารถคัดแยกในเมืองได้เนื่องจากปัญหาจราจร แต่เขาก็นำไปยังจุดคัดแยก แต่ถ้าแยกให้เขาๆ ก็แยกง่ายมากขึ้นระหว่างขยะนำไปฝังกลบกับขยะที่นำไปขายได้

“ผมไปเห็นที่ทุ่งสง และปัตตานี เขามีโรงงาน RDF ของตัวเอง แต่ได้ประสิทธิภาพไม่มากพอ เพราะคนไม่แยกขยะ และขยะมีความชื้นสูง เขาต้องรอให้ความชื้นต่ำกว่า 30% ซึ่งการที่ขยะอยู่ที่โรงงานนานต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น เพราะขยะควรจะเข้าเร็วออกเร็ว

“ปัญหาการจัดการขยะ เราแยกไม่ออกระหว่างขยะในระบบและขยะนอกระบบ ในระบบคือขยะที่ถูกจัดเก็บ เช่น เรามีขยะ 27 ล้านตันต่อปี แต่นอกระบบมีเท่าไหร่…ไม่รู้ การมีตัวเลขเมื่อจัดเก็บก็ถูกจัดการ แม้จะถูกจัดการด้วยระบบง่อยๆ แต่ขยะนอกระบบคือขยะที่เป็นเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเพราะมันไม่ถูกจัดการ จึงลอยไปอยู่ในคลอง ท่อระบายน้ำ และทะเล ซึ่งคาดการณ์ได้คร่าวๆ แต่ประเมินไม่ได้ ซึ่งการจัดการที่ไม่ดีจะทำให้ขยะในระบบออกมาอยู่นอกระบบด้วย

“สิ่งที่เราต้องทำคือทำอย่างไรให้ขยะนอกระบบเข้าไปอยู่ในระบบ และเริ่มลงทุนกับเทคโนโลยีที่สูงกว่าการเทกองอย่างที่เป็นอยู่ แต่ต้องลงทุนระบบ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับวัสดุ การพัฒนาระบบจะไปติดที่กฎหมาย เพราะเป็นตัวควบคุม เช่น มีเทคโนโลยีเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันได้ แต่ค่าลงทุนเทคโนโลยีประมาณ 35 ล้านบาท ปริมาณพลาสติก 1 ตันต่อวัน จะได้น้ำมัน 1,000 ลิตร แต่รัฐต้องเริ่มออกแบบระบบคัดแยกขยะที่ดี ที่ไม่มีเศษอาหารมาผสม

“แต่ระบบนี้ไม่เกิดเพราะไม่มีขยะออก เนื่องจากทุกเทศบาลจะจัดการขยะเอง ไม่ยอมให้ขยะออกไปเป็นของคนอื่น เช่น ตั้งโรงงานในเขตการนิคมอุตสาหกรรม และอยู่ในเขตเทศบาล จะทิ้งขยะที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่ทิ้งของเทศบาลก็จะถูกหาเรื่องตลอดเวลา ทไม่ยอม เพราะขยะคือลประโยชน์ ตั้งแต่การจัดเก็บ การสัมปทานระบบ การมีบ่อขยะ ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทา และสุดท้ายจะไปติดเพดานกฎหมาย เพราะคนที่ถือกฎหมายคือผู้เล่น เหมือนระบบการเมือง ที่ผู้ถือกติกาลงมาเล่นด้วย”

“ถ้ารัฐบอกว่าจะลงทุนโรงพลังงานไฟฟ้าจัดการขยะ ที่ไม่มีเศษอาหาร ไม่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเทคโนโลยีทำได้ รัฐจะต้องจริงใจ เพราะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปแล้ว หลายแห่งจัดการได้ดีและท้องถิ่นงบมี 34 ล้านทำถนนได้แค่ 3-4 กิโลเมตร ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็ออกกฎหมายมายกเว้นภาษีเทคโนโลยีสะอาด ค่าลงทุนก็จะเหลือแค่หลัก 10 ล้านบาท จากนั้นก็ไปออกกฎในการจัดการขยะ หรือกรณีเทคโนโลยีการทาสีที่สามารถจัดการฝุ่นได้ แต่เมืองไทยไม่สามารถซื้อขายเทคโนโลยีนี้ได้ เพราะติดเรื่องกฎหมาย”

Copyright @2021 – All Right Reserved.