ฮ่องกงปิดตลาดค้างาช้างสิ้นปี 64
‘นักเตะเคนยา’ ทูตสัตว์ป่าคนใหม่
ร่วมรณรงค์ยุติการค้าสัตว์ป่า

by Igreen Editor

วิกเตอร์ วานยามา (Victor Wanyama) ได้ร่วมลงนามเป็นทูตสัตว์ป่าคนใหม่กับไวล์ดเอด (WildAid*) โดยเขาร่วมกับดาราชาวเคนยา Lupita Nyong’o และ Eliud Kipchoge เพื่อกระตุ้นให้ชาวเคนยา รวมทั้งชาวแอฟริกัน และทั่วโลกปกป้องสัตว์ป่าและยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยวิกเตอร์เชื่อว่าสัตว์ป่ามีค่ามากกว่าเมื่อมีชีวิตอยู่จึงได้เข้าร่วมกับไวล์ดเอด

Victor Wanyama

เขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพกับ CF Montreal และอดีตกัปตันทีมชาติเคนยา เขาเป็นชาวเคนยาคนแรกที่ยิงประตูในแชมเปี้ยนส์ลีกและเคยเล่นให้กับท็อตแนมฮ็อทสเปอร์และเซาแธมป์ตันในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

Living Planet ประจำปี 2563 ของกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF เปิดเผยว่า ประชากรสัตว์ป่าโดยเฉลี่ยลดลงสองในสามตั้งแต่ปี 2513 โดยการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ รวมถึงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องของระบบนิเวศทางทะเลและบนบก และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าอย่างไม่ยั่งยืน การยุติการค้าสัตว์ป่าจึงเป็นการปกป้องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับตลาดค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยเฉพาะงาช้างอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งสภานิติบัญญัติฮ่องกงได้ผ่านกฎหมายยุติการค้างาช้าไปเมื่อต้นปี 2561 และมีผลห้ามมีการซื้อขายหรือนำเข้าอีกตั้งแต่สิ้นปี 2564 เป็นต้นไป

นอกจากการค้างาช้างในฮ่องกงเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว การลักลอบนำเข้างาช้างยังมีบทลงโทษที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยผู้ลักลอบนำเข้างาช้างจะมีโทษปรับเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 40 ล้านบาท มากกว่าเดิมถึงหนึ่งเท่าตัว หรืออาจถูกจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี จากเดิมที่มีโทษจำคุกสูงสุดเพียง 2 ปี

อย่างไรก็ตาม การปิดตลาดค้างาช้างที่ถูกกฎหมายในฮ่องกงจะช่วยต่อชีวิตช้างในแอฟริกาที่ถูกล่าเพื่อฆ่าเอางาในแต่ละปีกว่า 3 หมื่นตัว นอกจากนั้นแล้ว WWF ระบุว่า ฮ่องกงยังได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นการรวมความผิดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมร้ายแรงด้วย

การผ่านกฎหมายฉบับนี้ช่วยให้รัฐบาลฮ่องกงสามารถเพิ่มอำนาจการสืบสวนและบังคับใช้เข้มข้นมากขึ้น เช่น การตรวจสอบกระแสการเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ผิดกฎหมายของบุคคลและบริษัท และริบเงินที่ได้จากการก่ออาชญากรรม รวมถึงประโยชน์ต่อการรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี

ที่ผ่านมาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในฮ่องกงยังคงสูง เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอในการดำเนินคดี อย่างเช่น การยึดตัวลิ่นของฮ่องกงเป็นประวัติการณ์ จำนวน 8.3 ตัน และงาช้าง 2.1 ตันในปี 2562 ยังคงไม่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากขาดหลักฐาน

ภายในสามปีระหว่างปี 2561 ถึง 2563 หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถยึดสัตว์ป่ากว่า 929 ตัน มีมูลค่ากว่า 358 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งปริมาณการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นนั้นนำไปสู่วิกฤตการสูญพันธุ์ทั่วโลก

สำหรับประเทศจีนเป็นแหล่งค้างาช้างอันดับรองจากฮ่องกงก็ได้ประกาศปิดตลาดงาช้างไปแล้วเช่นกันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยจีนได้ร่วมกับไวล์ดเอดเปิดตัวโฆษณารณรงค์ชิ้นใหม่ที่มี เหยา หมิง อดีตนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอชาวจีน รณรงค์ให้ชาวจีนต่อต้านการซื้อขายงาช้างผิดกฎหมาย

รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ประชาชนเข้าใจว่าแม้งาช้างมีราคาสูงแต่มาจากการฆ่าช้างเพื่อเอางาในทวีปแอฟริกามากถึง 30,000 ตัวต่อปี โดยปลายปี 2559 หลังจีนประกาศเดินหน้ายุติการค้างาช้าง ส่งผลให้ราคาซื้อขายและการฆ่าช้างเอางามีแนวโน้มลดลง การตรวจยึดงาช้างนำเข้าผิดกฎหมายลดลงถึงร้อยละ 80 และราคาขายงาช้างดิบลดลงร้อยละ 65

ภาพรวมปี 2560 ราคาผลิตภัณฑ์งาช้างทั่วจีนลดลงร้อยละ 65 จากราคาที่ขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 2557 โดยร้านค้าหลายแห่งติดประกาศลดราคาผลิตภัณฑ์งาช้างที่มีอยู่ในคลังมากถึงร้อยละ 50 จากราคาที่ลดอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ค้ารายย่อยต้องการระบายผลิตภัณฑ์ก่อนการปิดตลาดค้างาช้างจะมีผลบังคับใช้

ผลจากความเข้มงวดของรัฐบาลจีนส่งผลให้โรงงานแกะสลักงาช้างและร้านค้างาช้าง 172 แห่ง ต้องปิดตัวลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ขณะที่ความพยายามบังคับใช้กฎหมายในหลายพื้นที่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียกำลังได้ผลมากขึ้น ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการลดจำนวนช้างที่ถูกฆ่าเพื่อเอางา

อีกประเทศคือ ไต้หวันได้ประกาศปิดตลาดค้างาช้างภายในเขตปกครองในปี 2563 ตามหลังจีน และฮ่องกง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการปิดตลาดงาช้างในระดับโลก เพราะจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นดินแดนที่มีค่านิยมในการสะสมเครื่องประดับ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากงาช้างมาตั้งแต่โบราณ และเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการงาช้างสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำหรับประเทศไทยหลังจากพระราชบัญญัติงาช้าง 2558 มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ร้านค้างาช้างร้อยละ 42 หรือประมาณ 91 ร้าน ยื่นขอยกเลิกการค้างาช้างด้วยความสมัครใจจนถึงกลางปี 2560 และการซื้อขายงาช้างถูกกฎหมายที่ขึ้นทะเบียนแล้วลดลงร้อยละ 58 เมื่อเปรียบเทียบกับกลางปี 2559 ส่วนผู้ค้างาช้างที่มีใบอนุญาตในกรุงเทพมหานคร พบว่า ไม่มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างเพิ่มเติมจากผู้ครอบครองงาช้างรายอื่นเลย

เช่นเดียวกับเวียดนามที่ได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าและงาช้างให้เข้มงวดขึ้น ทั้งการเพิ่มอัตราค่าปรับและบทลงโทษ รวมถึงเพิ่มโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีสำหรับการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์งาช้าง น้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัมขึ้นไป โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 สามารถยึดงาช้างนำเข้าผิดกฎหมายมีน้ำหนักรวมมากถึง 12 ตัน

WWF เคยร่วมกับ GlobeScan บริษัทวิจัยระดับโลก จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวจีนในประเด็นการซื้อขายงาช้าง โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 คน ใน 15 เมือง ซึ่งสำรวจต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่จีนประกาศปิดตลาดงาช้าง พบว่าโดยรวมความต้องการซื้องาช้างของคนจีนในประเทศลดลงเรื่อย ๆ แม้จะยังมีบางกลุ่มที่ต้องการซื้องาช้างอยู่

ด้าน เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระบุว่า ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดซื้องาช้างยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นประจำและมีการซื้องาช้างระหว่างการเดินทาง แม้ในปี 2563 จะเกิดโควิด แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การซื้อขายงาช้างโดยนักท่องเที่ยวยุติลง

สำหรับประเทศไทยได้ถูกถอดออกจากแผนปฏิบัติการงาช้างหรือ NIAP หรือพ้นจากบัญชีดำการลักลอบค้างาช้างตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) เมื่อปี 2561 หลังจากก่อนหน้านี้ไทยเป็น 1 ใน 8 ชาติ คือ ฟิลลิปินส์ จีน เคนยา แทนซาเนีย อูกันดา เคยถูกขึ้นบัญชีประเทศที่มีปัญหาลักลอบ และเป็นเส้นทางค้างาช้างแอฟริกาผิดกฎหมาย โดยในปี 2560 ไทยถูกปรับสถานะดีขึ้นจาก Primary Concern มาเป็น Secondary Concern

จากข้อมูลกรมศุลกากรปี 2560 มีรายงานสถิติการจับกุมตรวจยึดงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้างกว่า 16,730 ชิ้น น้ำหนักรวม 75 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7.5 ล้านบาท ทั้งนี้การค้างาช้างผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เช่นเดียวกับการค้ายาเสพติด นักท่องเที่ยวหรือคนส่วนใหญ่คิดว่า ไทยถือเป็นประเทศที่ยังมีตลาดการค้างาช้างถูกกฎหมาย ทั้งที่ไม่สามารถทำได้

นั่นเพราะจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือส่งออกซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

WildAid* เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับนานาชาติที่เชี่ยวชาญด้านการรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อปกป้องสัตว์ป่า อาทิ ช้าง แรด สิงโต และลิ่น ที่ถูกคุกคามจากการค้าที่ผิดกฎหมายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ทั่วโลก

อ้างอิง:
• (Jan 10, 2022) “Kenyan footballer Victor Wanyama joins WildAid to speak out against illegal wildlife trafficking” . Wildaid
• (Dec 29, 2021) “Legal ivory sales are coming to a close in Hong Kong but we need to keep the door shut” . Wildaid
• (May 31, 2021) “WWF เปิดเผยผลสำรวจความต้องการซื้องาช้างประจำปี 2563” . WWF
• (1 ก.พ. 2561) “ฮ่องกงผ่านกฎหมายห้ามซื้อขายงาช้าง ตั้งเป้ายุติสมบูรณ์ปี 2021” ประชาชาติ
• https://www.facebook.com/wwfthailand/posts/1812629875455035
• https://news.thaipbs.or.th/content/274944

Copyright @2021 – All Right Reserved.