ทำไม ‘ธุรกิจ’ ต้องเป็นกลางทางคาร์บอน

by IGreen Editor

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่อันดับที่ 21 ของโลก โดยในปี 2019 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเท่ากับ 368 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2025 เพื่อเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศไว้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จึงได้เร่งแปลงเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Nationally Determined Contribution; NDC) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 จากระดับปกติภายในปี 2030 (1)

ดังนั้นจากข้อตกลงและฉันทานุมัติจากเวทีการประชุมระดับโลก ทุกประเทศจะต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทุกภาคส่วนจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายไปสู่เส้นทางนี้ โดยเฉพาะภาคภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไม่สามารถทำธุรกิจในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น หากไม่ปรับตัว นอกจากจะไม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ยังจะถูกคู่ค้าปฏิเสธการซื้อสินค้า หรือผู้บริโภคเลิกใช้บริการ

กิจกรรมขององค์กรหรือบริษัททั้งหลายจึงต้องลงมือลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือรอยเท้าคาร์บอน และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยเร็ว เริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายให้องค์กรเดินหน้าสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ หรือร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กรหรือทุกบริษัทสามารถใช้เครื่องมือวัดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ตามนโยบายของแต่ละองค์กร แต่ก็ต้องได้รับการรับรอง ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานรัฐที่จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร และจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับองค์กร โรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ

โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดย อบก. แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งหลังจากองค์กรหรือหน่วยงานยื่นเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดย อบก. แล้ว คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจะออกใบประกาศนียบัตรรับรองฉลากคาร์บอนให้องค์กรนั้น ๆ

 

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (2)

ในส่วนของประเทศไทย อบก. ได้พัฒนาฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ขึ้น 4 รูปแบบ คือ 1) ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) 2) ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Reduction : CFR) หรือ ฉลากลดโลกร้อน 3) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product : CE-CFP ) และ 4) ฉลากคูลโหมด หรือ CoolMode

  1. ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) คือเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นผลิตคคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นจำนวนเท่าไร เพื่อช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  2. ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน (CFR) คือ ฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันกับปีฐาน (Year Base) (3)
  3. ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product :CE-CFP ) เป็นฉลากที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการผลิตตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 2) ประเภทผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการปรับสภาพ (recondition) การปรับปรุงใหม่ (refurbish) การผลิตซ้ำใหม่ (remanufacturing) การหมุนเวียนให้คุณค่าเพิ่ม (upcycle) หรือการยกระดับ (upgrade) (4)
  4. ฉลากคูลโหมด (CoolMode) เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี สามารถสวมใส่ในอาคารหรือห้องที่มีอุณภูมิเครื่องปรับอากาศ 25 องศาเซลเซียสได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด ฉลากคูลโหมดเกิดจากความร่วมมือระหว่าง อบก. กับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด (5)

ปัจจุบันในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งยังมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย ดังนั้นการได้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่เพียงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกด้วย

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะมี 2 รูปแบบ คือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น SCOPE ดังนี้

SCOPE I : การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น

SCOPE II : การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น

SCOPE III : การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

ประโยชน์การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร

ภาคธุรกิจ : สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและหาแนวทางเพื่อลดขนาดของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง และอาจนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่น ๆ

ภาครัฐ : ใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ (6)

ขั้นตอนการขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอนจาก อบก. (7)

  1. การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (ด้วยตนเองหรือใช้ที่ปรึกษา)
  2. ทวนสอบข้อมูล (กรณี CoolMode หรือคูลโหมด เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี ให้ส่งผ้าทำการทดสอบกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นผู้ตรวจสอบ)
    2.1 กระบวนการทวนสอบ
    – ตรวจเอกสาร 1 วัน
    – ตรวจสถานประกอบการ 1 วัน
    – ตรวจสอบและแก้ไข 1 วัน
    2.2 ผู้ทวนสอบส่งผลการทวนสอบไปยัง อบก.
  1. ยื่นสมัครขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองออนไลน์และชำระค่าธรรมเนียมให้ อบก. 8,500 บาท+VAT (กรณีคูลโหมด 3,500)
  2. อบก. ตรวจสอบเอกสาร/ผลการคำนวณ
  3. คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมฉลากคาร์บอน (กลั่นกรอง), คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อนุมัติ)
  4. แจ้งผู้ประกอบการว่า ผ่าน หรือไม่ผ่าน
  5. ประกาศผลและออกประกาศนียบัตร

ตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จ
บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท NRF ได้ริเริ่มโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตั้งแต่ปี 2562 และปัจจุบันเป็นโรงงานผลิตอาหารเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับประกาศนียบัตรจาก อบก. และยังเป็นโรงงานผลิตอาหาร Carbon Neutral ที่ได้รับการรับรองเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและยังได้รับรางวัลองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) 3 รางวัลอีกด้วย (8)

บริษัท NRF วางเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 และยังกำหนดเป้าหมายเป็น The 1st Carbon Negative Company บริษัทยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 22 โดยได้ดำเนินโครงการดักจับคาร์บอน (Decarbonization) จากการเผาชีวมวลภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษอากาศลงได้มาก เมื่อเทียบกับการเผาในที่โล่งแจ้ง

การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ยังได้ผลิตภัณฑ์ไบโอชา (Biochar) ที่สามารถนำไปฝังดินเพื่อช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดีขึ้น เหมาะแก่การทำการเกษตรในฤดูกาลต่อไป ซึ่งสามารถทำให้บริษัท NRF เป็น Carbon Negative ได้ตามเป้าหมาย (9)

NRF ริเริ่มโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2565 และจะขยายไปทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ที่สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เพื่อให้บริษัทไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี 2030 ซึ่ง NRF กำหนดกลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

  • กลยุทธ์แรก “Dietary Solution” โดยใช้ Plant based food
  • กลยุทธ์สอง คือ “Nature-based Solution” ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โลกร้อนอย่างเช่นการปลูกป่า
  • กลยุทธ์ที่สาม “Industrialized Solution” การใช้ Carbon capture โดยร่วมทุนกับ อินโนบิก (Innobic) บริษัทลูกจาก ปตท. และมีโรงงาน Plant based ในประเทศอังกฤษและประเทศไทย รวมถึง Sustainable Retail ร้านอาหารและช้อปขายสินค้า Plant based สุดท้าย คือ ช่องทางจำหน่ายในการซัพพอร์ตอุตสาหกรรม Plant based food ให้ยั่งยืน (10,11)

ดังนั้นท่ามกลางวิกฤตโลกร้อน ภาคธุรกิจจะไม่สามารถทำธุรกิจในรูปแบบเดิมต่อไปได้ หากไม่ปรับตัวธุรกิจจะตกขบวน และไม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น หากไม่ปรับตัวนอกจากจะตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน ยังจะถูกคู่ค้าปฏิเสธหรือแม้แต่ผู้บริโภคจะไม่เลือกใช้บริการ

อ้างอิง

    • ลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions (2023). Retrieved Apr 20, 2024, from https://www.onep.go.th/ลดโลกร้อนด้วย-carbon-neutrality-และ-net-zero-emissions/

    • คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์. Retrieved Apr 22, 2024, from https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y0hKdlpIVmpkSE5mYVhNPQ

    • ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน. Retrieved Apr 22, 2024, from https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y21Wa2RXTjBhVzl1WDJseg

    • เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product :CE-CFP) (2023). Retrieved Apr 22, 2024, from https://www.textilescircle.com/th/knowledge/value=54

    • ฉลาก CoolMode. Retrieved Apr 22, 2024, from https://www.thaitextile.org/th/innovation/detail.8.1.0.html

    • คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร. Retrieved Apr 22, 2024, from https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YjNKbllXNXBlbUYwYVc5dVgyRndjSEp2ZG1Gcw&action=WkdWMFlXbHM&param=TVRZMk56QT0

    • ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและการต่อสัญญา. Retrieved Apr 22, 2024, from https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y0hKdlpIVmpkSE5qWlY5d2NtOWpaWE56

    • NRF อุตสาหกรรมผลิตอาหาร ที่ใส่ใจด้านความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 (2022). Retrieved Apr 20, 2024, from https://globalcompact-th.com/NRF-Net-Zero

    • NRF คว้า 3 รางวัล “CALO” ตอกย้ำผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (2023). Retrieved Apr 20, 2024, from https://www.kaohoon.com/pr/632079

    • NRF เดินหน้าสู่ Carbon Negative ด้วยโครงการ Decarbonization ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (2023). Retrieved Apr 20, 2024, from https://thaipublica.org/2023/11/we-shift-world-change-nrf-decarbonization/

    • “NRF” ชู 3 กลยุทธ์ สู่ “อุตสาหกรรมอาหาร” ยั่งยืน (2022). Retrieved Apr 20, 2024, from https://www.bangkokbiznews.com/environment/1040779

Copyright @2021 – All Right Reserved.