ชายหาดหาย กำแพงกันคลื่นพัง เกาผิดที่คัน หรือโลกร้อนรุนแรงกว่าเดิม

by IGreen Editor

ภาพกำเเพงกันคลื่นตามแนวชายฝั่งของประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนเป็นที่ประจักษ์ถึงปรากฎการณ์แพร่ระบาดของกำเเพงกันคลื่นอย่างรุนเเรง จนกลายเป็นที่มาของคำถามว่า การใช้โครงสร้างดังกล่าวสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วปัญหานี้สามารถหาแนวทางอื่นรับมือสถานการณ์พังทลายของชายหาดที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีกว่า โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “กำเเพงกันคลื่น”

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) นิยาม ‘กำแพงกันคลื่น’ ว่าเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมรูปเเบบหนึ่งที่สร้างขึ้นขนานกับชายฝั่ง หน้าที่หลักคือยึดหรือป้องกันการลื่นไถลของดิน และป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง ส่วนหน้าที่รองคือใช้ในการป้องกันน้ำท่วมชายฝั่ง

ประเภทกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย

โครงสร้างของกำแพงกันคลื่นมีหลายรูปแบบทั้งแนวตั้งและแนวลาด สร้างขึ้นจากวัสดุหลากหลายประเภทตามแต่พื้นที่และวัตถุประสงค์การใช้งาน สำหรับประเทศไทยนั้นมีกำแพงกันคลื่นหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น กำเเพงกันคลื่นเเบบขั้นบันได พบได้ที่หาดชะอำใต้ จังหวัดเพรชบุรี หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดปากน้ำเเขมหนู จังหวัดระยอง และเกาะสุกร จังหวัดตรัง กำเเพงกันคลื่นเเบบหินเรียงใหญ่ พบได้ที่หาดบ่ออิฐ-เกาะเเต้ว จังหวัดสงขลา หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช และหาดสำเร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำเเพงกันคลื่นเเบบลาดเอียง พบได้ที่หาดเเก้ว จังหวัดสงขลา และหาดเเม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กำเเพงกันคลื่นเเบบหินทิ้ง พบได้ที่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา กำเเพงกันคลื่นเเบบกระสอบทราย หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา กำเเพงกันคลื่นเเบบตุ๊กตาญี่ปุ่น (Tetrapod) ที่ใช้คอนกรีตรูปทรงคล้ายตัวต่อวางต่อกัน พบได้ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร หาดบางตาวา จังหวัดปัตตานี เเละหาดปากบารา จังหวัดสตูล กำเเพงกันคลื่นเเบบเกเบี้ยน (Gabion) ซึ่งเป็นการนำเอาหินบรรจุในตะเเกรง พบได้ที่บริเวณหาดม่วงงาม เเละหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา กำเเพงกันคลื่นเเบบเเนวดิ่ง พบได้ที่หาดบ้านหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช และหาดบ้านฉาง จังหวัดระยอง

รูปแบบกำแพงกันคลื่นที่มักพบได้บ่อยมากขึ้นในหลายชายหาดของประเทศไทยจะจะเป็นกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 100,000,000 – 120,000,000 บาท และกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่ มูลค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 80,000,000 บาท (2)(3)

ที่มาของโครงการกำแพงกันคลื่น

การแพร่ระบาดของกำเเพงกันคลื่นเป็นผลพวงหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2556 ) ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่กำหนดให้ยกเลิกการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact assessment) โครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งทุกขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป (4)

ซึ่งส่งผลให้หลังปี 2556 เป็นต้นมาเกิดโครงการก่อสร้างปราการป้องกันคลื่นในรูปแบบต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วชายหาดของประเทศ (5) ซึ่งต่อมาได้เกิดกระแสต่อต้านและความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ตามมา รวมทั้งบางพื้นที่มีการยื่นฟ้องศาลให้ยุติโครงการ

ช่วงระยะเวลาการเกิดขึ้นของกำแพงกันคลื่นจนถึงเดือนธันวาคมปี 2562 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างกลุ่ม Beach for life ซึ่งเกาะติดโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศได้รวบรวมข้อมูลผ่านภาพถ่ายดาวเทียม และลงพื้นที่ภาคสนามต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่า ประเทศไทยมีกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น 179 ตำแหน่ง ใน 23 จังหวัด เท่ากับทุกจังหวัดในพื้นที่ติดทะเลมีโครงสร้างนี้อยู่

โดย ระหว่างปี 2558 – 2566 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นจำนวน 125 โครงการ ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 8,487,071,100 บาท ขณะที่การใช้งบประมาณก่อนยกเลิกการจัดทำ EIA มีเพียง 1,992,679,000 ล้านบาท เป็นที่สังเกตได้ว่าการใช้งบประมาณหลังยกเลิกการจัดทำ EIA ที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้นกลับสวนทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ยังมีความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง (6)

ปราการปัญหาซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำเเข็ง

อย่างไรก็ตาม อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life สรุปว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นปัญหาเชิงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย อย่างน้อย 4 ประการสำคัญ ดังนี้ 1) การกัดเซาะชายฝังไม่เข้าข่ายในนิยามป้องกันสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นภัยในลักษณะชั่วคราวไม่ถูกแก้ปัญหาโดยท้องถิ่น แต่เป็นภาระที่ท้องถิ่นต้องของบประมาณจากส่วนกลางเพื่อใช้ป้องกันชายฝั่ง

2) การเปิดช่องให้โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งไม่ต้องจัดทำ EIA ทำให้กำเเพงกันคลื่นเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ผ่านกลไกการตรวจสอบหรือถ่วงดุล  3) พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาตรา 21 กำหนดให้มีการระงับยับยั้งโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชายหาดอย่างร้ายแรง แต่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีอำนาจตามมาตรา 21 จะต้องออกกฎหมายลูกซึ่งมีความยุ่งยาก อีกทั้งกรมฯ มีสถานะเพียงแค่รับทราบ และ 4) กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่พิธีกรรม แต่ไม่ได้มีบทบาทกำหนดนโยบายหรือร่วมป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง (6)

อย่างไรก็ดี กลุ่ม Beach for Life ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องให้มีการทบทวนการยกเลิกการจัดทำ EIA กระทั่งมีราชกิจจานุเบกษาประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 กำหนดให้โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการป้องกันชายฝั่งจะต้องจัดทำ EIA อีกครั้ง (7)

รัฐบาลยอมรับฟังข้อเสนอแนะภาคประชาชน

ท่ามกลางความเปลี่ยนไปของชายหาดและระหว่างหาทางแก้ มีทั้งโครงการที่เดินหน้าต่อไป โครงการที่ถูกกระบวนการศาลยับยั้ง กระทั่งการยุติโครงการ และบางโครงการนำไปสู่การฟ้องร้องคดี โดยที่บางโครงการภาคประชาชนเป็นฝ่ายแพ้คดี

โดยก่อนที่จะมีประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่องการจัดทำ EIA ทางกลุ่ม Beach for Life ยังได้เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติ ครม. วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 พร้อมทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดแนวทางการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้มีความชัดเจนด้วย ซึ่งในที่สุดรัฐบาลตอบรับเมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาปัญหากัดเซาะชายฝั่งและกำแพงกันคลื่น” ขึ้น ประกอบด้วย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมเจ้าท่า เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ 3 คน ภาคประชาชน 3 คน เป็นกรรมการ ตัวแทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ

โดยคณะกรรมการจะศึกษาตามแนวทางข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองรับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น 2. กำแพงกันคลื่นต้องจัดทำ EIA และ 3. ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น (8)

“กรมเจ้าท่าได้ออกมายอมรับเองว่า การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ได้ถูกออกแบบมาแก้ไขปัญหาโลกร้อน และรายงานยังสรุปว่า ความเสียหายที่เกิดจากสภาพการกัดเซาะที่รุนแรงเกิดจากการสร้างกำแพงกันคลื่นมากกว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อน” อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life ระบุ (9)

ถอดบทเรียนการปกป้องชายหาด

เพื่อสะท้อนภาพกำแพงกันคลื่นให้ชัดมากขึ้น ศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ถอดบทเรียนโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในช่วงที่ผ่านมา โดยสรุปว่า รูปแบบหลักของโครงสร้างมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ คือ 1) เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 2) กำแพงกันคลื่น 3) รอดักทราย และ 4) การเติมทราย  ซึ่งได้ผลบ้างในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ใกล้เคียงการก่อสร้างจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง การกัดเซาะมีความรุนแรงมากกว่าเดิม และต้องของบประมาณเพิ่มเติมในการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ

แนวทางที่พอตอบโจทย์และเห็นความสำเร็จคือ การเติมทรายที่เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2555 ที่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ซึ่งสามารถป้องกันการกัดเซาะได้ดีมาก ต่อมายังนำไปใช้ที่หาดพัทยา จังหวัดชลบุรี จนสามารถรักษาชายหาดความยาวกว่า 8 กิโลเมตรเอาไว้ได้ การเติมทรายจึงเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับกันมากขึ้น เช่น ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ชายหาดประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดเขาหลัก จังหวัดพังงา และที่อื่น ๆ (10)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระดับความรุนแรงของคลื่นลมที่มีผลกระทบต่อชายหาดยังขาดนโยบายและแผนรับมืออย่างเป็นระบบ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ปัญหาจากการสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดระยะเวลากว่า 10 ที่ผ่านมา ได้สร้างการรับรู้ออกสู่สาธารณะ กระทั่งภาครัฐยอมรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา ซึ่งบทเรียนนี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางการปกป้องทรัพยาธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายต่อไป

Copyright @2021 – All Right Reserved.