‘ซีพี’ ยันทำแต่ไร่ไถกลบ ท้าตรวจแหล่งปลูกข้าวโพดทุกที่ ย้ำ ‘ไม่เผา เราซื้อ’ ไม่ใช่ตัวก่อ PM2.5

by Admin

“ซีพี” ออกแถลงการณ์ยืนยันไม่มีนโยบายลดต้นทุนด้วยวิธีการส่งเสริมการเผาป่า การทำไร่ในประเทศเพื่อนบ้านมีแต่วิธีไถกลบ ท้าให้ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดได้ 100% ย้ำนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อม ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 โดยสำนักยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร ระบุว่า การกล่าวพาดพิงของนักการเมืองบนเวทีดีเบตเลือก 66 หัวข้อ “ปัดฝุ่น ปัญหาภาคเหนือ” จัดขั้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 มีเนื้อหากล่าวถึงชื่อ “ซีพี” โดยมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จึงขอชี้แจง ดังนี้

ประเด็นพาดพิง 1 : การเผาป่าเป็นวิธีการของนายทุนเพื่อลดต้นทุน (ซีพียืนยันว่าไม่มีนโยบายลดต้นทุนด้วยวิธีการส่งเสริมการเผาป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 100%)

ข้อเท็จจริง 1 : ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซีพีมีการทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่และภาคสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยยืนยันได้ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเป็นผู้นำในการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) มาใช้ 100% ข้าวโพดทุกเมล็ดของซีพีที่ใช้ในอุตสาหกรรมมาจากพื้นที่ถูกกฎหมาย ไม่มีการเผาป่า ซึ่งมีความโปร่งใส โดยมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม “ซีพี” ไม่มีนโยบายลดต้นทุนจากการทำลายสิ่งแวดล้อม

ประเด็นพาดพิง 2 : นายทุนอาหารสัตว์ไปส่งเสริมเกษตรพันธสัญญารับซื้อข้าวโพดมาโดยไม่สนใจว่าเกษตรกรจะเผาหรือไม่ (ซีพียืนยันว่าไม่มีการส่งเสริมและไม่มีการรับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ที่มีการเผา 100%)

ข้อเท็จจริง 2 : ซีพีไม่มีการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่ผิดกฎหมาย และพื้นที่ที่มีการเผาซังข้าวโพดทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดเป็นนโยบายบริษัทชื่อ ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’ ซึ่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ที่ถูกต้อง ไม่บุกรุกป่า ไม่บุกรุกภูเขา และซื้อจากพื้นที่ที่ไม่มีการเผาเท่านั้น

นอกจากนี้ในการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซีพีมีระบบตรวจสอบย้อนกลับและไม่มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรนำข้าวโพดไปปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายทั้งในและต่างประเทศเช่นเดียวกัน อีกทั้งในต่างประเทศยังมีการใช้ระบบเกษตรแปลงใหญ่ (Smart Farming) ซึ่งไม่มีการเผา แต่ใช้วิธีการไถกลบโดยเครื่องจักรทันสมัย

ซีพีหวังว่าการหาทางออกปัญหาหมอกควันไฟป่าจะตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นความจริง ยืนยันว่าระบบการจัดซื้อตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Sustainable Supply Chain) พื้นที่การเกษตรที่อยู่ใน Supply Chain ของซีพี เป็นพื้นที่ที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

นอกจากนี้ พร้อมจะให้นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้เป็นระบบพื้นฐานของอุตสาหกรรม โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

ซีพี ระบุด้วยว่า ให้ความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง

Copyright @2021 – All Right Reserved.