‘เอลนีโญ’ ผลพวงสภาพอากาศสุดขั้ว สัญญาณวิกฤตภัยแล้งรุนแรง

by Igreen Editor

‘เอลนีโญ’ ชื่อที่หลายคนได้ยินมานาน เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลให้ฝนตกน้อยและเกิดภาวะแห้งแล้ง จากการคาดกาณ์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่าปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นแล้วในครั้งนี้จะกระตุ้นให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีก ทำให้โลกต้องเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า

‘เอลนีโญ’ ผลพวงสภาพอากาศสุดขั้ว สัญญาณวิกฤตภัยแล้งรุนแรง

เอลนีโญ (El Niño) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเพิ่มขึ้น ทำให้กระแสน้ำอุ่นย้อนมาทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ส่งผลให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ฝนตกน้อยลง เกิดภาวะแห้งแล้ง และมีแนวโน้มเกิดไฟป่ารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะเอื้อให้ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้ ซึ่งเอลนีโญได้เริ่มต้นขึ้นแล้วหลังจากปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) จบลงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

‘เอลนีโญ’ ฝนแล้ง ‘ลานีญา’ น้ำท่วม

เมื่อเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญจะทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5% หากย้อนดูสถิติในช่วงเกิดเหตุการณ์เอลนีโญ ปริมาณฝนจะน้อยลง 15 – 30% โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน และกรกฏาคมที่เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง

ขณะที่ “ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดสลับกับเอลนีโญ โดยจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากกว่าปกติ น้ำท่วม และอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่วนในภูมิภาคฝั่งตรงข้ามก็จะเกิดภาวะแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้

ทั้งปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ และมหาสมุทรทั่วโลก ไม่ว่าการเกิดพายุ ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วม ซึ่งวงจรของทั้งสองปรากฎการณ์นี้จะสลับกันทุก 3-7 ปี

การที่เราจะรู้ว่าเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญแล้ว วัดได้จากอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าเกินกว่า 0.5 องศาเซลเซียสก็จะเริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญแบบกำลังอ่อน หากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปเรียกว่า ระดับรุนแรง แต่หากเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสขึ้นไปเรียกว่า ระดับรุนแรงสูงสุด

อย่างไรก็ตาม จากแบบจำลองที่มีการพยากรณ์ทั่วโลก ทั้งออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือเอเชีย ระดับความรุนแรงที่วัดได้ให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ น้ำทะเลกำลังอุ่นขึ้นแบบเร่งตัว โดยคาดว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาระดับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะสูงถึงประมาณ 1.7 องศาเซลเซียส และจะขยับเพิ่มมากขึ้นในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส

เมื่อย้อนกลับไป 73 ปีที่ผ่านมา เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงเมื่ออุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นตั้งแต่ 2 องศาเซลเซียสเป็นต้นไปมาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อปี 2515-2516 ครั้งที่ 2 ปี 2525-2526 ครั้งที่ 3 ปี 2534-2535 ครั้งที่ 4 ปี 2540-2541 ครั้งที่ 5 ปี 2558-2559  และที่กำลังเกิดคือ ครั้งที่ 6 ระหว่างปี 2566-2567 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในระดับรุนแรงสูงสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ผลกระทบเอลนีโญในต่างประเทศ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศเตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนมาก จากการศึกษาในวารสาร Science เปิดเผยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2572 หรือ ค.ศ. 2029

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจหลังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2525 2526 (ค.ศ.1982-1983) ในช่วง 5 ปีหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั่วโลกสูญเสียรายได้ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ, ภาวะเศรษฐกิจหลังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2540-2541 (ค.ศ. 1997-1998) ทั่วโลกสูญเสียรายได้ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นั่นเท่ากับว่าผลกระทบด้านลบจากปรากฏการณ์เอลนีโญได้ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยระดับความรุนแรงของผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อย่างในสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ลดลง 3% แม้จะผ่านไป 5 ปีหลังปรากฏการณ์เอลนีโญ เมื่อเทียบกับประเทศในเขตร้อน เช่น เปรูและอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า ทำให้ GDP ของประเทศเหล่านี้ลดลงมากกว่า 10%

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญเฟสกลาง ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2566 แต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด ข้อมูลจาก ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ระบุว่า ความรุนแรงจากวิกฤตภัยแล้งช่วงเกิดเอลนีโญในปี 2558/2559 ทำให้ผลผลิตอ้อยหายไปเกือบครึ่ง คาดการณ์ว่าเอลนีโญรอบนี้จะรุนแรงกว่า โดยอุณหภูมิจะเริ่มเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 และสถานการณ์นี้จะลากยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 หรือนานกว่านั้น ซึ่งหากอุณหภูมิขยับเกิน 2 องศาเซลเซียสขึ้นไป ระดับความรุนแรงและความเสียหายที่ตามมาอาจจะมีมากสุดในรอบ 74 ปี

เอลนีโญฉุดรายได้กระทบเศรษฐกิจภาพรวม

หากปรากฎการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นแค่ในระยะสั้นจะกินเวลาประมาณ 7 เดือน นานที่สุดไม่เกิน 19 เดือน แต่รอบนี้คาดการณ์ว่า อาจจะยืดเยื้อถึง 19 เดือน หรือมากกว่านั้น จนทำลายประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ตามแนวโน้มนี้ ประเทศไทยอาจจะเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าทุกครั้ง ซึ่งภาคเกษตร 1 ใน 5 อยู่ในเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ หรือ 26% จะขาดแคลนน้ำ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานอีก 150 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 74% จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด

เมื่อประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น ฝนแล้ง และน้ำท่วม อาจารย์วิษณุ ระบุว่า ความเสียหายภาคเกษตรไปถึงปี 2593 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี หากเกิดผลกระทบในระดับรุนแรงความเสียหายเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 83,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากประเมินความเสียหายสะสมตั้งแต่ปี 2554-2593 โดยไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ระดับความเสียหายอย่างน้อยจะอยู่ที่ 600,000 ล้านบาท และความเสียหายมากที่สุดจะอยู่ที่ 2.85 ล้านล้านบาท

ไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบางด้านสภาพภูมิอากาศอันดับต้นของโลก ดังนั้น ปรากฎการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อรายได้ประชากร โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากเอลนีโญส่งผลกระทบร้ายแรงและยาวนานมากกว่าปกติอาจทำให้ผลผลิตข้าวโดยรวมทั้งประเทศอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรืออาจลดลงอย่างน้อย 4.1-6% และในปี 2567 เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนให้ลดลงซึ่งเป็นน้ำสำหรับปลูกข้าวนาปรัง ประกอบกับคาดว่าเอลนีโญจะกินระยะเวลานานทำให้มีความเสี่ยงทั้งผลผลิตข้าวนาปรังและข้าวนาปีของไทยในปี 2567 คงจะลดลง

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เอลนีโญอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมากถึง 36,000 ล้านบาท

จากผลการคาดการณ์และแนวโน้มจึงกล่าวได้ว่าเอลนีโญที่เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อาจจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ฝนตกน้อยลง เกิดภาวะแห้งแล้ง และมีแนวโน้มเกิดไฟป่ารุนแรงขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก โดยขณะนี้เอลนีโญเริ่มต้นขึ้นแล้วหลังจากปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) จบลงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ที่มา :

Carrington, D. (2023). El Niño: how the weather event is affecting global heating in 2023. Retrieved Sep 19, 2023, from https://www.theguardian.com/environment/2023/jun/24/el-nino-how-the-weather-event-is-affecting-global-heating-in-2023

Dickie, G. (2023). Explainer: How El Nino could impact the world’s weather in 2023-24. Retrieved Sep 19, 2023, from https://www.reuters.com/world/how-el-nino-could-impact-worlds-weather-2023-24-2023-06-08/

Pongwitoon, N. (2023). 2566 จับตาไทยแล้ง ไฟป่าอาเซียนแรง ผลจากเอลนีโญ. Retrieved Sep 19, 2023, from https://workpointtoday.com/drought-hits-thailand-via-el-nino/

เอลนีโญ ปี 66 กดดันผลผลิตข้าวนาปีลดลง. Retrieved May 22, 2023, from https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/THAI-RICE-AND-EL-NINO-CIS3410-Cover-21-05-2023.aspx

Justine C. 2023. El Niño could take a $3 trillion bite out of the world economy from https://www.theverge.com/2023/5/20/23730210/el-nino-economic-costs-dartmouth-study

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์. (2023). เอลนีโญ และ “มหาภัยแล้ง” ส่อรุนแรงสุดรอบ 73 ปี กระทบรายได้คนไทย. Retrieved Sep 19, 2023, from https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2701782

(2023). ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (2) : “แล้ง”ยาวเกิน 2 ปี เตือนรอบนี้ ‘รุนแรง’ ที่สุด. Retrieved Sep 19, 2023, from https://thaipublica.org/2023/08/super-el-nino-how-will-we-survive02/

Copyright @2021 – All Right Reserved.