‘พญาแร้ง’ กำลังกลับมา

คอลัมน์สิงสาราสัตว์

โดย – ปริญญา ผดุงถิ่น

สัตว์ป่าที่กำลังเข้าโครงการฟื้นฟูประชากร ซึ่งน่าลุ้นน่าเชียร์อย่างยิ่ง ก็คือ พญาแร้ง (Red-headed Vulture, Asian King Vulture)

กรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกันผลักดันความฝันของหลายๆ คนให้เป็นจริง

ความฝันที่อยากเห็นพญาแร้งกลับมาร่อนลมอีกครั้ง

เหนือฟากฟ้าเมืองไทยมีการนำหนุ่มสาวพญาแร้งมาจับคู่กันในกรง เพื่อให้พวกมันฟักไข่หวังให้มีแร้งในกรงมากพอจะปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ

ฟังเหมือนง่าย แต่จริงๆ ก็ไม่ง่าย แร้งนะ ไม่ใช่ไก่ไข่!

กระนั้นก็ใช่จะยากเกินไป เพราะหลายๆ ประเทศ ก็ทำสำเร็จมาแล้ว ยิ่งเรามีคติยอดฮิตว่า “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

ปฏิบัติการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งจึงไม่อาจล้มเหลว ผมเชื่อว่าสักวันพญาแร้งสัญชาติไทย คงกลับมาโบยบิน กลับมารับหน้าที่เป็น “เทศบาลกำจัดซาก” ที่ยุติไปอย่างฉับพลันเกือบ 30 ปีมาแล้ว

………..

5 เรื่องจริงของพญาแร้ง

1.แม้ชื่อเป็นถึง “พญา” แต่พญาแร้งไม่ใช่แร้งที่ตัวใหญ่ที่สุด

จากภาพประกอบ จะเห็นว่าพญาแร้ง (กำลังกระพือปีก) มีขนาดตัวที่เล็กกว่าอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Himalayan Griffon) ที่เกาะเทียบข้างๆ กัน แต่ตัวใหญ่กว่า “แร้งภูเขาทอง” คือ อีแร้งเทาหลังขาว (White-rumpedVulture) ที่เกาะกิ่งล่าง

2.พญาแร้งเป็นแร้งประจำถิ่น

ไม่ใช่แร้งอพยพมักบินหากินลำพังตัวเดียว หรือแค่ไปกับคู่ของตัวไม่ได้อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แต่พวกมันพร้อมจะรวมกันเฉพาะกิจเวลามีซากเหยื่อ ทั้งในหมู่พญาแร้งด้วยกัน และแร้งชนิดอื่น

3.การจำแนกเพศพญาแร้งกระทำได้ง่ายดายด้วยการดูสีม่านตา

ถ้าสีซีดตัวผู้สีเข้มตัวเมีย ตรงนี้เป็น “ความเหมือนที่แตกต่าง” กับนกเงือกขนาดใหญ่อย่างนกกก และนกเงือกหัวแรดโดยนกเงือกทั้งสองชนิดนี้ก็จำแนกเพศได้ที่สีม่านตาเช่นกัน สีเข้มคือตัวผู้สีซีดตัวเมีย ตรงข้ามกับพญาแร้ง

4.ศูนย์กลางพญาแร้งโลก คืออนุทวีปอินเดีย

แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันพญาแร้งอินเดียเหลืออยู่กะปริบกะปรอยแถวตอนเหนือเท่านั้น และมีสถานภาพระดับโลก “ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต” (Critically Endangered)

5.การคร่าชีวิตพญาแร้งแบบล้างผลาญล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์

ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแม้แต่น้อย อย่างในอินเดียพญาแร้งตายเป็นเบือ เพราะกินซากปศุสัตว์ที่สัตวแพทย์เคยให้ยาแก้ปวด “ไดโคลฟิแน็ก” กว่าอินเดียจะแบนยาตัวนี้สำเร็จก็แทบจะสายเกินไป ส่วนพญาแร้งไทย ประชากรกลุ่มสุดท้ายที่ป่าห้วยขาแข้งกินยาพิษในซากสัตว์ที่พรานวางไว้ล่าเสือโคร่ง ผลก็คือพญาแร้งพากันตายก่อนเสือ ซึ่งของเรากว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป

พญาแร้งตายจนไม่เหลือหรอแม้แต่ตัวเดียว ตั้งแต่ปี 2535 (เป็นความระยำตำบอนระดับสุดยอดของคนไทย) ก่อนพญาแร้งห้วยขาแข้งจะหมดไป พวกมันในพื้นที่อื่นๆ ก็มักตกเป็นเป้าปืนในยุคของค่านิยมประหลาดผู้คนรักธรรมชาติแบบถ่อยเถื่อนล้างผลาญ แต่เรียกกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า “นิยมไพร”

Copyright @2021 – All Right Reserved.