วิถี 3Rs ลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ หลักการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง

by Chetbakers

หลักการ Reduce, Reuse, Recycle หรือ 3Rs เป็นหลักการลดขยะตั้งแต่ต้นทางไม่ให้ขยะเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไปจบที่ทะเล

หลักการ 3Rs – Reduce, Reuse, Recycle หรือลดการใช้, ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นหลักการลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก (1)

หากทุกคนไม่ปรับตัว เมินเฉย และไม่เห็นความสำคัญของ 3Rs ผลที่ตามมาก็คือ ในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรกว่า 10 ล้านตัน และมีสัตว์ทะเลต้องเสียชีวิตจากมลพิษพลาสติกกว่า 1 ล้านตัวต่อปี (2)

ปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน ขยะทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำเพียง 9.31 ล้านตัน กรุงเทพมหานคร มีขยะมากที่สุด 12,748 ตัน/วัน (สร้างขยะเฉลี่ย 1.53 กก./คน/วัน) (3) (5)

ธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2025 จำนวนประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,300 ล้านคน และจะสร้างขยะประมาณวันละ 1.42 กิโลกรัม/คน/วัน หรือรวมประมาณ 2,200 ล้านตัน/ปี คาดว่าต้นทุนการจัดการขยะเหล่านี้จะเพิ่มจากปีละ 205,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศยากจนจะต้องใช้เงินจัดการขยะในชุมชนเมืองมากกว่าประเทศร่ำรวย หรือพบว่าประเทศมีรายได้สูงมีความสามารถในการจัดเก็บขยะเฉลี่ย 98% ของขยะทั้งหมดที่มี แต่ประเทศที่มีรายได้น้อยจะจัดเก็บขยะได้เฉลี่ย 41% (4)

เมื่อย้อนมาดูงบประมาณการกำจัดขยะในประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึงปีละ 13,000 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพฯ มีค่าจัดการขยะปีละ 7,000 ล้าน รวมกันสูงถึงปีละ 20,000 ล้านบาท แต่ อปท.จัดเก็บรายได้จากขยะเพียง 2,300 ล้านบาท/ปี และกรุงเทพฯ จัดเก็บได้เพียง 500 ล้านบาท/ปี ดังนั้นทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพฯ ขาดทุนรวมกันราว 17,200 ล้านบาท (6)

อย่างไรก็ดี หากทุกช่วยกันปรับพฤติกรรมด้วยหลักการ 3Rs อย่างเช่นลดการสร้างขยะลง 1 ใน 4 จากปกติ หรือพยายามลดลงให้ได้ลงครึ่งหนึ่ง ปริมาณขยะต่อวันก็จะลดลงได้จำนวนมหาศาล นั่นเท่ากับจะช่วยลดงบประมาณการจัดการขยะลงมากกว่าที่เป็นอยู่ต่อปี
ก่อนจะปรับตัวตามหลักการ 3Rs ทุกคนควรต้องลงมือเริ่มต้นจากการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ (7)

1.ขยะอินทรีย์ ขยะเศษอาหารและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
2.ขยะรีไซเคิล ขยะเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น ขวดน้ำดื่ม แก้ว กระดาษ กระป๋อง
3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่คุ้มค่าในการนำกลับมาใช้ใหม่ และย่อยสลายยาก เช่น โฟม ถุงพลาสติก ซองขนม
4.ขยะอันตราย ขยะที่มีสารอันตรายและจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่

3Rs สู่วิถีกรีน
Reduce – การลดปริมาณขยะ (7) (8) (9)
อันดับแรกของการเริ่มปรับพฤติกรรรมเพื่อช่วยโลกลดปริมาณขยะก็คือ การลดการบริโภคซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่ทำได้ง่ายที่สุด เพราะเมื่อเราบริโภคน้อยขยะก็น้อยลง ซึ่งจะเป็นวิธีที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด โดยให้เข้าใจว่าวิธีการนี้หมายถึงความตั้งใจของเราเองในการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานที่ไม่จำเป็นลงหรือบริโภคเท่าที่จำเป็นหรืออย่างพอเหมาะ

ตัวอย่างการ Reduce มีอะไรบ้าง:
• การเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดเติม อย่างเช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เหล่านี้
• ปฏิเสธถุงพลาสติกด้วยการใช้ถุงผ้าหรือถุงสำหรับใช้บรรจุสิ่งของที่มีความคงทนและใช้ซ้ำได้นาน
•พกแก้วน้ำและหลอดดูดติดตัวเมื่อออกนอกบ้าน รวมถึงมีแก้วน้ำส่วนตัวใช้ในที่ทำงาน
• ใช้กระดาษรีไซเคิลหรือพิมพ์เอกสารสองหน้า

Reuse – การใช้ซ้ำ (7) (8) (9)
การนำของที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องทิ้ง ใช้แล้วใช้อีก ใช้อย่างรู้ค่า และคุ้มค่ามากที่สุด อย่างเช่น นำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นกระถางปลูกต้นไม้ เลือกซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้มากกว่า 1 ครั้ง บำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถใช้ได้ยาวนาน ดัดแปลงสิ่งของให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ซ่อมแซมเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ซ้ำ ๆ

ตัวอย่าง Reuse มีอะไรบ้าง:
• นำถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ตมาใส่ขยะ
• นำขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วมาใส่น้ำใช้อีกครั้ง
• นำกล่องคุกกี้มาใส่ของใช้
• ใช้เสื้อผ้าจากร้านมือสอง, นำเสื้อผ้าเก่ามาดัดแปลงเป็นของใช้อื่น ๆ หรือนำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคตามจุดรับเสื้อผ้า
• บริจาคของเล่นและหนังสือที่ไม่ใช้แล้วให้กับสถานที่ที่เปิดรับบริจาค
• ใช้ภาชนะพลาสติกสำหรับแช่แข็งหรือเก็บอาหาร หรือนำภาชนะพลาสติกติดตัวสำหรับการซื้ออาหารเปียก
• เก็บกระดาษห่อของขวัญ เชือกรัดของ และกล่องกระดาษไว้ใช้ใหม่
• ใช้ขวดโหลเก่าสำหรับเก็บของ
• นำเอกสารเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาดัดแปลงทำเป็นสมุดบันทึก

Recycle – การนำกลับมาใช้ใหม่ (7) (8) (9)
การรีไซเคิล คือการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือนำวัสดุมาแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบใหม่ และผลิตเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถใช้งานได้

ตัวอย่าง Recycle มีอะไรบ้าง :
• ขวดน้ำพลาสติก หรือขวด PET ชนิดอื่นสามารถส่งต่อเข้าสู่กระบวนการย่อยเป็นเม็ดพลาสติกแล้วนำมาผลิตเสื้อผ้าหรือของใช้อื่น ๆ ได้
• การนำกระดาษที่ใช้แล้วมาปั่นทำเป็นกระดาษใหม่
• นำกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วไปหลอมใหม่เพื่อผลิตกระป๋องใหม่
• นำแก้วที่ใช้แล้วมาหลอมและขึ้นรูปใหม่เป็นผลิตภัณฑ์อื่น
ข้อดีของการรีไซเคิลก็คือ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ลดมลพิษทางอากาศและน้ำ (จากการฝังกลบขยะ) ที่สำคัญช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อนได้นั่นเอง

อ้างอิง:
(1) https://datacenter.dcce.go.th/media/images/2/25/Hate%20Waste%20ขยะใครใครก็ไม่รัก_Web.pdf
(2) https://www.businesswaste.co.uk/your-waste/plastic-recycling/plastic-waste-facts-and-statistics/
(3) https://www.thaipbs.or.th/news/content/340722
(4) https://thaipublica.org/2012/06/crisis-solid-waste/
(5) https://thaipublica.org/2014/11/bangkok-big-garbage-problem/
(6) https://think.moveforwardparty.org/article/environment-and-resources/2922/
(7) https://datacenter.dcce.go.th/media/images/7/7E/คู่มือประเทศไทยไร้ขยะ.pdf
(8) https://www.iurban.in.th/diy/reduce-reuse-recycle-repair-upcycle/
(9) https://greenbankwastesolutions.com/the-5rs-of-waste-management/

Copyright @2021 – All Right Reserved.