การวิเคราะห์ใหม่ของ UNICEF เผยให้เห็นผลกระทบอันน่าตกตะลึงของ “มลพิษทางอากาศ” ฝุ่น PM2.5 เด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตมากกว่า 100 รายต่อวัน ในเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก
มลพิษทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของเด็กๆ ทั่วทั้งภูมิภาค การวิเคราะห์ล่าสุดจาก UNICEF เปิดเผยถึงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้ กำลังเพิ่มขึ้น และส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตมากกว่า 100 รายทุกวัน
ผลการศึกษาพบว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมีเด็กอาศัยอยู่ถึง 500 ล้านคน ทุกคนต้องเผชิญกับระดับมลพิษทางอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ในจำนวนนี้กว่า 325 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า ขณะที่ 373 ล้านคน ต้องเผชิญกับระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO₂) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ เด็กจำนวน 453 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ยังอาศัยอยู่ในประเทศที่มีมลพิษโอโซนเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการเผาขยะทางการเกษตร ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของเด็กๆ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ
การศึกษาชี้ให้เห็นว่า เกือบครึ่งหนึ่งของ PM2.5 ในบางประเทศ มาจากกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งทำให้ผลกระทบต่อเด็กยิ่งรุนแรงมากขึ้น
“ทุกลมหายใจมีความสำคัญ แต่สำหรับเด็กจำนวนมาก ทุกลมหายใจอาจก่อให้เกิดอันตรายได้” เป็นคำกล่าวของ จูน คูนูกิ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของ UNICEF โดยระบุว่า เด็กในช่วงวัยพัฒนา มีความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศสูงมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำร้ายปอด และขัดขวางพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะเด็กในครัวเรือนที่ยากจน หรืออาศัยอยู่ใกล้แหล่งมลพิษ เช่น โรงงาน หรือทางหลวง ซึ่งมักได้รับมลพิษมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สะอาด
ผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเจ็บป่วยของเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพ และเศรษฐกิจในภาพรวม การรักษาพยาบาลที่มีต้นทุนสูง การขาดเรียนเนื่องจากโรคภัย และการลดประสิทธิภาพการทำงานของผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กที่ป่วย ล้วนเป็นผลกระทบที่จำกัดศักยภาพของเด็กและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ การคาดการณ์จากธนาคารโลกพบว่า ในปี 2562 มลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ทำให้ภูมิภาคนี้สูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึง 9.3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์
การต่อสู้กับมลพิษทางอากาศไม่ใช่แค่การปกป้องสุขภาพของเด็ก แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับภูมิภาคนี้ การลงทุนในนโยบายและการปรับปรุงคุณภาพอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้
UNICEF เรียกร้องการดำเนินการเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบมลพิษทางอากาศต่อเด็กในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
รัฐบาล:
- นำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ
- เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
- บังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
ธุรกิจ:
- นำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้
- ลดการปล่อยมลพิษ
- ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็ก
ภาคส่วนสุขภาพ:
- ปรับปรุงการตรวจจับและการรักษา
- นำการดำเนินงานที่ยั่งยืนและปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์มาใช้
ผู้ปกครองและนักการศึกษา:
- สร้างความตระหนักรู้
- สนับสนุนสภาพแวดล้อมที่สะอาด
- ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วม
โครงการริเริ่มของ UNICEF:
- นโยบายด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม: สนับสนุนนโยบายเพื่อโลกที่สะอาดและยั่งยืน
- ลดการสัมผัสมลพิษในครัวเรือน: การระบายอากาศและระบบทำความร้อนที่สะอาด
- การติดตามและรายงานคุณภาพอากาศ: ติดตั้งเซ็นเซอร์ราคาประหยัด
- ระบบสุขภาพ: ปรับปรุงการจัดการโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษและการจัดการขยะทางการแพทย์
- การมีส่วนร่วมของชุมชน: สนับสนุนให้เยาวชนเป็นผู้สนับสนุนอากาศสะอาด
“การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจะนำไปสู่การปรับปรุงครั้งใหญ่ในด้านสุขภาพ การศึกษา และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กๆ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งสังคมและเศรษฐกิจ” คูนูกิเน้นย้ำ “มีวิธีแก้ไขอยู่แล้ว และอนาคตของเราขึ้นอยู่กับการนำวิธีแก้ไขไปปฏิบัติ”
อ้างอิง :