‘โรคแอนแทร็กซ์’ ระบาดไทย ผวาซ้ำ หลังพบวัวตายปริศนา

by Pom Pom

 

 

“โรคแอนแทร็กซ์” ระบาดในไทย คร่าชีวิต 1 รายในมุกดาหาร พร้อมพบวัวตายปริศนา 3 ตัวในเลย ใกล้ชายแดนไทย-ลาว ชาวบ้านหวาดผวา ทางการเร่งตรวจสอบและควบคุมโรค ขณะที่ความตระหนักรู้และการจัดการซากสัตว์กลายเป็นประเด็นเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อ

 

โรคแอนแทร็กซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งพบได้ในธรรมชาติ โดยเฉพาะในดิน น้ำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย และแพะ ในประเทศไทย โรคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การระบาดล่าสุดในปี 2568 ได้สร้างความตื่นตัวอย่างมาก หลังพบผู้เสียชีวิตในจังหวัดมุกดาหาร  รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด พบวัวตายไม่ทราบสาเหตุ ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวบ้าน

 

การระบาดในประเทศไทย ปี 2568

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร จากโรคแอนแทร็กซ์ ผู้ป่วยเป็นชายวัย 53 ปี มีประวัติชำแหละวัวที่ป่วย ก่อนนำเนื้อไปแจกจ่ายในงานบุญผ้าป่าในหมู่บ้าน การสอบสวนพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 247 ราย แบ่งเป็นกลุ่มชำแหละวัว 28 ราย และกลุ่มที่บริโภคเนื้อวัวดิบ 219 ราย ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย ในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้เสียชีวิต และมีผู้สัมผัสเสี่ยงรวม 638 รายในพื้นที่มุกดาหาร อำนาจเจริญ และกาฬสินธุ์

โรคแอนแทร็กซ์ระบาดในภาคอีสาน

เหตุการณ์วัวตายปริศนาในจังหวัดเลย

 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ชาวบ้านในตำบลนาดี อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ตื่นตระหนก หลังพบวัว 3 ตัวของนายจัด ฤทธิศักดิ์ อายุ 60 ปี ตายโดยไม่ทราบสาเหตุในป่าละเมาะใกล้หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำเหืองใกล้พรมแดนไทย-ลาว วัวทั้ง 3 ตัวเป็นเพศเมีย อายุระหว่าง 3-5 ปี ตายห่างกันไม่เกิน 20 เมตร โดยไม่มีบาดแผลใดๆ นายสมัย ฤทธิศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านแก่วตาว หมู่ 6 รายงานเหตุการณ์นี้นายธนายุทธ ใยแก้ว นายอำเภอด่านซ้าย ซึ่งเร่งประสานปศุสัตว์จังหวัดเลย ปศุสัตว์อำเภอด่านซ้าย สาธารณสุขจังหวัดเลย และแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที 

 

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่สั่งห้ามเคลื่อนย้าย ห้ามสัมผัส และห้ามนำเนื้อวัวมารับประทานอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการระบาดของโรคแอนแทร็กซ์ ล่าสุด นายทวีพงษ์ สารทัศนานันท์ ปศุสัตว์อำเภอด่านซ้าย ได้เก็บตัวอย่างจากวัวทั้ง 3 ตัวโดยการสวอป เพื่อส่งไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อยืนยันสาเหตุการตาย ชาวบ้านในพื้นที่หวาดกลัวว่านี่อาจเป็นการระบาดของโรคแอนแทร็กซ์ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนในภาคอีสาน

วัวตายปริศนาใน จ.เลย

โรคแอนแทร็กซ์คืออะไร?

 

แอนแทร็กซ์เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ ซึ่งทนทานสูงและสามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี เชื้อนี้ติดต่อสู่มนุษย์ได้ 3 ช่องทางหลัก: 

 

  • การสัมผัสทางผิวหนัง: ผ่านบาดแผลที่สัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ติดเชื้อ 
  • การกิน: การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะเนื้อดิบหรือปรุงไม่สุก 
  • การหายใจ: การสูดดมสปอร์ของเชื้อ ซึ่งพบได้น้อยแต่รุนแรงที่สุด

 

อาการขึ้นอยู่กับช่องทางการติดเชื้อ: 

 

  • แอนแทร็กซ์ทางผิวหนัง: มีตุ่มคัน กลายเป็นแผลดำ และอาจมีไข้ 
  • แอนแทร็กซ์ทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง และอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร 
  • แอนแทร็กซ์ทางปอด: เริ่มจากอาการคล้ายไข้หวัด แต่รุนแรงถึงขั้นหายใจลำบากและช็อก

 

หากไม่รักษาทันเวลา โรคนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะในรูปแบบทางปอดและทางเดินอาหาร

แอนแทร็กซ์ระบาดในภาคอีสาน

การระบาดของแอนแทร็กซ์ในปี 2568 สร้างความตื่นตระหนกในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่การเลี้ยงสัตว์และการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่ประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคแอนแทร็กซ์ โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อดิบ การชำแหละ หรือกำจัดซากสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่มีการป้องกันเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ 

 

เหตุการณ์วัวตายในจังหวัดเลยยิ่งเพิ่มความกังวล เนื่องจากพฤติกรรมการกินเนื้อดิบ หรือปรุงไม่สุกยังคงพบได้ในบางชุมชน และการที่วัวตายใกล้พรมแดนไทย-ลาว อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงของการแพร่เชื้อข้ามพรมแดน

Copyright @2021 – All Right Reserved.