สภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่เข้าสู่ชั้นวุฒิสภา แต่ประมงพื้นที่บ้านไม่เห็นด้วยอ้างว่าการใช้อวนตาถี่จับปลากลางคืนจะทำลายพันธ์สัตว์น้ำ
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 25 ธ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 วาระ 2-3 ตามร่างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 239 เสียง ไม่เห็นด้วย 28 เสียง งดออกเสียง 114 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 383 คน ทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ เข้าสู่การพิจารณาของชั้นวุฒิสภาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 23 ที่ระบุให้แก้มาตรา 69 ซึ่งเครือข่ายประมงพื้นบ้านได้คัดค้านมาอย่างต่อเนื่องและยังมาปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณหน้าสภาฯ ด้วย
เดิมที พร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืน”
ทว่าร่างกฎหมายประมงใหม่ในมาตรา 23 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน
“การทำการประมงนอกเขตสิบสองไมล์ทะเลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย”
—
“จะตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน-ฆาตกรรมทะเลไทย” เครือข่ายประมงพื้นบ้านให้เหตุผลการคัดค้านเนื้อหาที่มีการแก้ไขในมาตรา 69 และยืนยันจะเดินหน้าคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กมธ.วิสามัญแก้ไขกฎหมาย กล่าวตอนหนึ่งว่า พ.ร.ก.ประมง 2558 ที่ใช้อยู่ปัจุบันมาจากรัฐบาล คสช.จึงถูกกดดันจากต่างประเทศ และเป็นกฎหมายที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ กระทบต่อเศรษฐกิจ และสร้างความทุกข์ยากให้กับชาวประมงจึงต้องแก้ไขให้สะท้อนประมงแบบไทยๆ มีบทลงโทษเหมาะสมกับความเสียหาย ไม่มองชาวประมงเป็นอาชญากร เปิดโอกาสให้ชาวประมงขนาดเล็กได้เจริญเติบใหญ่ขึ้นไป และปกป้องคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลให้มีอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
นายปลอดประสพ ระบุว่า กฎหมายประมงฉบับใหม่มีข้อเปลี่ยนแปลงสำคัญ 13 ข้อ คือ 1. นิยามคำว่าทะเลชายฝั่งใหม่เพื่อทำให้ชาวประมงมีพื้นที่ทำประมงมากขึ้น 2. ปรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน 3. ทำให้คณะกรรมการประมงแห่งชาติทำงานได้อย่างเต็มที่โดยการเพิ่มเวลา จำนวน สร้างบริบทเพื่อให้คนที่มีความรู้จริงๆ ได้เข้ามาในคณะกรรมการฯ
4. ทำให้ประมงขนาดเล็กออกทะเลได้ไกลกว่าเดิม 6. กำหนดห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมง 7. แก้ไขเรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ไม่ใช่เห็นอะไรเล็กๆ ก็ห้ามจับหมด 8. เรื่องที่มีประเด็นเรียกร้องอยู่นอกสภา ณ เวลานี้เรื่องตาอวนขนาดเล็กที่แต่เดิมห้าม 12 ไมล์ไม่ให้ทำ ตอนนี้เรากลับให้ แต่มีเงื่อนไขพิเศษให้ทำได้ทางวิชาการเท่านั้นและมีการกำหนดเรื่องการใช้ไฟ ซึ่งคาดว่าที่มาร้องข้างหน้านี้คงมีคนยุให้มาและมีข้อเข้าใจผิดอยู่
9. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การแจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือ 10. ปรับให้ขนถ่ายสัตว์น้ำข้ามเรือได้ เรื่องนี้ก็มีปัญหาหลายคนไม่เห็นด้วย อยากบอกว่าบริบทไทยกับต่างประเทศแตกต่างกัน ประมงไทยลำเล็ก จับเยอะเต็มลำ แต่อยากจับต่อน้ำมันเหลือก็ฝากเพื่อนเข้าฝั่ง หลายคนเชื่อฝรั่งบอกฝากไม่ได้ เราเปลี่ยนเป็นทำได้ แต่ต้องขออนุญาต ไม่ใช่ห้ามหมด
11. ปรับปรุงการกระทำที่ให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง 12. ปรับแก้บทลงโทษไม่ให้เท่ากันหมด แต่ดูที่ความรุนแรงและเจตนา และ 13. เพิ่มการช่วยเหลือเยียวยาให้กับชาวประมงหากเกิดอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตาม จากคำอธิบายของนายปลอดประสพถือว่าการแก้ไขกฎหมายประมงใหม่เป็นเรื่องที่ดีและเอื้อต่อการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือขนาดเล็ก ทว่าหลังจากที่ประชุมมีมติ นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยและนายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านและ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับแสดงความผิดหวัง และจะเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรานี้ต่อไป
พวกเขาบอกในทำนองว่าในระหว่างการแก้ไข แย่มาตั้งแต่ในชั้น กมธ. เนื่องจากมีตัวแทนประมงพื้นบ้านแค่ 2 คน แต่มีตัวแทนจากประมงพาณิชย์ถึง 10 คน ซึ่งหลังปีใหม่ทางเครือข่ายฯ จะสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อให้คนทั่วประเทศได้ทราบเหตุผลว่ากฎหมายใหม่จะไม่สร้างความยั่งยืนต่อการทำประมงอย่างไร
ในเบื้องต้นเหตุผลของกลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านก็คือ “การให้ทำการประมงด้วยอวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรในเวลากลางคืน..เป็นการประมงทำลายพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนวัยอันควร และทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอย่างร้ายแรงซึ่งปรากฎข้อมูลทางวิชาการแล้วว่า การใช้อวนล้อมจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืนจะมีลูกสัตว์น้ำติดมาราว 50% มากกว่าในตอนกลางวันที่จะติดมาเพียง 7% เท่านั้น
“ที่บอกว่าหากแก้กฎหมายนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประมงพื้นบ้าน ผมบอกเลยว่าไม่จริง ผมไม่เห็นข้อดีของการนำอวนชนิดนี้มาจับปลาเลย เอาไปใช้กันยุงดีกว่า อย่างไปจับสัตว์น้ำเลย” นายปิยะ กล่าว
ด้านนายวิโชคศักดิ์ หนึ่งในกรรมาธิการฯ ชุดนี้ด้วยอีกคน ระบุว่า ขนาดช่องตาอวน 2.5 – 3 มิลลิเมตร หากนำมาใช้จริงๆ สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆ ไม่เหลือรอดแน่
ในขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา กรรมาธิการฯ และประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายใหม่ที่แก้ไขจะ ทำให้สามารถจับปลากะตักที่เป็นปลาเศรษฐกิจได้มากขึ้น, การจะจับปลากะตักใช้อวนตาใหญ่ไม่ได้ต้องขนาดเล็ก และไม่ได้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนเนื่องจากกำหนดไว้แล้วว่าให้ทำนอกเขต 12 ไมล์ทะเล
ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคนอื่นๆ จากสมาคมการประมงฯ ก็เห็นไปทิศทางเดียวกันว่า ก่อนหน้านี้ไทยมีเรือล้อมปลากะตัก 300 กว่าลำ ตอนนี้เหลือไม่ถึง 30 ลำ การแก้กฎหมายจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
“หากมีการประกาศใช้จะกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพี่น้องประมงพื้นบ้าน อาจล้มหายตายจาก ล้มเลิกประกอบอาชีพ ความมั่นคงของอาหารก็อาจะหายไป 3-5 ปีต่อจากนี้การทำอาชีพประมงอาจจะหายไป สัตว์น้ำอาจจะถึงขั้นสูญพันธุ์ ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงอยากจะขอฝากไว้ว่าหากสมาชิกกดโหวตเห็นด้วยอาจจะไม่เหลือความมั่นคงอาหารให้กับลูกหลานของเรา” นายสมชาติ เตชถาวรเจริญ กรรมาธิการฯ และ สส.พรรคประชาชน กล่าว
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่ไม่เห็นด้วยของนายสมชาติ แต่พรรคประชาชนก็ได้ลงมติงดออกเสียง ได้อธิบายผ่านเพจของพรรค โดยพาดหัวว่า [ ผ่านแล้ว! แก้กฎหมายยุค คสช. คืนชีวิตชาวประมง ผลักดันต่อกระจายอำนาจประมงให้ท้องถิ่น ส่งเสริมประมงไทยเจาะตลาดโลก ]
พรรคประชาชนอธิบายว่า เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาชาวประมงทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนจาก พ.ร.ก.ประมง 2558 ที่ออกมาในยุค คสช. ซึ่งรัฐบาลจากคณะรัฐประหารในเวลานั้นให้เหตุผลเพียงต้องการจะแก้ไขปัญหาการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) จึงออกกฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งรีบและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดการบังคับใช้ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ตลอดจนทรัพยากรสัตว์น้ำ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ เราเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมนี้ โดยได้เสนอร่างกฎหมายครั้งแรกขณะเป็นพรรคก้าวไกล ผ่านวาระ 1 ของสภาฯ ชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 23 ก. 2566 แต่หลังจากนั้นเกิดสภาล่มบ่อยครั้ง ทำให้การผ่านกฎหมายต่างๆ ล่าช้า การพิจารณาวาระ 2-3 จึงไม่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขณะนั้นประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้ง
กฎหมายจึงต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ในสภาชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 26) พรรคการเมืองต่างๆ ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายประมงเข้าสภา โดยร่างของพรรคประชาชน (ขณะเป็นพรรคก้าวไกล) เสนอโดยนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการทุกร่างเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 นำไปสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญ และทำให้มีร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ฉบับที่พิจารณาลงมติกัน
[ ร่าง กมธ. แก้อะไรบ้าง ]
ร่าง พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก.ประมง 2558 ฉบับ กมธ. มีการแก้ไขสำคัญๆ อาทิ ปรับลดอัตราโทษที่เอาผิดชาวประมงทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ให้ได้สัดส่วน จากเดิมโทษปรับสูงได้ถึง 30 ล้านบาท ปรับเป็นโทษสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และยกเลิกโทษประหารชีวิตชาวประมง จากกฎหมายเดิมเมื่อเรือทำผิดหนึ่งลำ อีก 10 ลำก็ต้องห้ามทำประมงไปด้วย นอกจากนี้ยังเพิ่มการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและขยายสิทธิประมงพื้นบ้าน ทำการประมงได้ไกลกว่า 3 ไมล์ทะเล
[ ประเด็นใหญ่พรรคประชาชนผลักดันต่อ ]
นอกจากนี้มีอีกหลายข้อเสนอในร่างกฎหมายของพรรคประชาชนที่ไม่มีในร่างของ กมธ. พรรคจะเดินหน้าผลักดันต่อไปเช่นกัน แบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่
(1) กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ออกแบบกติกาประมงให้เหมาะสมกับพื้นที่
– ลดสัดส่วนข้าราชการภูมิภาค เพิ่มสัดส่วนท้องถิ่นใน “คณะกรรมการประมงจังหวัด” เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 และให้นายก อบจ. เป็นประธานคณะกรรมการประมงจังหวัดแทนที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดกติกาที่ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่
– คณะกรรมการประมงจังหวัด สามารถกำหนดกติกาหรือโซนนิ่งการทำประมงได้ถึง 12 ไมล์ทะเลเพื่อคุ้มครองประมงพื้นบ้าน
(2) ส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงไทย เจาะตลาดโลก
– ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่มีเหตุผลสร้างภาระโดยไม่จำเป็น เช่น ยกเลิกทะเบียนหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ของแรงงานข้ามชาติสำหรับกิจการประมงในราชอาณาจักร เมื่อขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานแล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประมงอีก
– เพิ่มโอกาสของอุตสาหกรรมต่อเรือประมง สามารถจดทะเบียนเรือเพื่อส่งออกเรือประมงได้
– เพิ่มอำนาจคุ้มครองสินค้าประมงนำเข้า สำหรับประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองประมงตามมาตรฐานสากล
แม้กฎหมายผ่านสภาฯ แล้ว แต่มีอีกหลายเรื่องต้องขับเคลื่อนต่อ พรรคประชาชนพร้อมเคียงข้างพี่น้องชาวประมง ผลักดันการแก้ไขกฎหมายประมงทั้งระบบให้เป็นธรรม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงไทยและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนถึงคนรุ่นหลัง
[ ข้อกังวลประมงพื้นบ้าน ]
อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่ สส. แต่ละพรรคมีความเห็นอย่างหลากหลาย คือการแก้ไขมาตรา 69 ในกฎหมายเดิม
มาตราดังกล่าวกำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร (หรืออวนตาถี่) ทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน สาระสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรืออวนล้อมจับปลากะตักที่เป็นปลาขนาดเล็ก และเป็นการห้ามทำประมงในเวลากลางคืน
แต่ในทางปฏิบัติ ผลลัพธ์ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การจับปลากะตักน้อยกว่าโควตาจับปลา (MSY) ที่กรมประมงกำหนด มีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้โรงงานน้ำปลาในภาคตะวันออกต้องปิดตัว
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ชาวประมงพาณิชย์และกรมประมงเสนอปลดล็อกให้ทำการประมงในเวลากลางคืนได้ แต่ต้องนอกเขต 12 ไมล์ทะเลเท่านั้นเพื่อไม่ให้กระทบเขตประมงชายฝั่ง จึงแก้ไขมาตรานี้โดยเพิ่มไปว่า (1) ผ่อนปรนให้ทำประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล (2) แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด มีกฎหมายลูกมาควบคุม ไม่ว่าจะเป็น การใช้แสงไฟล่อปลา, ตาอวน, จำนวนเรือ และการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อย เพื่อไม่ให้กระทบความยั่งยืนของการทำประมง
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ตาอวนที่ทำการประมงปลากะตักในเวลากลางวัน ปัจจุบันคือ 6 มิลลิเมตร อวนที่ขนาดเล็กกว่านั้นผิดกฎหมายทั้งสิ้น
ส่วนข้อกังวลว่าการใช้อวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางคืนจะทำให้เกิดการจับลูกปลามากขึ้นหรือไม่ ในร่างฉบับ กมธ. มีการแก้ไขให้จำกัดหรือห้ามเครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนเกินเกณฑ์ที่กำหนด คุ้มครองไว้ด้วย
พรรคประชาชนเข้าใจข้อกังวลของกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ไม่มั่นใจว่ากฎหมายลูกของฝ่ายบริหารจะวางหลักเกณฑ์ออกมาเป็นอย่างไร จะบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่หรือไม่ เพื่อสะท้อนความกังวลนี้ จึงเป็นที่มาที่พรรคประชาชนงดออกเสียง โดยเราจะติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลและกรมประมงอย่างเข้มข้น รวมถึงเสนอหลักเกณฑ์เพื่อทำให้กฎหมายลำดับรองที่จะออกมา สามารถรักษาความยั่งยืนของการประมงไทยต่อไป
ทั้งนี้ การลงมติด้วยการงดออกเสียงของพรรคประชาชนในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และฝ่้ายที่คัดค้านการแก้ไขมาตรา 69 โดยให้เหตุผลในทำนองไม่อยู่เคียงข้างชาวประมงพื้นบ้าน