วิกฤต ‘พะยูน’ เกยตื้น-ถูกตัดเขี้ยว ‘เฉลิมชัย’ สั่งล่า

by Pom Pom

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ห่วงประชากร “พะยูน” หลังพบถูกเลาะเขี้ยว 2 ข้าง สร้างความสะเทือนใจ มอบหมายกรมทรัพย์ฯ-กรมอุทยานฯ ผนึกกำลังเครือข่าย สืบสวนหาผู้กระทำผิด

จากเหตุการณ์ที่พบ “พะยูน” เกยตื้นบริเวณอ่าวโล๊ะใหญ่ จังหวัดกระบี่ และถูกตัดเขี้ยวทั้งสองข้างหลังจากเสียชีวิตไปแล้วนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประชุมหารือเพื่อวางแผนดำเนินการ พร้อมเร่งสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรณีพะยูนเกยตื้นที่อ่าวโล๊ะใหญ่ จังหวัดกระบี่ และถูกตัดเขี้ยวทั้งสองข้างนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ โดยพบว่ามีผู้ไม่หวังดีตัดเขี้ยวพะยูนเพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ผิด ๆ ว่าน้ำตาพะยูน (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตาดุหยง”) เขี้ยว และไขมันของพะยูนสามารถนำไปใช้ทำยาเสน่ห์ได้ โดยมีการซื้อขายในราคาค่อนข้างสูง หลังจากทราบเรื่อง รมว.ทส. ได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว และชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดงจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่น บูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายอย่างเข้มข้น เพื่อสืบหาข้อมูลเชิงลึกและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อระดมกำลังสืบสวนและตรวจสอบกระบวนการลักลอบตัดเขี้ยวพะยูนอย่างละเอียด

พบพะยูนถูกตัดเขี้ยว

นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดการประชุมเร่งด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์พะยูนเกยตื้นในปัจจุบัน รวมถึงกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการตายของพะยูน จากการประชุมเบื้องต้น มีการมอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือพะยูนที่ติดเครื่องมือประมง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากกิจกรรมของมนุษย์ พร้อมทั้งขยายเครือข่ายในชุมชนท้องถิ่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแสเมื่อพบพะยูนเจ็บป่วย เกยตื้น หรือมีการกระทำผิดต่อสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชาวประมงชายฝั่ง และนักท่องเที่ยว ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือ ชะลอความเร็วเรือเมื่อเข้าใกล้ปากร่องน้ำหรือแหล่งหญ้าทะเล โดยศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้ติดตั้งทุ่นธงสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์กำหนดเขตชะลอความเร็วเรือบริเวณขอบเขตแหล่งหญ้าทะเลเรียบร้อยแล้ว

สถานการณ์วิกฤตพะยูน

สำหรับสาเหตุการตายของพะยูนในช่วงระหว่างปี 2562-2568 พบว่า อันดับแรกคือการป่วยและขาดอาหาร ซึ่งคร่าชีวิตพะยูนไปเกือบ 3 ใน 4 จึงจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลอย่างจริงจัง ส่วนอีก 1 ใน 4 เสียชีวิตจากเครื่องมือประมงและการสัญจรทางน้ำ ซึ่งต้องมีมาตรการคุ้มครองในพื้นที่อยู่อาศัยของพะยูนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันพบแนวโน้มปัญหาการป่วย ขาดอาหาร ติดเครื่องมือประมง และถูกเรือชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดร.ปิ่นสักก์ ยังเตือนผู้ที่ครอบครองซากชิ้นส่วนของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดแรกของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมาตรา 89 ระบุว่า หากฝ่าฝืนต่อสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าสงวน จะมีโทษจำคุก 3-15 ปี หรือปรับ 300,000-1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ดร.ปิ่นสักก์ ขอความร่วมมือจากประชาชน หากพบเห็นหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ตัดเขี้ยวพะยูน สามารถแจ้งเบาะแสลับได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล หมายเลข 1362 เพื่อร่วมกันปกป้องพะยูนและสัตว์ทะเลหายากให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวปิดท้าย

Copyright @2021 – All Right Reserved.