23 พฤษภาคม ‘วันเต่าโลก’ ร่วมปกป้องเพื่อนร่วมโลกตัวน้อย

by Pom Pom

23 พฤษภาคม “วันเต่าโลก” ชวนทุกคนมาช่วยปกป้องเต่า สัตว์ทนทานที่เผชิญภัยจากมลพิษและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ เริ่มง่ายๆ ด้วยการลดขยะและส่งต่อความรู้

ทุกวันที่ 23 พฤษภาคมของแต่ละปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันเต่าโลก” (World Turtle Day) ซึ่งเป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเต่า และกระดองเต่า รวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ที่มีเอกลักษณ์นี้ให้คงอยู่กับธรรมชาติต่อไป วันนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับเต่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องสัตว์ที่เปราะบางต่อการสูญพันธุ์นี้ด้วย

ที่มาของวันเต่าโลก

วันเต่าโลก เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2000 โดยความริเริ่มของ American Tortoise Rescue (ATR) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งโดย Susan Tellem และ Marshall Thompson ด้วยเป้าหมายเพื่อปกป้องเต่าและกระดองเต่าทั้งในน้ำและบนบก วันที่ 23 พฤษภาคมถูกเลือกให้เป็นวันพิเศษเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์เหล่านี้ รวมถึงภัยคุกคามที่พวกเขากำลังเผชิญ เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การค้าสัตว์เลี้ยง และมลพิษ

ความสำคัญของเต่าในระบบนิเวศ

  • เต่าทะเล: ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล เช่น การกินหญ้าทะเลที่ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของพืชใต้น้ำ และการกินแมงกะพรุนที่ช่วยควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้
  • เต่าบก: ช่วยกระจายเมล็ดพืชผ่านการกินผลไม้และการขับถ่าย ซึ่งส่งเสริมความหลากหลายทางพืชในป่า
  • สัญลักษณ์ของความยั่งยืน: เต่ามีอายุยืนยาว บางชนิดมีชีวิตได้นานกว่า 100 ปี เป็นตัวแทนของความอดทนและการอยู่รอดในธรรมชาติ

ภัยคุกคามต่อเต่า

แต่ในปัจจุบัน เต่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การพัฒนาที่ดินและการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เต่าบกสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย ส่วนเต่าทะเลต้องเผชิญกับการทำลายแนวปะการังและชายหาดที่เป็นแหล่งวางไข่ รวมถึง การค้าสัตว์เลี้ยง เต่าหลายชนิดถูกจับเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่งผลให้จำนวนประชากรในธรรมชาติลดลง

และประเด็นสำคัญ มลพิษ ขยะพลาสติกในทะเล ทำให้เต่าทะเลกินพลาสติกเข้าไปโดยเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร เช่น ถุงพลาสติกที่คล้ายแมงกะพรุน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อการฟักตัวของเต่าทะเล โดยเฉพาะการกำหนดเพศของลูกเต่าที่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของทราย

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์เชิญชวน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการลดจำนวนลงของเต่าทุกประเภท ทั้งเต่าบก เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว แต่ในปัจจุบันเต่าอายุสั้นลง เป็นผลจากปัจจัยต่างๆ เช่น มลพิษ การล่า พื้นที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม จึงมีการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์เต่า และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเลที่ถูกทำร้าย ให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ ก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติอย่างถูกต้อง และร่วมกันอนุรักษ์เต่าอย่างจริงจัง

โดยการอนุรักษ์เต่าให้ถูกวิธี เต่าแต่ละชนิดมีที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน และไม่ใช่เต่าทุกชนิดจะว่ายน้ำได้

  •      เต่าบก ว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าปล่อยลงน้ำจะจม เนื่องจากกระดองเต่ามีน้ำหนักมาก
  •      เต่าน้ำจืด ว่ายน้ำได้แต่ต้องการพื้นดินไว้พักในการว่ายน้ำด้วย
  •      เต่าทะเล อาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นตอนวางไข่ จะขึ้นมาวางไข่บนบก เช่น ชายหาด

Copyright @2021 – All Right Reserved.