กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution: ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน” ส่งเสริมทุกภาคส่วนร่วมลดขยะพลาสติก มุ่งสู่เป้าหมายรีไซเคิล 100% ภายในปี 2570
วันที่ 5 มิถุนายน 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิดระดับโลก “Beat Plastic Pollution: Ending global plastic pollution ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกอย่างยั่งยืน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย Ms. Marlene Nilsson รองผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี โดยมากกว่าครึ่งเป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียว และมีเพียงไม่ถึง 10% ที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล นอกจากนี้ พลาสติกยังก่อให้เกิดไมโครพลาสติกปะปนในสิ่งแวดล้อม และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลาสติกจะคิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด สำหรับประเทศไทย ผลิตพลาสติก 9 ล้านตันต่อปี โดย 36% เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียว ในปี 2567 มีขยะพลาสติกเกิดขึ้น 2.88 ล้านตัน และนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 25% เท่านั้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution: ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ เปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน”
นายนราพัฒน์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งตั้งเป้าลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งมีมาตรการเด่น เช่น ห้ามใช้พลาสติกบางประเภท ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไมโครบีดส์ ยกเลิกแคปซีลบนฝาขวดน้ำดื่ม และห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดบางที่มีความหนาต่ำกว่า 36 ไมครอน ขณะที่แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งบริหารจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร โดยเน้นส่งเสริมการรีไซเคิล 100% นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟทั่วประเทศ จำนวน 45 หน่วยงาน รวม 31,637 ร้าน/สาขา ประกาศเจตนารมณ์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำทรัพยากรกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
กระทรวงฯ ยังผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. .. ภายใต้หลักการ EPR ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์มีส่วนร่วมในการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของเลขาธิการรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายนราพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ใช้พลาสติกอย่างเข้าใจ ใช้เท่าที่จำเป็นและคุ้มค่า และนำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้ยั่งยืน”
ภายในงานมีการเสวนา Ted Talk ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution: Ending global plastic pollution” โดยคณะวิทยากรผู้มากประสบการณ์ ถ่ายทอดความรู้และแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน พร้อมกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม เช่น การทดสอบความรู้และร่วมแก้ไขวิกฤตพลาสติก มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยงานนี้จัดแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์