8 เรื่องว้าวๆ ของเสือกระต่าย

เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปี ที่ผมถ่ายภาพของแมวป่า หรือเสือกระต่าย (Jungle Cat) ได้สำเร็จ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน ม.ค. 2560 ถือโอกาสนี้ค้นคว้าเรื่อง “ว้าวๆ” ของเสือกระต่ายมาให้อ่านกัน ในสไตล์เบาสมอง แต่ได้ความรู้

โดยผมใช้เวลาอ่านรวบรวมข้อมูลร่วม 3 วัน ก่อนเขียนนาน 3 ชั่วโมง จาก 3 แหล่งหลัก คือ หนังสือ “Wild Cats of the World” ของ Mel and Fiona Sunquist “Wild Cats of the World” ของ Luke Hunter และเว็บไซต์ www.catsg.org (Cat Specialist Group) ซึ่งทั้ง 3 แหล่งมีความน่าเชื่อถือสูง

ตรงไหนเสริมความเห็นส่วนตัวของผมเองจะใส่ * ไว้ให้ทราบ

1.เสือกระต่ายก็เป็น “มัมมี่แมว”

ประเทศอียิปต์ เป็นประเทศเดียวในทวีปแอฟริกาที่มีเสือกระต่ายอาศัยอยู่ เสือกระต่ายที่นั่นเลยได้รับประสบการณ์แนวไอยคุปต์โบราณ คือการถูกจับทำมัมมี่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่ามัมมี่แมวจำนวน 190 ตัว เป็นเสือกระต่ายแค่ 3 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นแมวที่แพร่หลายที่นั่นมากกว่าอย่าง African Wildcat

*เป็นไปได้ไหม เสือกระต่ายของคนอียิปต์ อาจมีสถานะเป็น Exotic Pet หรือเป็นสัตว์แปลกที่ถูกจับมาเลี้ยง?

2.ชื่อ Jungle แต่เกลียด Jungle

เสือกระต่ายกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง โดยตะวันออกสุดคือเวียดนาม กินแดนไปทางตะวันตกทั่วเอเชียยันยุโรป แล้วข้ามฟากไปสุดทางที่อียิปต์ โดยจะไม่กินแดนไปทางเหนือมากนัก

ชอบอยู่ตามพื้นราบ ความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร แต่ก็มีรายงานสูงสุดแถบเทือกเขาหิมาลัย ที่ความสูง 2,400 เมตร

ปรับตัวอยู่ได้ในถิ่นอาศัยแทบทุกรูปแบบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งแล้ง ทุ่งหญ้าสเตปป์ พงหญ้าสูง พื้นที่ชุ่มน้ำ ทะเลทราย พื้นที่กสิกรรรม (เช่นในไร่อ้อย) โดยจะไม่ยอมอยู่เด็ดขาดในที่มีอากาศหนาวจัดถึงจุดเยือกแข็ง หรือมีหิมะตกหนัก อย่างดินแดนเหนือสุดที่พบเสือกระต่าย ที่ทางตอนใต้ของรัสเซีย อุณหภูมิเฉลี่ยหน้าหนาวอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส

และถิ่นที่ไม่ชอบมากๆ ก็คือ ป่าดงดิบแนว Jungle นักวิชาการฝรั่งเองก็ยังมึนๆ แล้วชื่อ Jungle Cat ท่านได้แต่ใดมา?

3.เหยื่อหลักไม่ยักใช่กระต่าย

*ชื่อ “เสือกระต่าย” ถือเป็นชื่อที่เร้าอารมณ์ในตัว เหนือกว่าชื่อหลักอย่าง “แมวป่า” การสันนิษฐานที่มาของชื่อแตกเป็น 2 ทาง 1.มีหูตั้งคล้ายกระต่าย 2.ชอบกินกระต่าย

เมื่อพิจารณาจากชื่อท้องถิ่นภาคเหนือของไทย (ซึ่งดั้งเดิมน่าจะมีเสือกระต่ายมากกว่าภาคอื่นด้วย) ที่เรียกมันว่า “ก๊ะกระต่าย” (ผีกินกระต่าย) จึงน่าเชื่อว่าที่มาของชื่อ มาจากพฤติกรรมกินกระต่าย ไม่ใช่รูปทรงใบหู

จริงๆแล้ว เสือกระต่ายเป็น “ขาแดก” ที่กินอาหารได้หลากหลายสุดๆ สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่น้ำหนักต่ำกว่า 1 กก. อยู่ในเมนูของมันทั้งนั้น ไม่ว่าจะหนู กระรอก นก จิ้งเหลน กิ้งก่า แมลง กบ เขียด ปลา โดยเหยื่อหลักคือหนู ส่วนกระต่ายก็แค่อาหารเสริม

ในอัฟกานิสถาน เคยมีการตรวจดูอาหารในกระเพาะของเสือกระต่าย 3 ตัว รวมแล้วเป็น หนูเล็ก (Mice) 19 ตัว หนูใหญ่ (Rat) 3 ตัว และกบ 9 ตัว

แม้จะเน้นกินสัตว์เล็กๆ แต่มันก็ล่าสัตว์ที่ใหญ่กว่ามันได้ด้วย เช่น กวางกาแซลวัยรุ่น นากหญ้า (จากฟาร์ม) ลูกกวางดาว ทั้งนี้ กวางดาวจะร้องเสียงเตือนภัยเมื่อเห็นเสือกระต่าย เป็นลักษณะการยอมรับว่าเสือกระต่ายเป็นสัตว์ผู้ล่าอันตราย

เสือกระต่ายก็กินผลไม้ด้วย โดยในฤดูหนาวที่อาหารขาดแคลน เสือกระต่ายในอุซเบกิสถาน กินผลไม้ถึง 17% ของอาหารทั้งหมด

4.เทคนิคการล่าแพรวพราว

เสือกระต่ายล่าเหยื่อในสไตล์แมวทั่วไป คือย่องเข้าหา แล้ววิ่งอย่างเร็วเข้าตะครุบ โดยมีคนที่ทำสำเร็จในอิหร่าน จับสปีดการวิ่งของเสือกระต่ายไว้ได้ที่ 20 ไมล์ หรือ 32 กม.ต่อชั่วโมง

แต่เสือกระต่ายไม่ใช่แค่วิ่งล่าเหยื่ออย่างเดียว มันยังผสมผสานเทคนิคการล่าอื่นๆ ได้หลายแบบ เช่น การสปริงตัวโดดขึ้นไปตรงๆ เพื่อจับนกบินกลางอากาศ เป็นเทคนิคอันเป็นเครื่องหมายการค้าของแมว Caracal นอกจากนี้ ยังโดดตัวลอยวิถีโค้งลงมาตะครุบเหยื่อในป่าหญ้าสูง อันนี้ก็เป็นเครื่องหมายการค้าของแมว Serval

ทั้ง Caracal และ Serval ต่างเป็นแมว “เจ้าทุ่ง” ที่มีช่วงขายาวพิเศษ แบบเดียวกับเสือกระต่าย

5.มีเสือกระต่ายที่ไหน มีหมาจิ้งจอกที่นั่น

จากถิ่นอาศัยและแหล่งกระจายพันธุ์อันกว้างใหญ่ไพศาลของเสือกระต่าย มีความจริงข้อหนึ่งก็คือ พื้นที่เหล่านั้น ส่วนใหญ่ทับซ้อนอยู่กับหมาจิ้งจอก (Golden Jackal) ซึ่งก็เป็นสัตว์ผู้ล่า “ขาแดก” หรือนักปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตัวฉกาจไม่แพ้กัน

ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า เสือกระต่ายกับหมาจิ้งจอก แข่งขันชิงดีชิงเด่นกันอย่างไรในแต่ละแหล่งอาศัย แต่มีข้อสันนิษฐานว่าบางที หมาจิ้งจอกอาจเป็นภัยคุกคามของลูกๆ เสือกระต่ายก็เป็นได้

*ป่าอมก๋อย บ้านหลังสุดท้ายของเสือกระต่ายไทย ก็เป็นแหล่งที่มีหมาจิ้งจอกชุกชุม ตอนกลางคืนมีเสียงเห่าหอนของหมาจิ้งจอกระงมไปทั่ว และมันก็มาเข้ากล้อง Camera Trap ที่ผมตั้งไว้ทั้ง 2 จุด

ขณะที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีหมาจิ้งจอกชุกชุมเช่นกัน ก็มีการคาดการณ์ว่า “น่าจะ” หรือ “เคยมี” เสือกระต่าย

6.ใครกินชีวิต “เสือกระต่าย”?

ผู้ล่าก็เป็นผู้ถูกล่าได้ในเวลาเดียวกัน เสือกระต่ายในศรีลังกา ถูกเสือดาวจับกินบ้างแบบนานทีปีหน ที่อินเดีย พบซากเสือกระต่ายที่ถูกงูเหลือมกลืนลงท้องไป

แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดเป็นการพบที่ปากีสถาน เสือกระต่ายกับงูเห่าตายอยู่ด้วยกัน ในการต่อสู้ที่ดุเดือดถึงชีวิต โดยงูเห่ายังคงรัดร่างของเสือกระต่ายไว้

ในพื้นที่ของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์แห่งหนึ่งของเนปาล ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเสือกระต่ายเข้าไปอาศัยอยู่ จากการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี พบว่าหมาจรกัดเสือกระต่ายตายไป 2 ตัว อีก 2 ตัวต้องหนีจากไป สันนิษฐานว่าการถูกฆ่าและไล่กวดโดยหมาจร ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตเสือกระต่าย พวกที่อาศัยใกล้คน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ล่าไหนๆ จะโหดร้ายเท่ามนุษย์ (ตามเคย) ในอดีตของอินเดีย เสือกระต่ายมหาศาลถูกล่าเพื่อค้าหนัง จนกระทั่งปี 1979 รัฐบาลอินเดียจึงประกาศห้ามธุรกิจนี้ และมีการพบหนังเสือกระต่ายของผู้ค้าที่เตรียมส่งออก จำนวนถึง 306,343 ผืน!

ขณะที่การล่าโดยการใช้แร้ว เพื่อดักสัตว์แบบไม่เลือกหน้า อันเป็นวิธีการที่แพร่หลายในไทยและลาว น่าจะเป็นตัวการสำคัญ ทำให้เสือกระต่ายที่เคยมีมากมาย กลายเป็นสัตว์หายากสุดๆ ในทุกวันนี้แถวเอเชียอาคเนย์

7.เสือกระต่ายตัวผู้ชอบเลี้ยงลูก

ปกติวิสัยของสัตว์ตระกูลแมว จะเป็นแนว “ศิลปินเดี่ยว” หรือ “จอมยุทธโดดเดี่ยว” จะมารวมตัวกันก็ตอนจับคู่ผสมพันธุ์เท่านั้น จากนั้นก็ทางใครทางมัน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเสือกระต่ายในกรง ตัวผู้เป็น “แฟมิลี่แมน” เอาการเอางานกับการเลี้ยงลูกเสียยิ่งกว่าตัวเมีย! นอกจากนี้ มีรายงานการพบพ่อ-แม่-ลูก เสือกระต่าย ขณะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกต่างหาก

*รายงานน่าตื่นเต้นเหล่านี้ อาจใช้เป็นตัวแทนของเสือกระต่ายทุกตัวไม่ได้ เพราะผมเคยเห็นมากับตาเช่นกัน แมวบ้านตัวผู้คร่ำเคร่งกับการดูแลลูกแมว และแสดงอาการดุร้ายใส่เมื่อมีคนเข้าไปใกล้ เป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว

8.เสือกระต่ายดำ vs เสือกระต่ายเผือก

ไม่ใช่มีแต่เสือดาว ที่มีภาวะของ melanistic จนกลายเป็นเสือดำ แต่เสือกระต่ายก็เอากับเขาด้วย เมื่อไม่กี่นี้เอง กล้องดักถ่ายในอุทยานฯ รัมธัมบอร์ ของอินเดีย ได้ภาพของ “เสือกระต่ายดำ” ซึ่งหายากมากที่นั่น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่ของแปลกแต่อย่างใดในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของปากีสถาน ที่นั่นการพบ “เสือกระต่ายดำ” ถือเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเสือกระต่ายเผือก หรือ albinism การสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายในป่าโกงกาง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ได้ภาพของ “เสือกระต่ายเผือก”และ “หมาจิ้งจอกเผือก” แต่จากภาพ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าถึงขั้น “เผือกแท้” (ลูกตาแดง) หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีเสือกระต่ายและหมาจิ้งจอกอาศัยอยู่อย่างเบาบาง พวกมันอาจผสมพันธุ์ในหมู่เครือญาติ นำมาสู่ความผิดปกติของสี

Copyright @2021 – All Right Reserved.