COP29 จะเพิ่มความจุพลังงานสำรองทั่วโลกหกเท่า สร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และกระตุ้นตลาดไฮโดรเจนสะอาด
การประชุม COP29 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำจาก 198 ภาคีสมาชิก (197 ประเทศบวกสหภาพยุโรป) ต้องร่วมกำหนดชะตากรรมโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปีนี้มีประเด็นการหารือเรื่องการตั้งเป้าหมายใหม่ด้านการเงินเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และการผลักดันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ
การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ หรือ New Collective Quantified Goal (NCQG) หนึ่งในความท้าทายสำคัญของเวที COP29 เพื่อแทนเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้เมื่อปี 2552 โดยระบุให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนเงินทุน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีให้กับประเทศกำลังพัฒนา เป้าหมายเดิมนี้จะหมดอายุในปี 2568 และผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า เป้าหมายใหม่ควรเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากประเด็นการเงินแล้ว การลดการใช้พลังงานฟอสซิลก็เป็นอีกหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยประเทศในยุโรปได้เรียกร้องให้มีการระบุความมุ่งมั่นนี้ในข้อตกลงของ COP29 อย่างชัดเจน (1) (3)
การประชุม COP29 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดตัวคำมั่นด้านพลังงาน 3 ประการที่มุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานทั่วโลก คำมั่นแรกคือ Global Energy Storage and Grids Pledge ที่ตั้งเป้าเพิ่มความจุพลังงานสำรองทั่วโลกให้ได้ 1,500 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นหกเท่า พร้อมขยายเครือข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนสามเท่า คำมั่นที่สอง Green Energy Zones and Corridors Pledge มุ่งสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำมั่นนี้ในการสนับสนุนการขยายโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ สำหรับคำมั่นสุดท้าย Hydrogen Declaration มีเป้าหมายในการกระตุ้นตลาดไฮโดรเจนสะอาด โดยให้ความสำคัญกับไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ย้ำว่าไฮโดรเจนไม่ควรเป็นเหตุผลให้ชะลอการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (2)
นอกจากคำมั่นด้านพลังงานแล้ว การสนับสนุนด้านการลงทุนก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานครั้งนี้ โดยธนาคารพัฒนาแห่งยุโรป (EBRD) ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และธนาคารโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ได้ตกลงร่วมกันสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซอร์ไบจาน 2 แห่ง ซึ่งใช้งบประมาณรวมกว่า 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังเป็นตัวอย่างสำคัญของการร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรทางการเงินในการผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ขยายตัวในระดับโลก (2)
ทว่าการเจรจาในประเด็นดังกล่าวยังมีความซับซ้อน โดยต้องกำหนดโครงสร้างของเป้าหมายใหม่ เช่น แหล่งที่มาของเงินทุน รูปแบบการสนับสนุน เช่น การให้เปล่าหรือเงินกู้ และข้อกำหนดการรายงานความโปร่งใส แม้ว่าจะมีข้อเสนอที่หลากหลาย แต่ความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนายังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการตกลงร่วมกัน (4)
ทั้งนี้ การประชุมยังได้เร่งรัดการจัดตั้งตลาดคาร์บอนระดับโลกตามมาตรา 6.4 ของความตกลงปารีส ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนโครงการลดการปล่อยก๊าซ เช่น การปลูกป่า แม้ว่าจะมีการพัฒนาข้อกำหนดบางประการ แต่การกำกับดูแลยังเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้ตลาดนี้มีความโปร่งใส และน่าเชื่อถือ (2)
ในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ มีหลายประเทศที่ประกาศเป้าหมายที่น่าสนใจ เช่น สหราชอาณาจักรที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ 81% ภายในปี 2578 ขณะที่บราซิลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีเป้าหมายใหม่ในปี 2578 เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายเหล่านี้ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5°C (2) (3)
แม้จะมีความพยายามในหลายด้าน แต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลวง โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น อินโดนีเซียซึ่งยังต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานในระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ (2)
ในแง่ของการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่า ประเทศเปราะบางต้องการเงินถึง 359,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพื่อรองรับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การสนับสนุนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความต้องการอย่างมาก โดยปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียง 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 (5)
การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงินในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการส่งเสริมตลาดคาร์บอนคุณภาพสูง การลดอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และการสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางการเงิน เช่น การเก็บภาษีจากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง (3)
อีกหนึ่งความท้าท้ายที่ถูกพูดถึงคือการจัดการกับขยะอาหาร รายงานล่าสุดเผยว่า มีเพียง 12% ของประเทศที่เข้าร่วมเวที COP29 เท่านั้นที่กำหนดนโยบายลดขยะอาหารในระดับชาติ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ (2)
แม้การประชุม COP29 จะมีความคืบหน้าไปในหลายประเด็นสำคัญ แต่ยังมีข้อท้าทายใหญ่หลวงที่ต้องแก้ไขในอนาคต ทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ การสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอ และการดำเนินการตามเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
อ้างอิง:
(1) https://www.reuters.com/sustainability/climate-energy/cop29-climate-talks-enter-final-stretch-what-happens-next-2024-11-20/
(2) https://earth.org/cop29-week-1-recap/
(3) https://www.wri.org/un-climate-change-conference-resource-hub/key-issues
(4) https://eciu.net/insights/2024/cop29-past-achievements-and-challenges-ahead
(5) https://www.straitstimes.com/world/developing-world-faces-multi-billion-climate-adaptation-cash-gap-un-report-says