ความมุ่งมั่นผลิตพลังงานสะอาดโลก เส้นทางพิชิตเป้าหมายที่เป็นไปได้?

by Chetbakers

การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานแสงอาทิตย์และลม ได้นำโลกมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2566 นั่นคือการผลิตพลังงานจากฟอสซิลเริ่มลดลงในระดับโลก

ปี 2566 กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมีการเติบโตที่โดดเด่นในจีน ซึ่งสามารถติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เท่ากับความจุทั่วโลกในปีก่อนหน้า และเพิ่มพลังงานลมถึง 66% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และบราซิลก็มีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยคาดว่าพลังงานแสงอาทิตย์และลมจะขยายตัวคิดเป็น 96% ของความจุพลังงานใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าพลังงานทางเลือกอื่น ๆ คาดว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกิน 42% ภายในปี 2571 (1)

การเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และลมทำให้โลกสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเกิน 30% เป็นครั้งแรกในปี 2566 ตามรายงานของ Ember ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยพลังงานระดับโลก ตั้งแต่ปี 2543 พลังงานหมุนเวียนได้ขยายตัวจาก 19% เป็นมากกว่า 30% ของไฟฟ้าทั่วโลก โดยพลังงานแสงอาทิตย์และลมเพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในปี 2543 สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.4% ในปี 2566 ที่ผ่านมา และผลที่ตามมาอีกด้วยคือ ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกลดลงถึงระดับต่ำสุดในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2550 ถึง 12% (2)

จากรายงาน Global Electricity Review ได้นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมระบบไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2566 จากข้อมูลระดับประเทศ และเผยแพร่ควบคู่กับชุดข้อมูลเปิดเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าในปีเดียวกัน ซึ่งครอบคลุม 80 ประเทศที่มีความต้องการไฟฟ้า 92% ของโลก รวมถึงข้อมูลจาก 215 ประเทศ รายงานดังกล่าวสรุปว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานแสงอาทิตย์และลมได้นำโลกมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2566 นั่นคือการผลิตพลังงานจากฟอสซิลเริ่มลดลงในระดับโลก (3)

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น แต่พลังงานน้ำกลับลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากเกิดภัยแล้งในจีนและประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้การผลิตพลังงานจากถ่านหินเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย โดย 95% ของการเพิ่มขึ้นเกิดในจีน อินเดีย เวียดนาม และเม็กซิโก แม้จะมีความท้าทาย แต่การเติบโตของพลังงานสะอาดคาดว่า ช่วยชะลอการเติบโตของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถึงสองในสามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2)

ในการประชุม COP28 ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2566 ผู้นำระดับโลกได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกให้เป็นสามเท่าภายในปี 2573 เป้าหมายดังกล่าวจะทำให้โลกมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 60% ภายใน 6 ปีที่จะถึงนี้ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานไฟฟ้าเกือบครึ่งหนึ่ง และวางเส้นทางให้โลกสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่จำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (2)

เป้าหมายจาก COP28 ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ COP29 จะนำมาต่อยอดและขยายผลต่อไป ทั้งการเพิ่มความทะเยอทะยานในการดำเนินการและการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดย COP29 ที่ผ่านมานี้ เป้าหมายสำหรับปี 2573 ยังคงเน้นย้ำถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการขยายการลงทุนในพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า การระดมทุนเพื่อรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะต้องเพิ่มขึ้นสามเท่าเป็น 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเต็มรูปแบบ (4)

การกำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนระดับโลกถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และความร้อนใต้พิภพ ช่วยกระจายแหล่งพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด การสร้างงานจำนวนมาก และประโยชน์ด้านสุขภาพจากการลดมลพิษทางอากาศ (5)

ทว่าเป้าหมายเหล่านี้ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่สูง ความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหากไม่มีแผนการเปลี่ยนผ่านที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น การสนับสนุนการพัฒนาทักษะใหม่ และการจัดหางานในภาคพลังงานสะอาด (5)

การจะบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศและเจตจำนงระดับโลกที่เข้มแข็ง แม้หลายประเทศจะสนับสนุนเป้าหมายนี้ในเวทีโลก เช่น สหภาพยุโรปและกลุ่ม G7 แต่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงที่มีผลผูกพันยังคงเผชิญกับอุปสรรค ทั้งจากความแตกต่างด้านการพัฒนาและผลประโยชน์ระหว่างประเทศ การวางแผนนโยบายที่รอบคอบและครอบคลุมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน และยุติธรรม (5)

อย่างไรก็ดี เป้าหมายของ COP28 ในการเพิ่มความจุพลังงานหมุนเวียนสามเท่า และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2573 ยังต้องการความพยายามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินและการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา อุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การขออนุญาตการใช้ที่ดิน การยอมรับของชุมชน และการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องการการบริหารจัดการที่รวดเร็ว และการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (1)

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนยังต้องเน้นความเท่าเทียมทั่วโลก ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับปรุงการใช้พลังงาน เช่น การลดต้นทุนผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถช่วยลดผลกระทบด้านพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการลดคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างพลังงานสะอาด และความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต (1)

อ้างอิง:
(1) https://www.weforum.org/stories/2024/02/renewables-energy-capacity-demand-growth/
(2) https://ember-energy.org/latest-updates/world-passes-30-renewable-electricity-milestone
(3) https://ember-energy.org/latest-insights/global-electricity-review-2024/
(4) https://www.iea.org/news/chairs-summary-and-call-to-action-cop29-iea-high-level-energy-transition-dialogues
(5) https://www.worldfuturecouncil.org/global-renewable-energy-goal

Copyright @2021 – All Right Reserved.