ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นวิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นและทำให้กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ติดอันดับท็อป 10 ของโลก
ฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นในทุกปี กลายเป็นวิกฤตสภาพอากาศที่สร้างผลกระทบรุนแรง ทำให้บางจังหวัดของประเทศไทย อย่างเช่น กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ติดอันดับท็อป 10 ของโลก จากข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ของ IQAir ณ วันที่ 7 มีนาคม 2568 เชียงใหม่ ติดอันดับ 1 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ในขณะที่ก่อนนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับ 9 ของโลก (ข้อมูลอันดับดัชนีคุณภาพอากาศ AQI เป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์อันดับจึงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา) (1) (2)
รายงานของธนาคารโลก ปี 2565 ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้คนไทยผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย เป็นวิกฤตที่เกิดต่อเนื่องมาหลายปี และดูจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน ในขณะที่ภาพใหญ่ของปัญหามลพิษอากาศโลกประเมินว่า ประชากรโลกกว่า 80% ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากฝุ่น PM2.5 โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 6.1% ของ GDP โลก (4)
การประเมินความเสียหายหรือผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะจากค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวจากการสูดมลพิษ โดยที่การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ซึ่งติดอันดับเมืองอันตรายจากฝุ่นพิษถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ทั้งปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จำนวน 37.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.6% จากปี 2567 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่า 1.78 ล้านล้านบาท เติบโต 6.5% จากปี 2567 โดยอัตราชะลอลงกว่าปี 2567 ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ, พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป และอื่น ๆ โดยรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 80% อยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี (3)
จากการประเมินความเสียหายหรือผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 3,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะจากค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวจากการสูดมลพิษ โดยที่การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผลกระทบจากการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ที่มีปัญหา PM2.5 สูง อีกทั้งมลพิษอากาศยังสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีความกังวล และจะไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวในระยะถัดไปด้วย หากปัญหาฝุ่น PM2.5 ในไทยยืดเยื้อจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าความสูญเสียนี้ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว (4)
นอกจากนี้จากการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละช่วงระยะเวลาพบว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม หากดัชนีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยรายเดือน จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร ลดลง จำนวน 106,060 คน และจำนวน 659,368 คน ตามลำดับ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียโอกาสจากนักท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 476.27 ล้านบาท และกรุงเทพมหานคร 4,105.13 ล้านบาท (5)
อย่างไรก็ดี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายผ่านการตอบกระทู้ถามด่วนด้วยวาจาแทนนายกรัฐมนตรี เรื่อง ฝุ่นพิษส่งผลต่อพื้นฐานชีวิตประชาชนในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญและยกระดับการทำงานเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการดำเนินงานในเชิงรุก มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะทำงานในระดับศูนย์ปฏิบัติการ อีก 3 ระดับ คือ 1) ระดับชาติ 2) ระดับภาค กรณีปัญหาฝุ่นเป็นการข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และ 3) ระดับจังหวัด (7)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการประชุมซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังควบคุมไฟป่า และหมอกควันภาคเหนือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการประชุมร่วมกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานคร ตำรวจนครบาล ตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก เพื่อวางมาตรการแนวทางการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (7)
สำหรับมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รัฐบาลได้มีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน เช่น จัดให้มี Work from Home ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า – ค่ารถเมล์ ปฏิบัติการฝนเทียม ตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงการจัดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับรับแจ้งเหตุการเผา การกวดขันรถควันดำ และพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่คลุมผ้าป้องกันฝุ่นตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เป็นต้น (7)
มาตรการในระยะยาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลรับผิดชอบในส่วนของพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีการวางมาตรการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 โดยมีเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าให้ได้ 25% จากปี 2567 (7)
ในขณะที่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมสโมสรยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่าปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรต่าง ๆ และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน (10)
ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์ฝุ่นละอองบรรเทาเบาบางลง โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนในการช่วยอุดหนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนผลผลิต เช่น นำซังข้าวโพดมาแปรรูปหรือใช้ทำเป็นพลังงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยหามาตรการจูงใจเกษตรกรให้ทำการเกษตรปลอดการเผา มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา และให้กรมวิชาการเกษตร สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรถึงผลดีผลเสียของการเผาและไม่เผา รวมถึงการนำผลผลิตไปแปรรูปใช้ประโยชน์ทดแทนการเผาเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มกับเกษตรกร (10)
มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาระบบตรวจจับฝุ่นควันและระบบแจ้งเตือนประชาชน สำหรับเรื่องสุขภาพให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ชัดเจน ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง รับมือ และกำหนดกรอบการดำเนินงานในพื้นที่ป่าให้ชัดเจนเมื่อมีแนวโน้มที่จะเกิดการเผาไหม้ ในพื้นที่อุทยานต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย พร้อมเน้นย้ำให้บูรณาการความร่วมมือการทำงานในทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ไขปัญหาและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ (9)
ถัดมาที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) และระยะ 5 ปีต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 มาตรการหลัก ดังนี้ (8)
1. การกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone) ค่าธรรมเนียมการใช้ถนน การกำหนดให้การผลิตปล่อยมลพิษต่ำ
2. การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างโดยคำนึงถึงการระบายอากาศและการสะสมมลพิษ
3. การจัดทำแผนจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชุมชนเพื่ออากาศสะอาด
4. การปรับโครงสร้างการผลิตพืชลดความเสี่ยงการเผา และการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับควบคุมการเผา
5. การกำหนดแนวทางลด/ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการพัฒนาระบบบริหารจัดการมลพิษทางอากาศแบบบูรณาการ โดยการป้องกัน ลด และควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด เพื่อให้บุคคล ชุมชน และประชาชนมีสิทธิในอากาศสะอาด มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคเมือง พร้อมสร้างเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมาย ครอบคลุมพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และมลพิษข้ามแดน (8)
ทั้งหมดนี้สอดคล้องและรองรับ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และพื้นที่เผาไหม้ (Burnt scar) ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (9)
ทั้งนี้ มาตรการที่ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2567 ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2568 ไว้ 5 มาตรการ ประกอบด้วย ดังนี้ (11)
1. ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงานภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568
2. เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานที่มีความจำเป็นเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลาง ไปยังสำนักงบประมาณเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อการดำเนินงานรับมือกับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นในช่วง ม.ค. – พ.ค. 2568
3. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการ 14 กลุ่มป่าเป้าหมาย เพื่อบัญชาการ เฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันแบบไร้รอยต่อเขตป่าหรือเขตปกครอง และบูรณาการความร่วมมือของชุมชนรอบป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทหาร เน้นความปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
4. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาในเขตเมือง
5. แต่งตั้งคณะทำงานสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง สร้างความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวด้วย
ที่มา:
(1) https://www.bangkokbiznews.com/environment/1161221
(2)https://www.facebook.com/ejan2016/posts/643517038387731
(3) https://www.kasikornresearch.com/…/TH-Tourism-CIS3545…
(4) https://thestandard.co/thailand-pm25-economic-impact…/
(5) https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:167936
(6) https://thailandcan.org/th/blog/สังคมและเศรษฐกิจไทย
(7) https://om.mnre.go.th/th/news/detail/204651
(8) https://www.onep.go.th/รองนายก-ประเสริฐ-แก้ปั/
(9) https://www.thaipbs.or.th/news/content/348942
(10) https://om.mnre.go.th/th/news/detail/200415…
(11) https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1153997