พลาสติก 7 ชนิดที่นำไปรีไซเคิลได้จะต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร สารเคมีหรือวัตถุอันตรายและต้องไม่ตากแดดเป็นเวลานาน
นอกจากการลดการใช้แล้ว (Reduce) กระบวนการรีไซเคิล (Recycle) และนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก แม้การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วส่วนใหญ่มีการปนเปื้อน ดังนั้นเพื่อให้การรีไซเคิลขยะพลาสติกเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จำเป็นจะต้องรู้จักประเภทขยะพลาสติก และเริ่มต้นด้วยการคัดแยกขยะแต่ละชนิดให้เป็นเสียก่อน (1)
มาทำความเข้าใจขยะพลาสติก 7 ประเภท ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่อง คุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล พ.ศ. 2565 ซึ่งมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำเศษพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ยกระดับคุณภาพเศษพลาสติกในประเทศให้มีปริมาณเพียงพอต่อการนำไปเป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจรีไซเคิล และเพื่อให้ประชาชน ครัวเรือน ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติกที่มีคุณภาพและมีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล (2)
ลักษณะของพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้นี้จะมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมายระบุชนิด/ประเภท เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการคัดแยก รวบรวม และนำไปรีไซเคิลกำกับไว้ อย่างเช่น พลาสติกในประเภทที่ 1 (PETE/PET) ก็จะมีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1 อยู่ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ โดยพลาสติกทั้ง 7 ประเภท ประกอบด้วย ดังนี้ (2)
1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เป็นพลาสติกใสแข็ง ทนแรงกระแทกดี ไม่เปราะแตกง่าย และกันแก๊สซึมผ่านดี นิยมใช้ทําขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา สามารถนํามารีไซเคิลเป็นเส้นใยสําหรับทําเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์หมอนหนุนนอน
2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) เป็นพลาสติกที่เหนียวและแตกยาก ค่อนข้างแข็งแต่ยืดได้มาก ทนทานต่อสารเคมีและสามารถขึ้นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่าย ใช้ทําขวดนม ขวดน้ำและบรรจุภัณฑ์สําหรับน้ำยาทําความสะอาด ยาสระผม ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า สามารถนํามารีไซเคิลเป็นขวดน้ำมันเครื่อง ท่อ ลังพลาสติก ไม้เทียม
3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) ใช้ทําท่อน้ำประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสําหรับห่ออาหาร แผ่นพลาสติกสําหรับทําประตูหน้าต่าง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก สามารถนํามารีไซเคิลเป็นท่อน้ำประปาหรือรางน้ำสําหรับการเกษตร กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ม้านั่งพลาสติก ตลับเทป เคเบิล หรือแผ่นไม้เทียม
4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene : LDPE) เป็นพลาสติกที่มีความนิ่มเหนียว ยืดตัวได้มาก ใส ทนทาน แต่ไม่ค่อยทนต่อความร้อน ใช้ทําฟิล์มห่ออาหารและห่อของ ถุงใส่ขนมปัง ถุงเย็นสําหรับบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ สามารถนํามารีไซเคิลเป็นถุงดําสําหรับใส่ขยะ ถุงหูหิ้วถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์แท่งไม้เทียม
5. พอลิพรอพิลีน (Polypropylene : PP) เป็นพลาสติกที่มีความใส ทนทานต่อความร้อน คงรูป เหนียว และทนแรงกระแทกได้ดี ทนต่อสารเคมีและน้ำมัน ใช้ทําภาชนะบรรจุอาหาร เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง กล่อง ชามจาน ถัง ตะกร้า กระบอกใส่น้ำแช่เย็น ขวดซอส แก้วโยเกิร์ต ขวดบรรจุยา ถุงร้อน หลอดดูด สามารถนํามารีไซเคิลเป็นไม้กวาดพลาสติก แปรง กล่องแบตเตอรี่ในรถยนต์ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชน กรวยสําหรับน้ำมันไฟท้าย เป็นต้น
6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เป็นพลาสติกที่มีความใส แต่เปราะและแตกง่าย ใช้ทําภาชนะบรรจุของใช้ต่าง ๆ หรือโฟมใส่อาหาร กล่องใส ช้อนส้อมพลาสติก สามารถนํามารีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ กล่องวิดีโอ ไม้บรรทัด กระเปาะเทอร์โมมิเตอร์ แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนความร้อน ถาดใส่ไข่ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
7. พลาสติกอื่นที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (จะมีชื่อของพลาสติกนั้นไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) เป็นพลาสติกแข็งใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์ เป็นพลาสติกที่นํามาหลอมใหม่ได้
ทั้งนี้ ลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะจะนําไปรีไซเคิลเหล่านี้ต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร สารเคมีหรือวัตถุอันตราย ต้องไม่ตากแดดเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ทิ้งไว้ในสภาวะอากาศทั่วไป เพราะจะทําให้คุณสมบัติของเศษพลาสติกในการยืด รีด ดึง ลดลง และต้องไม่เป็นเศษพลาสติกที่มาจากสถานที่ฝังกลบขยะ โดยในประกาศฉบับดังกล่าวนี้ได้กำหนดวิธีการคัดแยกให้ได้เศษพลาสติกที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการรีไซเคิลไว้ด้วย ดังนี้ (2)
ประชาชน-ครัวเรือน
1. คัดแยกเศษพลาสติก ไม่ทิ้งรวมกับขยะเศษอาหารและขยะอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน
2. หากมีการปนเปื้อนให้ล้างทําความสะอาด ดึงเทปกาว กระดาษ หรือสติกเกอร์ออก
3. คัดแยกเศษพลาสติก รวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือส่งจุด Drop Point หรือรวบรวม
ซาเล้ง
1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน
2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก
3. คัดแยกเศษพลาสติกแบบแยกชนิดรวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า
ร้านรับซื้อของเก่า
1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน
2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก
3. เก็บรวบรวมแบบแยกชนิดไว้ในสถานที่ที่กันแดดกันฝนได้ เพื่อให้มีความสดใหม่ (Freshness) ความชื้นไม่เกินเกณฑ์ที่โรงงานรีไซเคิลกําหนด
4. การบด บีบอัด ต้องไม่ทําบนพื้นดิน และอุปกรณ์บีบอัดต้องมีความสะอาด
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการจัดการขยะของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีการคัดแยกขยะรีไซเคิล ณ สถานที่คัดแยกขยะมูลฝอยหรือสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ 16% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำ (3) เป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยติดกลุ่มประเทศผลิตขยะพลาสติกอยู่อันดับ 12 ของโลก และเป็นประเทศที่ทิ้งขยะเหล่านี้ลงสู่ทะเลมากที่สุดติดอันดับ 10 ของโลก เพื่อเป็นการเร่งแก้ไขปัญหาดังล่าว เมื่อปี 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติแบนพลาสติก 4 ชนิด และจะต้องไม่มีบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ใช้อีกภายในปี 2565 ประกอบด้วย 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ไม่รวมโฟมกันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม) 3. แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ 4. หลอดพลาสติกทั้งหมด (ยกเว้นในการใช้กับคนชรา และคนป่วยเท่านั้น) (4)
ก่อนหน้านั้น ครม.ได้เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด (ภายในปี 2562) มาแล้ว และได้กำหนดให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้ตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิด สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 (5) ซึ่งกล่าวกันตามข้อมูลและพฤติกรรมการบริโภคที่สะดวกสบายมากขึ้นจะพบว่า ปริมาณขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความสะดวกสบายเหล่านี้ถือเป็นการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าวิตก โดยเฉพาะปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง (6)
อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ได้ตามเป้าหมาย ประเทศไทยจะลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับ และกำจัดขยะมูลฝอยได้ประมาณ 2,500 ไร่ (1)
ขณะเดียวกันยังสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือถ้านำขยะพลาสติกไปเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ หรือสามารถประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ โดยประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านล้านบีทียูหรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท (1)
แม้การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องมีค่าใช้จ่าย แต่เพื่อให้การรีไซเคิลขยะพลาสติกเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องรู้จักประเภทขยะพลาสติก และลงมือคัดแยกขยะด้วยตัวเองในทุกวัน
อ้างอิง:
(1) https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-27_06-47-53_174751.pdf
(2) https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/271/T_0003.PDF
(3) https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2023/02/pcdnew-2023-02-20_06-35-59_190336.pdf
(4) https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2736754
(5) https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Recycle-FB-25-04-2022.aspx
(6) https://www.thansettakij.com/climatecenter/sustainability/600188