เริ่มต้นปรับพฤติกรรมที่ตัวเราเอง ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้

by Chetbakers

ปัจจุบันมีขยะพลาสติกสะสมอยู่ในมหาสมุทรกว่า 75-199 ล้านตัน คาดว่าภายในปี 2583 ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 23-37 ล้านตันต่อปี

เมื่อพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะออกจากมือไปแล้วมักจะกลายเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่มันสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างใหญ่หลวง ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยว่า ปัจจุบันมีขยะพลาสติกสะสมอยู่ในมหาสมุทรมากกว่า 75-199 ล้านตัน ในปี 2559 มีขยะพลาสติกประมาณ 9-14 ล้านตันไหลลงสู่ระบบนิเวศทางน้ำ และคาดว่าภายในปี 2583 ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 23-37 ล้านตันต่อปี ซึ่งพลาสติกถือเป็นขยะในทะเลที่มากที่สุด เป็นอันตรายที่สุด และคงอยู่ยาวนานที่สุด โดยคิดเป็น 85% ของขยะทะเลทั้งหมด (1)

ขยะพลาสติกไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย ไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกสามารถปนเปื้อนในอาหารทะเลและแหล่งน้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงเมื่อบริโภคเข้าไป (1)

ด้วยเหตุนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics หรือ SUPPs) จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นปริมาณขยะก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2566 สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยมีมากถึง 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตันต่อวัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในจำนวนนี้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 9.31 ล้านตัน ขยะที่ถูกกำจัดถูกต้อง ร้อยละ 10.17 ล้านตัน และถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.47 ล้านตัน และเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าขยะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ที่มีปริมาณขยะมูลฝอย 25.70 ล้านตัน โดยกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมากสุดถึง 12,748 ล้านตันต่อวัน (2)

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหานี้ เพราะภาครัฐได้ร่วมมือกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศกว่า 90 บริษัท ร่วมงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว “Everyday Say No To Plastic Bags” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – ธันวาคม 2565 ซึ่งโครงการนี้สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวได้ทั้งสิ้น 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน (3)

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังดำเนินกิจกรรมรณรงค์การลด และเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำตลาดสดต้นแบบ มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในภาพรวมลดลง 43% หรือ 148,699 ตัน (3)

ทว่าในภาพรวมเรายังรับทราบข้อมูลมลพิษจากพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เนือง ๆ ตั้งแต่ชายหาดไปจนถึงเขตอาร์กติกอันไกลโพ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อมหาสมุทร ทำลายระบบนิเวศและชีวิตสัตว์ป่า สถิติชี้ว่า เต่าทะเลหนึ่งในสองตัวกินพลาสติกเข้าไป นกทะเลถึง 90% มีพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหาร และยังทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล (7) อีกทั้งพลาสติกและโฟมที่ย่อยสลายยากเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของสารปรุงแต่งหรือสารประกอบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอาจเป็นพิษและก่อผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว (5)

เมื่ออันตรายของมันเป็นที่ประจักษ์ เราทุกคนจึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพราะจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ อย่างแนวคิด “Zero Waste” หรือการลดขยะให้เหลือศูนย์เป็นแนวทางหนึ่งที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยมุ่งลดขยะตั้งแต่ต้นทาง หลักการสำคัญของ Zero Waste ได้แก่ 1A3R คือ หลีกเลี่ยง (Avoid) การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) ซึ่งทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย เช่น การพกถุงผ้า กระบอกน้ำส่วนตัว และปฏิเสธการใช้หลอดพลาสติก (6)

ขณะที่ระดับนโยบายในต่างประเทศอย่างไอร์แลนด์เป็นตัวอย่างผู้นำการจัดการขยะพลาสติกด้วยการจัดเก็บภาษีถุงพลาสติก ซึ่งช่วยลดการใช้ลงกว่า 90% ส่วนในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และกัมพูชา ได้ริเริ่มพื้นที่ปลอดพลาสติกและเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้พลาสติกเพื่อส่งเสริมการลดขยะในระดับชุมชน (6)

สำหรับชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การพกขวดน้ำส่วนตัวหรือช้อนส้อมแบบพกพาก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ ในอังกฤษมีการรณรงค์ให้ลดการใช้ช้อนส้อมและจานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และแนะนำให้ประชาชนหันมาใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ซิลิโคนหรือไม้ไผ่ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (7)

การลดพลาสติกยังสามารถทำได้ผ่านการเปลี่ยนวัสดุทางเลือก อย่างเช่น การใช้ Beeswax Wraps หรือไขผึ้งห่ออาหารแทนฟิล์มห่ออาหารพลาสติก หรือการเปลี่ยนจากถุงชาที่มีส่วนผสมของพลาสติกไปเป็นใบชาหรือถุงชาที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังช่วยลดปริมาณไมโครพลาสติกที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม (7)

อีกหนึ่งแนวทางสำคัญคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอาหาร โดยคำนึงถึง “วงจรชีวิต” ตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัด โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาดและวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ง่าย นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบา ทนทาน และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้จะช่วยลดปริมาณขยะในระยะยาว (1)

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาขยะพลาสติกให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่างเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมโครงการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และสนับสนุนให้มีโครงการต้นแบบในชุมชน (5)

ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การสนับสนุนให้ลูกค้าพกภาชนะส่วนตัวเพื่อลดขยะพลาสติก หรือการออกส่วนลดสำหรับผู้ที่ใช้แก้วน้ำของตนเอง วิธีการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการขยะอย่างยั่งยืนอีกด้วย (5)

เมื่อมองในภาพใหญ่ของขนาดปัญหาขยะพลาสติก อาจทำให้เราคิดว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ คงไม่สามารถช่วยแก้ไขอะไรได้มาก แต่ในความเล็กน้อยที่ร่วมกันคนละไม้คนละมืออย่างจริงจัง และต่อเนื่องก็สามารถสร้างพลังของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ อย่างเช่น การปฏิเสธถุงพลาสติก (พกพากล่องสำหรับการบรรจุอาหารสดหรือถุงผ้า) หรือการมีขวดน้ำติดส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ดีและเอื้อต่อการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การหักล้างข้อมูลคาดการณ์ปัญหานี้จึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือภารกิจร่วมกันของพวกเราทุกคน

ที่มา:
(1) https://www.unep.org/news-and-stories/story/how-reduce-impacts-single-use-plastic-products
(2) https://www.thaipbs.or.th/news/content/340722
(3) https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2736754
(4) https://www.iucn.org/resources/issues-brief/marine-plastic-pollution
(5) https://www.prachachat.net/columns/news-292725
(6) https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/zero-waste-lifestyle
(7) https://www.wwf.org.uk/updates/top-tips-reduce-your-plastic-footprint

Copyright @2021 – All Right Reserved.