ในช่วงปี 2566 โลกมีโอกาสถึง 80% ที่อุณหภูมิจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 5 ปีข้างหน้า เป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่ประเด็นทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชากรทั่วโลก ข้อตกลงปารีสได้กำหนดเป้าหมายสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เราอาจเข้าใกล้การเกินเป้าหมายนี้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ (1)
ความสำคัญของการจำกัดอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศา อยู่ที่การลดผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้ว การศึกษาระบุว่า ทุก ๆ การเพิ่มขึ้น 0.1 องศา จะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง ในทางกลับกัน หากเราสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ ผลกระทบเหล่านี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (1)
แม้จะมีความพยายามระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เป้าหมาย 1.5 องศายังอยู่ไกลเกินเอื้อม หลายประเทศยังคงเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสวนทางกับความต้องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
ในช่วงปี 2566 โลกมีโอกาสถึง 80% ที่อุณหภูมิจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและปรากฎการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเพิ่มขึ้นทุก 0.1 องศาจะทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง เกิดขึ้นบ่อย และรุนแรงขึ้น (2)
ข้อมูลจากสำนักงานบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส หรือ C3S แห่งสหภาพยุโรป ยังตอกย้ำสภาพอากาศที่ไม่ปกติว่า อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งสูงจนทำลายสถิติถึง 2 ครั้ง ในเวลาเพียง 2 วัน หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 อุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.16 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติ 17.09 องศาของวันอาทิตย์ และทำลายสถิติของเดือนกรกฎาคม 2566 (3)
ในปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งละลาย และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า พื้นที่ในเอเชียหลายแห่งเผชิญกับภัยพิบัติจากน้ำท่วมและพายุหลายครั้ง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งกระทบต่อรายได้ และความเป็นอยู่ (7)
คลื่นความร้อนเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในปี 2566 หลายพื้นที่ในเอเชีย เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และฟิลิปปินส์ ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศไทยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) ถึง 30 ราย ความต้องการพลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายร้อน (5)
ในระดับโลก ภัยพิบัติจากน้ำท่วมสร้างความเสียหายร้ายแรงในหลายประเทศ เช่น บราซิลที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือในเอเชียที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในเนปาล อินเดีย และปากีสถาน คร่าชีวิตผู้คนหลายพันคน และสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนนับล้าน (6)
สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตลดลงและสร้างความยากลำบากให้กับเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้า และอุณหภูมิที่เหมาะสม (7)
นอกจากนี้ น้ำทะเลทั่วโลกร้อนขึ้น โดยในปี 2566 พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการอุ่นตัวของผิวน้ำทะเลส่งผลกระทบต่อชั้นน้ำแข็งทะเล และการสูญเสียชั้นน้ำแข็งยิ่งเพิ่มความร้อนให้ทะเล การอุ่นตัวของมหาสมุทรชั้นบนยังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งในทะเลอาหรับตะวันตกเฉียงเหนือ ทะเลฟิลิปปินส์ และทะเลทางตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งเร็วขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสามเท่า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุนแรง (4)
แม้จะมีความพยายามระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เป้าหมาย 1.5 องศายังอยู่ไกลเกินเอื้อม หลายประเทศยังคงเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสวนทางกับความต้องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ รายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่า หากยังคงปล่อยก๊าซในอัตราปัจจุบัน โลกจะหมด “งบประมาณคาร์บอน” ภายในปี 2573 (1)
รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังเป็นภัยคุกคามต่อธารน้ำแข็งในภูมิภาค High Mountain Asia (HMA) ซึ่งเป็นพื้นที่สูงที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ที่ราบสูงทิเบตและมีปริมาณน้ำแข็งนอกเขตขั้วโลกมากที่สุดที่กำลังเผชิญกับการสูญเสียมวลธารน้ำแข็งอย่างรุนแรงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์นี้เลวร้ายลงจากอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์และความแห้งแล้งในเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก (4)
สุขภาพของประชากรโลกก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อากาศร้อนจัดส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และทำให้โรคระบาดใหม่ ๆ กลับมาอีกครั้ง รายงานจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงเกี่ยวกับโรคจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น และบุรีรัมย์ ดังนั้นการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องเร่งพัฒนาแผนในภาคพลังงาน การขนส่ง และการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซหลัก (7)
โลกยังมีโอกาสป้องกันผลกระทบที่รุนแรง หากทุกประเทศร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าความท้าทายจะมหาศาล แต่อนาคตของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกรัฐบาลในวันนี้
อ้างอิง:
(1) https://www.un.org/en/climatechange/science/climate-issues/degrees-matter
(2) https://wmo.int/news/media-centre/global-temperature-likely-exceed-15degc-above-pre-industrial-level-temporarily-next-5-years#::text=The%20scientific%20community%20has%20repeatedly
(3) https://climate.copernicus.eu/new-record-daily-global-average-temperature-reached-july-2024
(4) https://wmo.int/news/media-centre/climate-change-and-extreme-weather-impacts-hit-asia-hard
(5) https://www.climatecouncil.org.au/2024s-climate-crisis-extreme-weather-around-the-globe/
(6) https://yaleclimateconnections.org/2024/10/climate-change-made-hurricane-helene-and-other-2024-disasters-more-damaging-scientists-find/#::text=Deadly%20Hurricane%20Helene%2C%20wildfires%20in,climate%20change%2C%20scientists%20have%20found
(7) https://www.undp.org/stories/climate-impact-thailand