เมื่อความคลั่งทุเรียนฆ่าป่า
ฆ่าสัตว์และฆ่าคน

by Igreen Editor

วันนี้ทุเรียนจากมาเลเซียกลายเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนแบบที่ไทยจะไล่ตามให้ทันต้องไล่กันแบบหืดขึ้นคอ

สาเหตุเพราะอะไร? เพราะทุเรียนไทยไม่อร่อย หรือเป็นเพราะมาเลเซียโปรโมทดีกว่าหรือเปล่า หรือเพราะค่านิยมด้านการกินของคนที่นั่น?

จากการสำรวจคร่าวๆ ในโลกโซเชียลจีน เราพบว่าคนที่โน่นชอบทุเรียนมูซังคิง (Musang king) ของมาเลย์มาก รวมถึงทุเรียนประเภทอื่นๆ ของมาเลย์ เพราะคนจีนเขาชอบกินเนื้อทุเรียนแบบเละ ปล่อยให้สุกคาต้น จนร่วงลงมาเอง แล้วถ้าลูกมีรอยปรินิดๆ ให้อากาศเข้าไป จนมันมีกลิ่นแรงยิ่งชอบ ทุเรียนแบบนี้คนจีนถูกใจและเชื่อว่ามันสุกจริง

ที่จีนถึงกับสอนกันทางเน็ตว่า วิธีเลือกทุเรียน “ที่ดี” คือต้องสุกจนเหลือง มีรอยปริหน่อยๆ แต่อย่าปรินานหลายวัน ซึ่งลักษณะแบบนี้ไม่ใช่รสนิยมของคนไทยเลย คนไทยออกจะรังเกียจทุเรียนแบบมาเลย์ด้วยซ้ำ แต่เท่าที่เห็นคนจีนนิยมทุเรียนมาเลย์มาก ชื่นชมกันออกหน้าออกตา แต่ด้วยความที่มูซังมันแพง ที่จีนเลยไม่ค่อยมีขาย หากมีสตางค์คนจีนจะดั้นด้นมาซื้อกินที่มาเลเซียกันเอง ถึงกับมีลายแทงชี้แหล่งกินทุเรียนเละๆ รสแบบครีมมี่ๆ กันเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้มาเลเซียเลยได้ทีโฆษณาว่ามูซังของเขาดีที่สุดในโลก จีนก็ชอบ ฝรั่งก็ชม แต่แฟนทุเรียนไทยไม่เห็นด้วยด้วยประการทั้งปวง และคงจะไม่ยอมปรับรสนิยมทุเรียนของเราให้ถูกปากใครด้วย

ปัญหาก็คือ ความต้องการทุเรียนมาเลย์จากตลาดจีนมีมาก ถึงกับทำให้มีการรุกล้ำพื้นที่ป่า เพื่อแปลงเป็นสวนทุเรียนมูซังส่งออกไปยังจีน

จากการรายงานของ South China Morning Post มาเลเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าอันอุดม แต่เพราะดีมานด์อันล้นเหลือมันยั่วเย้าให้คนที่นั่นถึงกับลืมความอุดมสมบูรณ์ และโค่นล้มป่ากันอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบเบื้องต้นคือเสียพื้นที่ป่า สัตว์ป่าหายากของป่าเขตร้อนถูกคุกคาม และในเวลานี้มันได้เริ่มส่งผลกระทบถึงมนุษย์ด้วย นั่นคือ ชาวดง หรือ โอรัง อัสลี หรือที่ในประเทศไทยเรียกกันว่า “ซาไก”

พื้นที่ปลูกทุเรียนมูซังที่ดีที่สุดอยู่ในเขตกัว มูซัง ในรัฐกลันตันที่มีอาณาเขตติดต่อกับ จ.นราธิวาส พื้นที่แห่งนี้ปลูกทุเรียนมูซังได้อย่างวิเศษ แต่เป็นพื้นที่อันอุดมไปด้วยโปรแตสเซียม และมีความหลากหลายของพันธุ์แมลง ทั้งยังเป็นดินแดนบรรพชนของชาวโอรัง อัสลี

ผืนดินตรงนี้แหละที่กำลังจะถูกแปลงเป็น “โรงงาน” ผลิตทุเรียนป้อนตลาดจีน และเป็นอีกหนึ่งความหายนะทางสิ่งแวดล้อมและมานุษยวิทยา อันเกิดจากลัทธิบริโภคนิยมและการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องรสชาติอาหารอย่างไร้ความรับผิดชอบ

ในโลกที่กำลังวอดวายด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม มนุษย์เรามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องตอบสนองความกระหายบนปลายลิ้น และบนความวอดวายของระบบนิเวศ?

เพราะความคลั่งทุเรียนแบบปลาร้า (หมูซัง) ของจีนแท้ๆ บวกกับความกระหายเงินตราของนายทุนเกษตรอุตสาหกรรมในมาเลเซีย ที่จุดชนวนความล่มสลายนี้

เงินตราเข้าประเทศที่ได้มา…มาเลเซียกำลังแลกด้วยความย่อยยับของผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

Copyright @2021 – All Right Reserved.