เปิดรายงานคุณภาพอากาศปี 2021
วัด PM2.5 เมืองทั่วโลกผ่านเกณฑ์ 3%
‘นิวเดลี’ แชมป์มลพิษสูงสุด 4 ปีติด

by Igreen Editor

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2021 ขององค์กร IQAir พบว่ามีเพียง 3% ของเมืองทั่วโลกเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพอากาศ แต่ในระดับประเทศไม่มีประเทศใดผ่านเกณฑ์เลยตามแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO)

แฟรงค์ แฮมเมส ซีอีโอของ IQAir กล่าวว่า “ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจคือไม่มีเมืองใหญ่หรือประเทศใดให้อากาศที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพแก่พลเมืองของตนตามแนวทางคุณภาพอากาศล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเลย” เขาเสริมว่า “รายงานนี้เน้นย้ำว่าเรายังต้องทำงานอีกมากเพียงใดเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีอากาศหายใจที่ปลอดภัย สะอาด และดีต่อสุขภาพ ตอนนี้ถึงเวลาลงมือแล้ว”

รายงานนี้วิเคราะห์การวัดมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากสถานีตรวจวัดอากาศใน 6,475 เมืองใน 117 ประเทศ ภูมิภาค และเขตแดน และเป็นรายงานคุณภาพอากาศที่สำคัญทั่วโลกฉบับแรกตามแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีของ WHO ในเรื่อง PM2.5 ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติใหม่เผยแพร่ในเดือนก.ย. 2020 โดยลดค่า PM2.5 ประจำปีจาก 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เป็น 5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

มลภาวะจากอนุภาคขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า PM2.5 เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นมลพิษในอากาศที่อันตรายที่สุดและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และปอด รวมทั้ง PM2.5 นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนับล้านทุกปี

“เราเข้าใจดียิ่งขึ้นกว่าที่เคยว่ามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของเราอย่างไร รายงานนี้เป็นการปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาพบความจริง ซึ่งเผยให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกถูกปิดกั่นไม่ให้เข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างไร” อวินาช ชานชาล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ของกรีนพีซอินเดียกล่าว พร้อมย้ำว่า “การหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ควรเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่อภิสิทธิ์”

ต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญของรายงาน ซึ่งบางข้อมูลน่าตกใจอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าโลกของเรากำลังถดถอยในเรื่องการจัดการ PM2.5

  1. ไม่มีประเทศใดที่สามารถปฏิบัติตามแนวทางคุณภาพอากาศล่าสุดของ WHO สำหรับ PM2.5 ในปี 2021 ได้เลย
  2. มีเฉพาะในดินแดนนิวแคลิโดเนีย (ในมหาสมุทรแปซิฟิก) หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา และเปอร์โตริโก (ทั้งสองแห่งอยู่ในทะเลแคลิเบียน) เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ตามแนวทางคุณภาพอากาศ WHO PM2.5 ที่อัปเดตปีที่แล้ว
  3. มีเพียง 222 เมืองจาก 6,475 เมืองทั่วโลกที่กล่าวถึงในรายงานที่ผ่านเกณฑ์ตามแนวทาง PM2.5 ของ WHO ฉบับปรับปรุง
  4. รายงานพบว่า 93 เมืองในรายงานมีความเข้มข้น PM2.5 ประจำปีเกินกว่า 10 เท่าของแนวทาง PM2.5 ของ WHO
  5. จาก 174 เมืองในละตินอเมริกาและแคริบเบียน มีเพียง 12 เมืองเท่านั้น (7%) ที่ตรงตามแนวทาง PM2.5 ของ WHO
  6. จาก 65 เมืองในแอฟริกา มีเพียงเมืองเดียว (1.5%) ที่ผ่านเกณฑ์ตามแนวทาง PM2.5 ประจำปีของ WHO
  7. ที่น่าตกใจก็คือบ้านเรา รายงานพบว่าจาก 1,887 เมืองในเอเชีย มีเพียง 4 แห่ง (0.2%) ที่ทำได้ตามแนวทาง PM2.5 ของ WHO ที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุด
  8. จาก 1,588 เมืองในยุโรป มีเพียง 55 เมือง (3%) ที่ปฏิบัติตามแนวทาง PM2.5 ของ WHO
  9. รายงานครอบคลุม 2,408 เมืองในสหรัฐอเมริกา และพบว่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 9.6 µg/m3 เป็น 10.3 µg/m3 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2020 ส่วนเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ พบว่า ลอสแองเจลิสเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด อย่างไรก็ตาม พบว่ามลพิษ PM2.5 ในลอสแองเจลิสโดยรวมลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2020
  10. ประเทศที่มีมลพิษมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2564 ได้แก่ บังคลาเทศ ชาด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน และอินเดีย
  11. นิวเดลี (เมืองหลวงของอินเดีย) เป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ตามด้วยธากา (เมืองหลวงของบังกลาเทศ) เอ็นจาเมนา (ชาด) ดูชานเบ (ทาจิกิสถาน) และมัสกัต (เมืองหลวงของโอมาน)
  12. ที่เซอร์ไพรส์ก็คือ คุณภาพอากาศในจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2021 เมืองมากกว่าครึ่งในจีนที่รวมอยู่ในรายงานมีระดับมลพิษทางอากาศต่ำกว่าปีก่อนหน้า ระดับมลพิษภายในเมืองหลวงคือปักกิ่งยังคงมีแนวโน้มด้านคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี โดยได้แรงหนุนจากการควบคุมการปล่อยมลพิษและการลดกิจกรรมของโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมการปล่อยมลพิษสูงอื่น ๆ
  13. เอเชียกลางและใต้มีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลกในปี 2021 และเป็นที่ตั้งของ 46 เมืองจาก 50 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก มีเพียงสองเมืองที่ตรงตามแนวทางของ WHO คือเมืองเชซกัซฆานและเมืองชู(คาซัคสถาน)
  14. การตรวจสอบคุณภาพอากาศยังคงมีน้อยในแอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีความคืบหน้าจากการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบวัดสภาพคุณภาพอากาศราคาประหยัดซึ่งมักดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและนักวิทยาศาสตร์พลเมืองก็ตาม

เรียบเรียงจาก
“2021 IQAir World Air Quality Report”. (March 22, 2022). IQAir.
ภาพ IQAir

Copyright @2021 – All Right Reserved.