ที่ดินโลกพังยับเยินแล้ว 40%
เกษตรขนาดใหญ่ตัวการหลัก
ป่าหาย มลพิษพุ่ง คนจนเดือดร้อน

by Admin

โลกที่เราอาศัยอยู่ปัจจุบันนี้เสื่อมโทรมลงทุกวัน และเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อยเมื่อรายงานของสหประชาชาติระบุว่า ที่ดินบนโลกได้รับผลกระทบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยที่กิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกไปจากสภาพธรรมชาติแล้ว 70% และในจำนวนนี้เกิดความเสื่อมโทรมจนยับเยินแล้ว 40% 

ผลที่ตามมามากมายก็คือกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งรายงานฉบับใหม่ที่สำคัญของสหประชาชาติสรุปว่า ระบบอาหารเป็นตัวการที่ใหญ่ที่สุดในแง่การสร้างความเสื่อมโทรมของที่ดิน ทั้งการผลิต แปรรูป ขนส่งและการบริโภค โดยคิดเป็นการตัดไม้ทำลายป่า 80% และปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 29% ของทั้งหมด

ยูเอ็นคาดการณ์ว่า หากการใช้ที่ดินของมนุษย์ดำเนินไปในรูปแบบเดิมจนถึงปี 2050 ความเสื่อมโทรมของที่ดินอาจเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวของพื้นที่ทวีปอเมริกาใต้และในทางตรงกันข้ามหากโลกให้ความสำคัญกับการปกป้องและฟื้นฟูที่ดินอาจนำไปสู่การสร้าง “พื้นที่ธรรมชาติใหม่” ขึ้น 4 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในปี 2050 

ในขณะเดียวกันจะเกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดย Carbon Brief ได้สรุปประเด็นสำคัญจากรายงานยูเอ็น 5 ประการ

1) มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 70% ของโลก ซึ่งมีส่วนต่อ “ภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ” สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 44 ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ ครึ่งหนึ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของโลก แต่แลกกับความเสี่ยงจากความเสื่อมโทรมของที่ดิน ในขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมอาจมีมูลค่าระหว่าง 125 – 140 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งจะมากกว่าจีดีพีโลกในปี 2021 ที่ 93 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินนี้มีการทำลายป่า 5-10 ล้านเฮกตาร์ทุกปีระหว่างปี 2000-2015 ส่งผลให้ทั่วโลกสูญเสียพื้นที่ 125 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สองเท่าของฝรั่งเศส โดยเฉพาะการสูญเสียป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมไปด้วยคาร์บอน

2) ​​ระบบอาหารมีส่วนทำลายป่า 80% การเกษตรขนาดใหญ่และเชิงอุตสาหกรรมทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง 29% และเป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพบนบก  โดยเกษตรกรรมสมัยใหม่สร้างความเสื่อมโทรมของที่ดินอย่างน้อย 40% ของพื้นผิวโลก

โดยการทำปศุสัตว์ น้ำมันปาล์ม และถั่วเหลืองเป็นสามตัวการใหญ่ที่สุดในการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย โดยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศและความต้องการของผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว

ที่สำคัญกว่านั้นการขยายตัวในการทำเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ต่อทุ่งหญ้าซึ่งเป็นพื้นที่มากกว่าสองในสามที่จะถูกแปลงเป็นพื้นที่เพาะปลูก

ในจำนวนนี้อุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่เพียง 1% ของโลกควบคุมพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 70% แต่กลับสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของชุมชนท้องถิ่นที่ทำฟาร์มขนาดเล็กซึ่งมีส่วนสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

3) ​​การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภาวะโลกร้อน รายงานสังเกตว่า โลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 และจะรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 1.5°C ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งการปกป้องและฟื้นฟูที่ดินจะช่วยลดการปล่อยมลพิษและกักเก็บคาร์บอนกลับลดลง เนื่องจากการปล่อย CO2 จากการตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้ป่าพรุ รวมถึงการเสื่อมสภาพของดินจากการทำเกษตร

ในขณะเดียวกัน การปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์สองก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพ ส่วนใหญ่มาจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและการเลี้ยงปศุสัตว์

ซึ่งผลพวงของอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและความแห้งแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ไฟป่า และเหตุการณ์ฝนตกหนัก ทำให้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศลดลง เกิดความอ่อนไหวของป่าไม้และทุ่งหญ้าทั่วโลก เกิดการระบาดของศัตรูพืชและทำให้ผลผลิตพืชผลลดลงด้วย

4) ความเสื่อมโทรมของที่ดินคุกคามชุมชนชายขอบมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศ โดยรายงานฉบับระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 3,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะกลายเป็นทะเลทรายเพราะความเสื่อมโทรมของที่ดิน และความแห้งแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนในชนบทที่ยากจน เกษตรกรรายย่อย ผู้หญิง เยาวชน ชนพื้นเมือง และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ

กลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ที่เป็นชนพื้นเมืองมีประมาณ 6% ของประชากรโลก ทำหน้าที่ผู้ดูแลที่ดินอย่างน้อย 38 ล้านตารางกิโลเมตร กระจายไปทั่ว 87 ประเทศ แต่คนเหล่านี้กลับถูกเลือกปฏิบัติ และถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

5) โลกกำลังเผชิญกับทางเลือกระหว่างการปกป้องและฟื้นฟูที่ดินกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิม ซึ่งหากไม่เปลี่ยนวิธีการมีแนวโน้มที่ความเสื่อมโทรมของที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2050 หรือที่ดินที่เกิดความเสื่อมโทรมจะมีขนาดเกือบเท่ากับทวีปอเมริกาใต้ ผลที่ตามมาก็คือการปล่อยคาร์บอนจะเพิ่มมากขึ้นอีก 69,000 ล้านตัน หรือคิดเป็น 17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีในปัจจุบัน

รายงานระบุว่า จนถึงปัจจุบันกว่า 115 ประเทศมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมเกือบ 10 ล้านตารางกิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นแผนสภาพภูมิอากาศ แผนความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ คำมั่นสัญญาโดยสมัครใจต่อ Bonn Challenge (ความพยายามระดับโลกในการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมและการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก 150 ล้านเฮกตาร์ภายในปี 2020 และ 350 ล้านเฮกตาร์ภายในปี 2573 ที่มีเยอรมนีเป็นเจ้าภาพ)

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาในวันนี้ “ยังคงไม่เพียงพอที่จะตระหนักถึงอนาคตที่เป็นธรรมชาติและยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ” และ “ต้องได้รับการสนับสนุนจากแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืน” รายงานกล่าว

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความสามารถของโลกในการจัดหาอาหารให้กับประชากรที่กำลังเติบโตกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากความเสียหายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตอาหารที่ทำลายพื้นที่ “สีเขียว” อย่างเข้มข้น โดยที่ความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่ตกอยู่ในพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนา แต่ต้นเหตุของการบริโภคมากเกินไปนั้นเกิดขึ้นในโลกที่ร่ำรวย เช่น ในการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น, ฟาสต์แฟชั่น

Ibrahim Thiaw เลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย กล่าวว่า “ความเสื่อมโทรมของที่ดินส่งผลกระทบต่ออาหาร น้ำ คาร์บอน และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการลดจีดีพี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ลดการเข้าถึงน้ำสะอาด และความแห้งแล้งที่เลวร้ายลง”

Thiaw เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคเอกชนลงทุน 1.6 ล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้าเพื่อฟื้นฟูสุขภาพพื้นที่ 1,000 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากับสหรัฐหรือจีน เพื่อช่วยปกป้องดิน แหล่งน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของโลก

อนึ่งรายงานฉบับใหม่จัดทำโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) กำหนดเป้าหมาย “ภายในปี 2030 จะต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูที่ดินและดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงดินแดนที่ได้รับผลกระทบจากการทำให้เป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ

อ้างอิง:

(Apr 27, 2022) “UN land report: Five key takeaways for climate change, food systems and nature loss” . Carbonbrief

Fiona Harvey (Apr 27, 2022) “UN says up to 40% of world’s land now degraded” . The Guardian

Copyright @2021 – All Right Reserved.