ถึงเวลาประเทศไทย
ใช้ ‘Syn Bio’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

by Igreen Editor

ชีวนวัตกรรม หรือ Synthetic Biology เป็นศาสตร์ใหม่ที่ทางอออกหนึ่งจะช่วยกอบกู้โลก เพราะหากมนุษย์ยังคงผลิตและบริโภคอย่างสุดโต่งโดยไม่ใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงจะมีโลกอีกกี่ใบก็คงไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะการบริโภคแบบไร้ขีดจำกัดที่เป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ทำไมต้อง Syn Bio” ในงานเสวนา “ออกแบบอนาคตด้วยธรรมชาติแก้วิกฤติทรัพยากรโลก” ไว้น่าสนใจว่า ภาคธุรกิจไม่อาจนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นวาระแห่งโลก

“ภาคธุรกิจต้องนำศาสตร์ Synthetic Biology หรือ ชีวนวัตกรรม เข้ามาเป็นแกนหลักของกระบวนการผลิต เพราะขณะนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาโลกร้อนจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย” คำกล่าวของ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ “ทำไมต้อง Syn Bio” ในงานเสวนา  “ออกแบบอนาคตด้วยธรรมชาติแก้วิกฤติทรัพยากรโลก” ซึ่งจัดขึ้นโดยบางจาก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562

ถึงเวลาไทยต้องมี “โรดแมป SynBio”

ชัยวัฒน์ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคธุรกิจไม่อาจนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นวาระแห่งโลก เนื่องจากได้ทวีความรุนแรงขึ้นกว่า 100 ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติจึงได้วางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไว้ 17 เป้าหมาย  เพราะจำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 8,000 ล้านคนในปัจจุบัน ขณะที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ในอนาคตจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งศาสตร์ Syn Bio สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ถึง 9 ข้อ และที่สำคัญ Syn Bio เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจ BCG โมเดล (B- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว) อีกด้วย

ธุรกิจในเครือบางจากริเริ่มดำเนินธุรกิจสีเขียวมาโดยตลอด อาทิ โรงกลั่นทุกแห่งสามารถวัดการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) การพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานผลิตภัณฑ์ไบโอเบส แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ล้วนอยู่บนพื้นฐาน BCG โมเดล รวมถึง Syn Bio ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาทิ การนำ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าวโพด ฯลฯ มาผ่านกระบวนการทางเคมี และบ่มหมัก เพื่อดึงสารบางอย่างที่ต้องการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ซึ่งในอนาคตธุรกิจชีวนวัตกรรมจะมีมูลค่ามหาศาล ดีกว่าการจำหน่ายผลผลิตแบบเดิม ๆ หลายเท่าตัว

ชัยวัฒน์ เห็นว่า “ชีวนวัตกรรม” เป็นศาสตร์ใหม่ที่เปรียบได้กับการนำข้าวบาร์เลย์มาหมักเพื่อให้ได้เบียร์ โดย Syn Bio จะสกัดยีสต์ หรือแบคทีเรีย เพื่อนำไปดัดแปลงดีเอ็นเอ และเปลี่ยนตัวยีสต์ หรือแบคทีเรียดังกล่าวให้สามารถเลียนแบบสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นพาหนะนำวัตถุดิบให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นศาสตร์ที่มีการพัฒนามานานแล้ว อาทิ Microbiology Molecular Biology Bioinformatics  รวมถึงการนำ Ai หรือ Computer Science มาเปลี่ยนโมเลกุล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ เช่น เนื้อ หรือ นม ที่ไม่ได้มาจากสัตว์ หรือเสื้อผ้าที่ผลิตมาจากใยแมงมุม เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญของบางจาก ชัยวัฒน์ บอกว่า ไม่ใช่มูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการใช้ศาสตร์ใหม่หรือ ชีวนวัตกรรมทำให้โลกร้อนกลายเป็นโลกเย็น เป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตอาหารโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ แต่สามารถผลิตอาหารได้จากในห้องแล็บ นอกจากนี้ Syn Bio ยังมีประโยชน์อีกสารพัด สามารถรักษามะเร็งได้ด้วย จากเดิมที่คนไข้ต้องฉายรังสี หรือทำคีโม ในอนาคตจะมียาที่ผลิตจาก Syn Bio ไปทำลายเซลล์มะเร็งในตัวมนุษย์  ทั้งหมดล้วนมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่จะมาช่วยโลก ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมี “โรดแมป Syn Bio” เหมือนกับสหรัฐอเมริกาและในยุโรป

“อีก 30 ปีข้างหน้า Syn Bio จะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกใบนี้ เหมือนกับที่ยุคก่อนมนุษย์ค้นพบ ไฟ น้ำมัน ระเบิด หรือหลอดไฟ จนถึงคอมพิวเตอร์ ดังนั้น Syn Bio จะมาทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนไป แต่น่าอยู่มากขึ้น” ชัยวัฒน์ ระบุ

ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน บูม ‘BCG’ เทียบชั้น ‘EEC’ 

ในแง่นโยบายรัฐบาล กิตติพงศ์ พร้อมวงศ์  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวในหัวข้อ “นวัตกรรม Syn Bio สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย” ว่ารัฐบาลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ตามยุทธศาสตร์ ปี 2563 – 2570 โดยจัดสรรงบประมาณตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าวประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)ได้ตั้งเป้ายกระดับเศรษฐกิจชีวภาพด้านการค้าการลงทุนเหมือนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ BCG ซึ่ง Syn Bio เป็นหนึ่งในนั้น จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้าน ปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ปี 2565 ดังนั้นเมื่อภาครัฐ และภาคเอกชนจับมือกันจะทำให้เศรษฐกิจ Syn Bio เติบโตได้ดีในอนาคต

สุดทึ่ง “ใยแมงมุม” วัสดุใหม่แห่งโลกอนาคต

งานเสวนา “ออกแบบอนาคตด้วยธรรมชาติแก้วิกฤติทรัพยากรโลก” ยังได้เชิญกูรูด้าน Syn Bio จากต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ Ginkgo Biowork, USA สตาร์ทอัพชั้นนำด้าน Syn Bio ที่มี บิล เกตส์ มหาเศรษฐกิจระดับโลกผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ ควักเงินทุนสนับสนุน

Babette Pettersen ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Director Business Development) ของ Ginkgo อธิบายว่า ธุรกิจ Syn Bio มีแนวโน้มดีมาก เนื่องจากภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน สำหรับ Ginkgo เป็นบริษัทค้นคว้าวิจัยเพียงอย่างเดียว เมื่อวิจัยสำเร็จจะให้หุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือ Partner นำต้นแบบไปผลิตเพื่อจำหน่าย อาทิ โปรตีนจาก Syn Bio เป็นเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ หรือการลงทุนวิจัยแบคทีเรียแก้ปัญหาไนโตรเจนในการเพาะปลูกพืช หรือ กัญชา อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในวงการเภสัช ทาง Ginkgo ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทปลูกกัญชาที่ประเทศแคนดาเพื่อร่วมวิจัยและสกัดยางกัญชาด้วยวิธีการสังเคราะห์ Syn Bio

อีกสตาร์ทอัพระดับโลกที่มีผลงานน่าทึ่งเช่นกัน นั่นคือ Global Corporate Planning Spiber Inc. ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเสียงในการผลิตเสื้อผ้าจากโปรตีน “ใยแมงมุม” ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวทนทานกว่าเส้นใยสังเคราะห์หลายเท่าตัว ล่าสุดบริษัทแห่งนี้ได้มาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่อีอีซี จ.ระยอง ซึ่งได้นำเสื้อแจ็คเก็ตดีไซน์เท่เก๋ไก๋มาโชว์ในงานเสวนา จนสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน

Daniel Meyer ในฐานะผู้บริหาร Global Corporate Planning Spiber Inc. ระบุว่า อุตสาหกรรม Syn Bio ในญี่ปุ่นเติบโตสูงมาก รัฐบาลและภาคเอกชนตื่นตัวให้การสนับสนุน อาทิ ยา เสื้อผ้า หรือแม้แต่ยานยนต์ถึงขั้นมียุทธศาสตร์ไบโอชีวภาพเป็นการเฉพาะ ล่าสุดได้จับมือกับ บริษัท โตโยต้า ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจยานยนต์โลก วิจัยวัสดุทดแทน รถยนต์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ผลิตจากเทคโนโลยี Syn Bio เพื่อค้นหาวัสดุใหม่แห่งโลกอนาคต

โครงสร้างการศึกษาก้าวไม่ทันภาคเอกชน

วงเสวนาย่อย: จากศาสตร์สู่การนำไปใช้ Syn Bio : Connection Science with Business and Life มีการระดมความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำงานวิจัย Syn Bio ที่อยู่บนหิ้งไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดย ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองว่า ในอนาคตภาครัฐจะให้ความสำคัญเรื่อง Syn Bio เพราะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบจากความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมหาศาล

ดร.อัครวิทย์ ยกตัวอย่างว่า หากนำจุลินทรีย์ที่ไทยมีอยู่นับล้าน ๆ ชนิด มาใช้ประโยชน์เพียง 1% จะเกิดประโยชน์มาก ดังนั้นต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นรองรับ อาทิ ธนาคารเก็บจุลินทรีย์ชีวภาพที่แยกตัวอย่างมาจากแหล่งธรรมชาตินำมาจัดเก็บให้ปลอดภัยจากสภาวะโลกร้อน

“แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ การแปลงงานวิจัย Syn Bio มาทำในเชิงธุรกิจได้อย่างไร รวมทั้งการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เพราะปัจจุบันเด็กไทยเรียนชีววิทยาน้อยมาก กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคน องค์ความรู้ และนวัตกรรม Syn Bio  ระบบการศึกษา ครู ผู้ปกครอง และโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยน Mind Set ใหม่ เพราะภาคเอกชนก้าวหน้าไปไกลมาก” ดร.อัครวิทย์ กล่าว

ด้าน น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร  กล่าวว่า เบทาโกรอยู่ในธุรกิจเกษตรปศุสัตว์ ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย แต่หลัก ๆ คือ อาหาร เมื่อต่อไปประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความตระหนักถึงอาหารสุขภาพ และการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประกอบธุรกิจจึงต้องล้อไปกับกระแสโลก ดังนั้นในเชิงธุรกิจการผลิตอาหารต้องมาจากเทคโนโลยี Syn Bio โดยสินค้าใหม่ไม่ใช่แค่ ไก่ หมู หรือไข่ไก่ อีก

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเครือเบทาโกร  เชื่อว่า โปรตีนจาก Syn Bio คงไม่ถึงขั้นจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์จริง ๆ เนื้อสัตว์ยังต้องมีอยู่ เพราะเนื้อสัตว์คือโปรตีนที่ดีที่สุด มีกรดอะมิโนมากกว่าพืช แต่มนุษย์จะปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภค ขณะนี้บริษัทมีโครงการ Syn Bio ผลิตวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ หรือเอนไซม์ในอาหารสัตว์ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สร้างความปลอดภัยด้านการผลิตอาหารที่มาจากพืชและสัตว์ สร้างทางเลือกใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

Copyright @2021 – All Right Reserved.