มลพิษโอโซนในเอเชีย
ฉุดการผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก
กระทบความมั่นคงอาหาร

by Igreen Editor

มลพิษโอโซนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในเอเชียสร้างความเสียหายต่อการปลูกข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดให้กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประมาณ 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เฉพาะจีนเพียงประเทศเดียวเสียหายถึงหนึ่งในสามของการผลิตข้าวสาลีที่มีศักยภาพ และเกือบหนึ่งในสี่ของผลผลิตข้าว เนื่องจากโอโซนขัดขวางการเจริญเติบโตของพืช

เชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิลจากรถยนต์และอุตสาหกรรมจึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำให้คุณภาพอากาศที่แย่ลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรในเอเชียตะวันออกอีกด้วย

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Food เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีมลพิษจากโอโซนในระดับสูง ในขณะที่เอเชียเป็นแหล่งผลิตข้าวมากถึง 90% ของโลก ซึ่งนักวิจัยที่นำโดย Zhaozhong Feng จาก Nanjing University of Information Science & Technology กล่าวว่า เอเชียเป็นแหล่งรวมของโอโซนซึ่งเกิดขึ้นจากแสงแดดทำปฏิกิริยากับก๊าซเรือนกระจก เช่น ไนตรัสออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ในชั้นสตราโตสเฟียร์ ชั้นโอโซนจะช่วยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งถือว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต แต่ใกล้กับพื้นผิวโลก โอโซนสามารถทำร้ายพืชและสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ โดยเฉพาะการสร้างความเสียหายโดยตรงต่อภาคการเกษตร และกระทบความมั่นคงด้านอาหาร

จากการใช้แบบจำลองตรวจสอบนักวิจัยพบว่า การปลูกข้าวสาลีในจีนทุกปีได้รับความเสียหายเฉลี่ย 33% เกาหลีใต้ 28% และญี่ปุ่น 16% ในขณะที่ข้าวในจีนเสียหายเฉลี่ย 23% และพบด้วยว่าสายพันธุ์ลูกผสมในเกาหลีใต้ มีความเสี่ยงมากกว่าพันธุ์แท้อยู่ที่เกือบ 11% ขณะที่ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 5%

นี่เป็นข้อกังวลสำหรับจีนเนื่องจากเป็นประเทศที่ผลิตอาหารหนึ่งในห้าสำหรับเลี้ยงประชากรโลก แต่มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรเพียง 7% เนื่องจากอุตสาหกรรม พลังงาน และการขยายตัวของเมืองแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่ดินที่มีอย่างจำกัด จากการสำรวจที่ดินของรัฐที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วพบว่าจีนจึงสูญเสียพื้นที่ทำกินประมาณ 6% หรือ 7.5 ล้านเฮกตาร์ระหว่างปี 2009 ถึง 2019

ในขณะที่ปักกิ่งได้ขีด “เส้นสีแดง” เพื่อปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงคาดการณ์ว่ายอดรวมจะลดลงอีกภายในปี 2030

Katrina Sharps นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ของศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ในบางพื้นที่ของโลก มลพิษจากโอโซนมีผลเท่ากับหรือแย่กว่าสำหรับพืชผลมากกว่าแรงกดดันจากความร้อน ความแห้งแล้ง และแมลงศัตรูพืช ในการศึกษาปี 2018 นักวิจัยประมาณการการสูญเสียผลผลิตข้าวสาลีทั่วโลกจากมลภาวะโอโซนระหว่างปี 2010 ถึง 2012 มีมูลค่ารวม 24,200 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ทางแก้ในมุมมองของ Kazuhiko Kobayashi ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า จะต้องมีการควบคุมมลพิษทางอากาศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ให้เหมือนอเมริกาเหนือและยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการลดระดับโอโซน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าโอโซนส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการผลิตพืชผล เขากล่าวกับเอเอฟพี

จากการวิจัยครั้งนี้ผลศึกษาพบว่ามลพิษโอโซนมีต่อการปลูกข้าวสาลีในเอเชียตะวันออก มูลค่า 22,000 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยข้าว 33,000 ล้านดอลลาร์ และข้าวโพดมูลค่า 7,800 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโอโซนเป็นสารก่อมลพิษทุติยภูมิ จึงอาจต้องใช้เวลาในการควบคุมนานถึง 20 ปี ศาสตราจารย์ Feng กล่าวกับ CGTN

อ้างอิง:
Gloria Dickie (jan 17, 2022) “Ozone harms East Asian crops, costing $63 bln a year, scientists say” . Reuters
Sara Hussein (Jan 17, 2022) “Ozone pollution costs Asia billions in lost crops: study” . Phys
Alok Gupta (Jan 18, 2022) “Rising ground ozone pollution causes crop loss worth $63b in E Asia” . cgtn

Copyright @2021 – All Right Reserved.