2 ปรากฎการณ์ดาราศาสตร์เดือนนี้ ดาวศุกร์สว่างสุด – กลางวันเท่ากลางคืน

by Admin

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ระบุผ่านทางเฟสบุ๊กเพจว่า ในวันที่ 18 ก.ย. 2566 ช่วงรุ่งเช้า ‘ดาวศุกร์’ จะปรากฏสว่างเด่นชัด สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.25 น. ถึงรุ่งเช้า ซึ่งเป็นวันที่ดาวศุกร์สว่างสุดในรอบปี

อีกปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ประจำเดือนกันยายนคือ ‘กลางวันเท่ากับกลางคืน’ โดยในวันที่ 23 ก.ย 2566 จะเป็นวัน Autumnal Equinox ที่เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน หรือที่เรียกในภาษาไทยว่าวันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

Autumnal Equinox คำว่า Equinox มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” 

โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี

การเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ส่งผลโลกมีอุณหภูมิต่างกัน ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนต่างกัน ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก วันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ประเทศทางซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ 

.

ที่มา 

  • NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Copyright @2021 – All Right Reserved.