รัฐวางเป้าหมายปี 65
เลิกใช้พลาสติก 100%
ถุงหูหิ้ว โฟม แก้วน้ำและหลอด

by Admin

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

แผนดังกล่าวมีเป้าหมาย ดังนี้ 1. เป้าหมายที่ 1 การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ภายในปี 2565 ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม 3) แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ 4) หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปีฐาน 2562 รวมการใช้พลาสติก 3 ประเภทอยู่ที่ 384,024 ตัน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว

เป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่า 50% ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี 2565 ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP) 2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE) 3) ขวดพลาสติกทุกชนิด 4) ฝาขวด 5) แก้วพลาสติก 6) ถาด/กล่องอาหาร และ 7) ช้อน/ส้อม/มีด

ในปีฐาน 2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ 50% หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน

ประกอบด้วย มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ

2. มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

3. มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมให้ประชาชนลด และคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

กลไกการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1. สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารขององค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

2. การสร้างความเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินงานในทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้แก่ หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค

3.การใช้เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ได้แก่ 1) มาตรการทางการเงินการคลัง โดยอาจเป็นเงินงบประมาณจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ เงินลงทุนจากภาคเอกชน เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ และงบประมาณแผ่นดิน 

2) การสร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ และการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์รวมทั้งเครื่องมือทางสังคมเพื่อสนับสนุนการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 3) การสนับสนุนการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบการจัดการ ระบบฐานข้อมูล นวัตกรรมในการจัดการขยะพลาสติกทั้งบนบกและทะเล 

4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อการป้องกันขยะบกลงสู่ทะเล และ 5) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือเร่งออกกฎระเบียบข้อบังคับ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก ได้ประมาณ 2,500 ไร่ โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน

Copyright @2021 – All Right Reserved.