รอดูรูปธรรมผลงานสิ้นปีนี้
กทม.ผนึกกำลังหลายหน่วยงาน
ตัดทิ้งสายสื่อสาร 800 กม. ใน 16 เขต

by Admin

การแก้ปัญหาสายสื่อสารระโยงระยางรกหูรกตาตามเสาไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเตรียมเอาลงดินเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ รับเป็นเจ้าภาพคนกลางประสานกับทุกหน่วยงานตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมแก้ปัญหานี้ร่วมกับ กทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ประชุมหารือเรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ร่วมกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จะดำเนินการใน 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ การจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังก่อน แต่ยังไม่ถึงกับต้องเอาสายลงดินทันที อย่างน้อยเอาสายตายหรือสายที่ไม่ใช้งานรื้อออกให้หมดก่อน

ทั้งนี้ กสทช. มีแผนอยู่แล้วและมีเงินสนับสนุนให้ด้วย เนื่องจากต้องใช้แรงงานในการคัดเลือกสายที่ไม่ได้ใช้งานออก ซึ่งปีแรกจะดำเนินการ 800 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 16 เขต ที่มีประชากรหนาแน่นและมีสายสื่อสารหนาแน่น

โดยจนถึงเดือน ก.ค.ดำเนินการไปแล้ว 20 กม. และจะต้องเร่งผลักดันให้ได้ 800 กม.ตามสัญญา โดยได้ให้นโยบายสำนักงานเขตในการดูพื้นที่ที่เป็นต้นแบบในการดำเนินการซึ่งจะนัดหมายกับ กสทช.ทำการ Mapping จุดต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้รัฐมนตรีดีอีเอสจะแต่งตั้งคณะทำงานที่มาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงดีอี กสทช. กทม. การไฟฟ้านครหลวง Operator ผู้พาดสายสื่อสาร และ operator ผู้ทำเรื่องท่อร้อยสาย เพื่อเร่งรัดกำหนดเป้าหมาย (KPI) ว่าแต่ละเดือนต้องรื้อสายสื่อสารจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม

เรื่องที่ 2 คือ การนำสายสื่อสารลงดิน ก่อนหน้านี้ กทม.ดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) แต่ขณะนี้มีผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งมีท่อร้อยสายอยู่แล้ว เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) ซึ่งมีท่อเก่าอยู่ ถ้าคิดค่าเช่าท่อแพงสุดท้ายก็จะเป็นภาระของผู้บริโภคและผู้ใช้สายสื่อสาร ซึ่งอาจจะต้องแต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการเอาสายสื่อสารลงดินอีกชุด เช่น KT กทม. กสทช. NT

“กทม.จะสนับสนุนเต็มที่และคงต้องคุยกับผู้ประกอบการว่าใช้วิธีไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป เนื่องจากการนำสายสื่อสารลงดินต้องใช้ต้นทุนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ทำท่อร้อยสายและผู้เป็นเจ้าของสายสื่อสาร เนื่องจากสายบนดินจะนำลงสู่ใต้ดินก็ต้องใช้การลงทุนเพิ่มซึ่งต้องทำให้เหมาะสม

“อย่างน้อยขั้นตอนแรกที่เราจัดระเบียบก็จะทำให้ความรกรุงรังของสายสื่อสารลดลง โดยคาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป”

จากนั้นนายชัชชาติได้ร่วมประชุมเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินร่วมกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้บริหาร กสทช. เพื่อเป็นการยืนยันจาก กสทช.ถึงแผนการดำเนินการ 800 กม. ในพื้นที่ 16 เขต ของกรุงเทพฯ ภายในปีนี้

ทั้งนี้ กสทช. ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วประมาณ 700 ล้านบาท โดยปีนี้จะดำเนินการ 16 เขตแรกก่อนที่มีประชากรหนาแน่นและสายสื่อสารหนาแน่น ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งตามแผนจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

“ในช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้คืบหน้าเพียง 25 -30% เท่านั้น โดยภายในสัปดาห์นี้ กสทช. จะเชิญผู้ประกอบการสายสื่อสาร และ กฟน. มาร่วมหารือ เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จได้ทันตามที่กำหนดภายในปี 2565

“ต่อไปนี้ กทม.จะใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 39 เพื่อแก้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง และ กทม.จะออกประกาศเพื่อบังคับใช้ในอนาคต หากใครไม่มีใบอนุญาตติดตั้งสายสื่อสารจาก กสทช.จะไม่สามารถพาดสายได้ หากใครฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนสายสื่อสารที่ไม่มีสัญญาณวิ่งหรือว่าสายตายเราจะต้องตัดทิ้งลงให้หมดเพื่อลดปัญหาสายสื่อสารผิดกฎหมายและความรกรุงรัง” นายชัชชาติระบุ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ ได้หารือเรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ร่วมกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และตัวแทนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

Copyright @2021 – All Right Reserved.