สภาหายใจภาคเหนือแนะรัฐ
ปรับเปลี่ยนการผลิต
ปกป้องป่าอนุรักษ์

by Igreen Editor
แถลงการณ์สภาหายใจภาคเหนือ
เรื่อง ให้รัฐบาลเร่งดําเนินมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่ถูกละเลย
ก่อนฤดูฝุ่นควันรอบใหม่ พ.ศ. 2565

สภาลมหายใจภาคเหนือและเครือข่ายพันธมิตร ประกอบจากกลุ่มประชาชน ชมรม องค์กรภาคเอกชน และประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นเป็นประจําทุกปี โดยมองว่าภูมิศาสตร์แอ่งกระทะภูเขาและระบบนิเวศที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 65% เป็นลักษณะเฉพาะที่มีผลต่อสภาพปัญหา ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องดําเนินการให้เกิดมีแผนและมาตรการเฉพาะ เพื่อจะเอาชนะปัญหานี้

ทั้งนี้ มีรายงานผลสรุปการแก้ปัญหาระหว่างช่วงวิกฤตฤดูแล้งที่ผ่านมาให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 โดยชี้ว่าการแก้ปัญหาดีขึ้นโดยลําดับ รวมถึงการวางแนวทางแก้ปัญหาระยะต่อไปอย่างครบครัน สภาลมหายใจภาคเหนือได้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาแล้วพบว่า การสถิติจุดความร้อนลดลงอย่างชัดเจนส่วนหนึ่งมาจากการยกระดับปัจจัยจากการบริหารจัดการในบางจังหวัด แต่ปัจจัยเอื้อสําคัญที่สุดมาจากสภาพภูมิอากาศ เกิดปรากฏการณ์ลานีญ่ามีฝนมากกว่าปกติ ค่ามลพิษและการเกิดไฟโดยเฉพาะในเดือนเมษายนลดลงเมื่อเทียบจากปีปกติ จึงไม่อาจยืนยันว่ามาตรการแก้ปัญหาของปี 2564 ได้รับความสําเร็จ

สภาลมหายใจภาคเหนือพบว่า มาตรการแก้ปัญหาของรัฐหลายประการยังมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพบ้าง ยังไม่เป็นไปตามที่แผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติฯ ประกาศ และยังไม่มีความชัดเจนจริงจังในภาพรวมเพื่อให้ปัญหามลพิษอากาศของภาคเหนือได้รับการแก้ไขในระดับที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตปกติได้เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือระยะต่อจากนี้ไปถึงปลายปี 2564– ต้นปี 2565 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุุด สภาลมหายใจภาคเหนือขอเสนอให้รัฐบาลได้โปรดให้มีมาตรการเพิ่มเติมจากแผนงานที่ดำเนินการ ได้แก่

1. รัฐบาลยังไม่จริงจังกับดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ

ข้อปัญหา – วาระแห่งชาติกําหนดว่าให้ปรับมาตรฐานคุุณภาพอากาศ PM2.5 ของไทยให้เป็นไปตาม เป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ภายในปี 2564 ก่อนฤดูฝุ่นควันที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดประชุมหารือเพื่อจะปรับมาตรฐานดังกล่าวให้เข้มงวดขึ้น แต่ก็หายเงียบไป ไม่เพียงเท่านั้นกรณีสถานีวัดคุณภาพอากาศของรัฐโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีจํานวนน้อย บางจังหวัด มีเพียงสถานีเดียว ไม่สะท้อนสภาพอากาศที่แท้จริงของจังหวัด ขณะที่เครือข่ายเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กของหน่วยงานอื่นที่มีเทคโนโลยีเชื่อถือได้กลับไม่ได้รับการส่งเสริมแท้จริง ผู้บริหารบางจังหวัดไม่มีนโยบายให้ติดตั้ง ทั้งๆ ที่มาตรฐานคุณภาพอากาศและการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศที่รวดเร็ว เจาะจงพื้นที่อย่างครอบคลุม มีผลต่อความตื่นตัวของประชาชน

ข้อเสนอ – รัฐบาลต้องประกาศมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่เป็นไปตามเป้าหมายระยะ 3 ของ WHO คือค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงปรับจาก 50มคก./ลบ.ม. เป็น 37 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีปรับจาก25มคก./ลบ.ม. เป็น15 มคก./ลบ.ม. ขอให้รัฐบาลจัดการต่อยอดขยายโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นซึ่งจะมีการติดตั้งองค์ความรู้ ในการป้องกันตัวเองของนักเรียนและชุมชนติดต้ังเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุม ทุกตําบลใน 8 จังหวัดภาคเหนือที่มีวิกฤตคุณภาพอากาศเป็นประจําทุกปีเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ประชาชน และเป็นการเตรียมการป้องกันด้านสุขภาพของตัวเองด้วยก่อนขยายไปทั้งภาคเหนือควบคู่กับการเคลื่อนไหวของสภาลมหายใจภาคเหนือต่อไป

2. ความล้มเหลวในการจัดการไฟในเขตป่าของรัฐ

ข้อปัญหา – พื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีนิเวศพิเศษต่างจากพื้นที่อื่น เป็นพื้นที่เมืองในหุบเขามีภูเขาสูง และมีป่าไม้ประมาณ 65% ของพื้นที่ สถิติหลายปีย้อนหลัง ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่เกิดจุดเกิดไฟ ไหม้สูงสุดมากกว่าพื้นที่เกษตรกรรมและอื่นๆ ปีนี้สถิติที่ได้รายงานต่อ ครม. มีจุดความร้อนของพื้นที่ภาคเหนือในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 43% รองลงมาคือป่าสงวนแห่งชาติ 37% ของจุดความร้อนทั้งหมด ทั้งๆ ที่รู้ว่าพื้นที่ป่าของรัฐ เป็นแหล่งกําเนิดไฟและมลพิษฝุ่นควันหลักของภาคเหนือตอนบน แต่รัฐยังไม่มีมาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ ปีที่ผ่านมารัฐออกมาตรการชิงเก็บใบไม้จากป่าได้ประมาณ 2,000 ตัน จากชีวมวลในป่าภาคเหนือไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัน และกล่าวอ้างว่าเป็นมาตรการที่ได้ผล

ขณะที่ในระหว่างปีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ป่ายังไม่มีมาตรการเชิงป้องกันตามหลัก Precautionary Principle อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระหว่างปี การเพิ่มประสิทธิภาพระบบป้องกันและดับไฟเพิ่มจากที่เคยเป็นมา รวมถึงการไม่เปิดเผยสาเหตุข้อปัญหาของการเกิดไฟจํานวนมากในป่าต่อสาธารณะ ทั้งนี้รัฐบาลกลางยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อมาตรการบริหารจัดการไฟ (prescribed burning ) หรือที่ชาวบ้านเรียกชิงเผาในพื้นที่ป่าของรัฐ ทั้งที่มาตรการดังกล่าวสามารถนํามาปรับใช้เพื่อลดเชื้อเพลิงได้

ข้อเสนอ – ให้รัฐบาลเร่งศึกษาสาเหตุต้นตอการเกิดไฟในพื้นที่ป่าภาคเหนืออย่างจริงจัง และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขให้ตรงกับลักษณะปัญหา ปีที่ผ่านมามีการระดมสรรพกําลังป้องกันดอยสุเทพ-ปุย ไม่ให้เกิดไฟไหม้ และประสบผลสําเร็จในระดับสําคัญ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหากรัฐมีเจตจํานงในการปกป้องพื้นที่ป่าไม่ให้เกิดไฟ สามารถทําได้ นอกจากนั้นขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าโดยการบริหารจัดการไฟตามหลักวิชาการ (prescribed burning) ที่ไม่ใช่การเผาแปลงใหญ่แบบไม่มีหลักการ

ดังตัวอย่างที่เกิดจากในปีก่อนๆ การเผาไร่อ้อยที่ภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคอีสานที่ทําให้ค่าอากาศเลวร้ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและอาจจะพิจารณาดําเนินการได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่การเผาในฤดูแล้งเพียงประการเดียว ที่สําคัญที่สุด คือ เปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐอื่นและภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนในการร่วมแก้ปัญหาตลอดทั้งปี โดยไม่ติดข้อปัญหาทางกฎหมายป่าไม้

3. การบริหารจัดการเผาในพื้นที่เกษตรยังไม่มีเป้าหมายสู่ความยั่งยืน

ข้อปัญหา – ไฟในภาคเกษตรเป็นแหล่งกําเนิดมลพิษฝุ่นควัน PM2.5 ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไฟภาคเกษตรเป็นอีกแหล่งมลพิษที่ก่อปัญหาเรื้อรังให้กับจังหวัดภาคเหนือ ปัญหาที่พบก็คือ ไฟภาคเกษตรเกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตและเศรษฐกิจของประชาชน อีกทั้งยังเป็นสภาพจําเป็นภายใต้นิเวศแวดล้อม เช่น ภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนบนพื้นที่สูง จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการไฟกลุ่มนี้บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ความเป็นธรรม และความเหมาะสม ไฟบางอย่างสามารถจัดการเลื่อน/ชะลอ หรือเปลี่ยนวิธี ไฟบางอย่างจําเป็นต้องมีแต่ให้ถูกจังหวะเวลา ฯลฯ

ทุกปีที่ผ่านมา ควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผาภาคเกษตร เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย เผาตอซังในนาข้าว รวมถึงการทําไร่ในที่สูง ปมปัญหาที่แท้จริงก็คือ รัฐบาลยังไม่เคยมีมาตรการระยะยาวอย่างยั่งยืนเพื่อเปลี่ยนการผลิตที่ไม่ยั่งยืนบนพื้นที่สูงให้เป็นการเกษตรที่ยั่งยืน เพราะติดปัญหาระเบียบข้อกฎหมายและเจตจํานงของราชการเอง

ข้อเสนอ – ให้รัฐบาลเร่งรัดทุกมาตรการเปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่นที่ยั่งยืน โดยขอให้เกิดมาตรการเชิงรุกกําหนดเป้าหมายโซนนิ่งเกิดพื้นที่นิเวศเกษตรยั่งยืน รับรองสิทธิเกษตรกรให้ปลูกพืชผลยืนต้น ปลอดการใช้ไฟ โดยกําหนดเป้าหมายเชิงปริมาณให้ชัดเจน และให้เกิดการดําเนินการร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นได้ภายในปีงบประมาณ 2564 กรณีการเผาในพื้นราบ ส่วนใหญ่เป็นการเผาที่สามารถจัดการได้ กรณียังไม่สามารถใช้วิธีอื่นทดแทน เช่น ไร่อ้อยในสัดส่วนที่ยังจําเป็นต้องเผา ให้มีมาตรการบริหารจัดการไม่ให้เผาแปลงใหญ่ ไม่ให้เผาข้ามคืน โดยให้เสร็จสิ้นภายในเวลากําหนด

4. กระจายอํานาจร่วมจัดการไฟให้ชุมชนและท้องถิ่น

ข้อปัญหา – หนึ่งในมาตรการหลักตามวาระแห่งชาติคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยมอบอํานาจผู้ว่าราชการจังหวัด Single Command ใช้อํานาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดภาคเหนือดําเนินการในรายละเอียดแตกต่างกันไปตาม นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดตน บ้างเน้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงและเพิ่มประสิทธิภาพดับไฟ บ้างเน้นที่ชิงบริหารเชื้อเพลิงและการห้ามเผาเด็ดขาดตามห้วงเวลากําหนด

แต่ในภาพรวมก็คือ อํานาจนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อเกิดมีปัญหาพิบัติภัย จึงมีอํานาจระยะสั้นเฉพาะช่วงฤดูวิกฤต ขณะที่ระหว่างปีอํานาจผู้ว่าราชการจังหวัดข้ามไปก้าวก่าย หน่วยงานอื่นได้ยาก โดยเฉพาะเขตพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีกฎหมายของตนเอง นอกจากนั้นเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามวาระแห่งชาติไม่ให้บทบาทของท้องที่ชุมชนหมู่บ้านและองค์กรปกครองท้องถิ่นมากนัก ถึงแม้ว่าจะมีการถ่ายโอนภารกิจของกรมป่าไม้ให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดป่าสงวนแห่งชาติแล้ว แต่ในทางปฏิบัติองค์กรท้องถิ่นยังไม่สามารถดําเนินการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาได้

ข้อเสนอ – ดังนั้นเพื่อให้เกิดกระบวนการเพิ่มบทบาทของชุมชนท้องที่และท้องถิ่นในการร่วมออกแบบ วางแผน กําหนดมาตรการระดับพื้นที่สามารถดําเนินการได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีงบประมาณสนับสนุนด้วย นอกจากจะมีกลไกแก้ปัญหาที่ทํางานกับชุมชนทั้งปีแล้ว ยังเกิดมีประสิทธิภาพระหว่างการบูรณาการระหว่างชุมชน และท้องถิ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงเผชิญเหตุในช่วงฤดูไฟ และมีการเสนอให้แต่ละจังหวัดมีการดําเนินการ พื้นที่ต้นแบบชุมชนนําร่องที่เป็นต้นแบบแต่ละจังหวัด ครอบคลุมทั่วภาคเหนือ เพื่อความยั่งยืนและขยายผลในอนาคตต่อไป

5. เร่งรัดนํานวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง เท่าเทียม

ข้อปัญหา – ระยะ 2-3 ปีมานี้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหลายประการที่รัฐและหน่วยงานทางวิชาการนํามาช่วยบริหารจัดการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟ ทั้งเทคโนโลยีดาวเทียม โดรนและอากาศยาน โมเดลพยากรณ์อากาศ แอปพลิเคชั่นช่วยจัดการด้านต่างๆ กลุ่มสื่อสารสั่งการ รวมถึงข้อเสนอใช้นวัตกรรมลดฝุ่น เช่น หอฟอกอากาศ ฯลฯ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยบริหารจัดการ และให้ประชาชนเกิดความรับรู้ข้อมูลข่าวสารพิบัติภัย ยังไม่ครอบคลุม และยังจํากัดอยู่เฉพาะจังหวัดใหญ่

เช่น การสร้างแอปพลิเคชั่นแสดงค่าอากาศเฉพาะเชียงใหม่ หรือ เชียงราย เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้เริ่มรายงานสภาพอากาศที่มีผลต่อวิกฤตฝุ่นควัน เช่น รายงานการยกตัวของอากาศ mixing height /แรงลม/และระดับการระบายอากาศVentilation Rate แต่ก็ยังรายงานเฉพาะเมืองใหญ่ในภาคเหนือ รายงานเพียงจังหวัดเชียงใหม่จังหวัดเดียว เช่นเดียวกับการนําเทคโนโลยีโมเดลพยากรณ์อากาศ มาใช้เพื่อบริหารจัดการไฟ มีระบบวอร์รูม มีจอแสดงสภาพอากาศ ทิศทางลมอย่างเป็นปัจจุบัน แต่เทคโนโลยีที่กล่าวถึง ไม่มีใช้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงทุกจังหวัด

ข้อเสนอ – สภาลมหายใจภาคเหนือเสนอให้หน่วยงานรัฐใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ กว้างขวางและครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม และให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการรับรู้ข้อมูลสภาพการณ์ ระหว่างที่เกิดปัญหามลพิษอากาศอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสะดวกโดยตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศมลพิษฝุ่นควันไฟ และระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกระดับจังหวัด และให้มีการตั้งวอร์รูมบัญชาการสถานการณ์ระดับจังหวัด ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ทราบข้อมูลดาวเทียม สภาวะอากาศและการสื่อสารสั่งการที่ทันสมัย

รวมถึงเกิดการนํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่มาจากผลการวิจัย การริเริ่มแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรมมาใช้ให้แพร่หลาย โดยสร้างกลไกความร่วมมือกับภาควิชาการและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงชุมชนประชาสังคมตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

6. เร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเชิงรุก

ข้อปัญหา เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม (Trans-boundary Externality) เป็นปัญหาใหญ่และสร้างฝุ่นควันให้กับภาคเหนือ การเกิดผลกระทบจากภายนอกข้ามพรมแดนส่งผลต่อ ระดับคุณภาพอากาศของจังหวัดที่มีชายแดนต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน และยังไม่มีการวิจัยทางวิชาการ ว่ามลพิษดังกล่าวกระทบต่อจังหวัดอื่นๆ ในวงกว้างในลักษณะใดบ้าง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามบอกว่า มีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับต่างๆ ซึ่งแทบไม่ได้ผลคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติ บทเรียนการเกิดมลพิษข้ามแดนจากประเทศอินโดนีเซียข้ามมายังประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ราวปี 2540 เป็นต้นมา ใช้กลไกทางการ ทูตหลายระดับยังไม่ประสบผลสําเร็จ จนกระทั่งต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ฟ้องร้องเอาผิดผู้ก่อมลพิษควบคู่ไป ด้วย

ข้อเสนอ – ส่งเสริมการประสานงานระหว่างประชาชนกับประชาชนควบคู่การเจรจาระหว่างหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมโครงการการเปลี่ยนอาชีพและรับซื้อผลผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พรมแดนตลอดถึงสินค้า ข้ามแดน และพิจารณาเตรียมศึกษาและนํามาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติม

7. ส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน

ข้อปัญหา –การได้รับอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับจากการปกป้องของภาครัฐ ที่จะสามารถบริหารจัดการได้ หลักการข้อนี้เป็นหลักพื้นฐานที่รัฐควรส่งเสริมให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง และเกิดสภาพปฏิบัติจริงในทุกระดับ

ข้อเสนอ – ให้มีการประกาศหลักปฏิบัติของหน่วยงานรัฐเพื่อรับรองสิทธิในอากาศสะอาดของประชาชน เกิดขึ้นและใช้ปฏิบัติจริง

8. สุขภาพของประชาชนต้องมาก่อน

ข้อปัญหา – ส่วนใหญ่ของมาตรการรัฐบาลเน้นไปที่การดับไฟ ให้น้ำหนักกับการป้องกันตนเอง และรักษาสุขภาพของประชาชนน้อยอย่างเห็นได้ชัด ทุกๆ ปีมีงบประมาณรณรงค์ที่ไม่ได้ลงลึกและเน้นยํ้าจริงจัง หรือแค่ มีหน้ากากแจกจํานวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่หน้ากากที่กันฝุ่น PM2.5 ได้ระหว่างที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน คําเตือนของรัฐยังไม่มีผลต่อสํานึกและการปฏิบัติตัวของประชาชน

ข้อเสนอ – ให้รณรงค์ความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเป้าหมายตลอดทั้งปี ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพต่อคนในชุมชน โดยเฉพาะผลกระทบด้านการพัฒนาการของเด็กเล็กให้มีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ต้นปีก่อนฤดูฝุ่นควันไฟ ให้มีการตั้งห้องปลอดภัยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศและแจกจ่ายหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านศูนย์เด็กเล็ก และมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ปลอดภัยจากฝุ่นควัน เกินมาตรฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ภาคเหนือที่มีค่ามลพิษเกินมาตรฐาน รวมถึงแนวทางหยุดเรียนหรือหยุดงาน กลางแจ้ง กรณีค่าฝุ่นควันเกิน มาตรฐาน ให้เป็นข้อปฏิบัติอย่างครอบคลุม

ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

Copyright @2021 – All Right Reserved.