ยูเอ็นแถลง ‘ชิลี’ ถอนตัว
เจ้าภาพจัดประชุม COP25

by Igreen Editor

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงซันติอาโก ประเทศชิลีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ว่า ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา แห่งชิลี แถลงทางโทรทัศน์ว่า จากเหตุชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้น ชิลีจึงขอตัดสินใจยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ 2 เวที คือการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ เอเปก ซัมมิต ตามกำหนดในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ และการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 ในวันที่ 2-13 ธันวาคมนี้

ขณะที่ แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 กล่าวว่า กำลังมีการพิจารณาทางเลือกใหม่สำหรับประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุม

การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 ปี 2562 หรือที่เรียกว่า COP25 กำหนดจัดขึ้นที่กรุงซานติอาโก เมืองหลวงของประเทศชิลี ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2562 และในการนี้ยังมีการประชุมที่สำคัญด้านสภาพภูมิอากาศโลกไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือ การประชุม ครั้งที่ 15 ของพิธีสารเกียวโต (CMP15) และการประชุมครั้งที่สองของฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับความตกลงปารีส (CMA2) ดังนั้นการประชุมที่กรุงซานติอาโกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ก่อนหน้านี้ ชิลีไม่ใช่เจ้าภาพการจัดประชุมตั้งแต่แรก โดยบทบาทนี้เป็นของประเทศบราซิล แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2561 บราซิลได้ยกเลิกข้อเสนอในการเป็นเจ้าภาพการประชุม COP25 ทั้ง ๆ ที่บราซิลเพิ่งจะได้รับอนุมัติให้เป็นเจ้าภาพหลังติดขัดเรื่องความขัดแย้งกับเวเนซุเอลา โดยอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณและยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ หลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ซึ่งมีท่าทีกังขาต่อปัญหาโลกร้อนและความร่วมมือกันในระดับโลก (1)

Alcalde Claudio castro participó en el Lanzamiento COP25 que se llevo a cabo en el Palacio De La Moneda Foto: Víctor Tabja

ชิลีในฐานะเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคกับบราซิล และยังเป็นประธาน COP25 (ซึ่งหมุนเวียนกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ) จึงรับเป็นเจ้าภาพและบรรลุความตกลงกับสหประชาชาติไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 หน้าที่เจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความสนใจปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เพราะ COP25 ถูกขนานนามว่าเป็น “COP of action” หรือการประชุมที่หวังให้เกิดการลงมือปฏิบัติ และถูกคาดหวังว่าจะบรรลุผลสำเร็จด้วยการต่อยอดผลจากการประชุม COP24 ที่ประเทศโปแลนด์ เมื่อปีที่แล้ว (2)

โดยในการประชุมครั้งนี้มีการบรรลุผลคาโตวีเซ่ (Katowice climate package) ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายต่อยอดจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) (3) ดังนั้น COP25 จึงเป็นบันไดก้าวสำคัญของการปรับใช้ข้อตกลงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน

ชิลีมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้ เพราะมีรัฐบาลที่มุ่งมั่นในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในเดือนมิถุนายน 2562 (เดือนเดียวกับที่สหประชาชาติมีมติให้ชิลีเป็นเจ้าภาพ COP25) ชิลีประกาศแผนการที่จะยกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปี 2583 และมีเป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในปี 2593 (2) นอกจากนี้ ชิลียังปล่อยมลพิษทั่วโลกเพียง 0.25%

อย่างไรก็ตาม ชิลีกลับมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับที่สูงมาก โดยเข้าเงื่อนไขถึง 7 ใน 9 ข้อที่จัดอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

โดยเงื่อนไข 9 ข้อตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (FCCC) ประกอบด้วย 1) ประเทศเกาะเล็ก ๆ 2) ประเทศที่มีพื้นที่ชายฝั่งต่ำ 3) ประเทศที่มีพื้นที่แห้งแล้งและป่ากึ่งแห้งแล้งและพื้นที่เสี่ยงต่อการเสื่อมโทรมของป่า 4) ประเทศที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ

5) ประเทศที่มีพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งและทะเลทราย 6) ประเทศที่มีพื้นที่สภาพอากาศเป็นมลพิษในเมืองสูง 7) ประเทศที่มีพื้นที่ซึ่งมีระบบนิเวศที่เปราะบางรวมถึงระบบนิเวศภูเขา 8) ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาอย่างมากต่อรายได้ที่เกิดจากการผลิตการแปรรูปและการส่งออกและ / หรือการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลและผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานสูงที่เกี่ยวข้อง และ 9) ประเทศที่ไม่มีทางออกทางทางทะเลในการขนส่ง

ทำให้ชิลีติดอยู่ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์โลกร้อน ตามรายงานของ Global Climate Risk Index 2017 ที่เสนอในการประชุม COP22 (4)

นอกจากการประชุม COP25 จะถูกขนานนามว่าเป็น “COP of action” แล้ว ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Time for Action COP” ซึ่งสะท้อนว่าการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการลงมือ มากกว่าการแสวงหาข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น และมีความจำเป็นที่ทุกประเทศจะขยายพันธกรณีเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนก่อนที่จะสายเกินไป ดังเช่นกรณีของเจ้าภาพชิลีที่อยู่ใน
1 ใน 10 ประเทศที่เสี่ยงที่สุดจากภาวะดังกล่าว

ในฐานะเจ้าภาพ ชิลีแสดงวิสัยทัศน์ของการประชุมเอาไว้ว่า COP ต้องส่งเสริมการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่เป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจว่าจะมีกระบวนการที่ครอบคลุมสำหรับทุกฝ่าย และการบูรณาการระหว่างประชาคมโลกวิทยาศาสตร์และภาคเอกชนอย่างจริงจัง

โดยความท้าทายก็คือ การผลักดันให้มีความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมเป็นที่รับรู้โดยประชาชนทั่วไป เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เกิดจริงในขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอีก 50 ปีข้างหน้า (5)

หนึ่งในคณะทำงานของประธานการประชุม COP25 คือ กอนซาโล มูโญซ อาโบกาบีร์ (Gonzalo Munoz Abogabir) ดำรงตำแหน่ง Champion ของการประชุมครั้งนี้ (Champion  ริเริ่มในความตกลงปารีส มีบทบาทในการให้คำแนะนำประธาน COP ในการผลักดันแผนงานด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับชาติและระดับโลก)

อาโบกาบีร์ได้มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาคมโลกเพิ่มความพยายามยิ่งกว่านี้ในการแก้ปัญหา โดยเขากล่าวว่า ชิลีได้ส่งหนังสือเวียนไปยังประเทศต่าง ๆ ก่อนการประชุม Climate Action ที่นิวยอร์ก เพื่อระดมกำลังภาคส่วนต่าง ๆ จากทั่วโลก เพื่อหาหนทางปกป้องโลกจากการไม่ให้อุณหภูมิขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ในอันที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของภาวะโลกร้อนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (6)

ชิลีพยายามทุกทางเพื่อทำหน้าที่เจ้าภาพที่มีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม คาโรลินา ชมิดท์ ในฐานะประธาน COP25 กล่าวว่า “ชิลีเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ตัดสินใจจะอัพเดท NDC ของตน” ซึ่ง NDC คืออัตรากำหนดสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้รัฐบาลชิลียังได้เปิดตัวหน่วยงานด้านปรึกษาหารือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (7)

สำหรับการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลชิลีในฐานะเจ้าภาพได้เสนอหัวข้อสำหรับการอภิปรายต่าง ๆ เช่น การดูแลมหาสมุทรและแอนตาร์กติกา, การสนับสนุนยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (7)

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงซันติอาโกประเทศชิลีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ว่า ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา แห่งชิลี แถลงทางโทรทัศน์ว่า จากเหตุชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้น ชิลีจึงขอตัดสินใจยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ 2 เวที คือการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ เอเปก ซัมมิต ตามกำหนดในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ และการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 ในวันที่ 2-13 ธันวาคมนี้

ขณะที่ แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 กล่าวว่า กำลังมีการพิจารณาทางเลือกใหม่สำหรับประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมว่าจะเป็นสถานที่ใด (8)

อ้างอิง

  1. Darby, Megan. (28 November 2018). “Brazil backs out of hosting 2019 UN climate summit”. Climate Home News. https://www.climatechangenews.com/2018/11/28/brazil-backs-hosting-2019-un-climate-summit/
  2. United Nations Framework Convention on Climate Change. (25 June 2019). “Chile and the UN Sign Host Country Agreement for COP25”. https://unfccc.int/news/chile-and-the-un-sign-host-country-agreement-for-cop25
  3. United Nations Framework Convention on Climate Change “The Katowice climate package: Making The Paris Agreement Work For All”. Retrieved 10/26/2019. https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/katowice-climate-package
  4. COP25 “Why Chile?” Retrieved 10/26/2019. https://www.cop25.cl/en/
  5. COP25 “Vision” Retrieved 10/26/2019. https://www.cop25.cl/en/about-us/#vision
  6. Abogabir, Gonzalo Munoz. “Call to step-up ambition for UNSG Summit Mitigation Strategy”. Retrieved 10/26/2019. https://www.cop25.cl/wp-content/uploads/2019/08/Call-to-join-the-mitigation-alliance.pdf
  7. Prensa Latina. (17 October 2019). “Chile prepares conditions for COP25”. https://www.plenglish.com/index.php?o=rn&id=48036&SEO=chile-prepares-conditions-for-cop25
  8. https://www.dailynews.co.th/foreign/739213

Copyright @2021 – All Right Reserved.