ปี 64 อุณหภูมิโลกและมหาสมุทร
ร้อนที่สุดเท่าที่เคยถูกบันทึกไว้

by Igreen Editor

ภาวะโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เราเป็นเหมือน “กบถูกต้ม” ที่ความร้อนเดือดมากขึ้นทีละน้อยจนตายไม่รู้ตัว นี่คือข้อมูลล่าสุดที่เราได้มาจากปี 2564 ซึ่งเป็นอีกปีที่ร้อนที่สุดจากเป็นเวลา 7 ปีติดต่อกันที่โลกร้อนไม่หยุดเลย

การประเมินประจำปีโดย Copernicus หน่วยงานด้านสภาพอากาศของยุโรปพบว่า 7 ปีที่ผ่านมาร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยที่อุณหภูมิโลกในปี 2564 อยู่ที่ 1.2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

Copernicus ยังพบว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทรงพลังมากนั้นเพิ่มขึ้น “อย่างมาก” ซึ่งเป็นสถิติใหม่เช่นกัน

ระดับคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในปี 2564 ทำสถิติสูงสุดใหม่ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 414 ส่วนต่อล้าน และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมากอยู่ที่ 280 ส่วนในล้านส่วน

ในขณะที่ระดับก๊าซมีเทนที่ส่วนใหญ่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมปุศสัตว์กำลังเร่งตัวขึ้นโดยมีอัตราการเติบโตในปี 2564 ประมาณสามเท่าของอัตราของทศวรรษที่ผ่านมา

ภาวะสุดโต่งเหล่านี้ทำให้สภาพอากาศโลกสุดโต่งไปด้วย มันไม่ใช่แค่ร้อนขึ้นเท่านั้น เช่น ในจีน หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของจีนเพิ่งประกาศว่าปี 2564 เป็นปีที่ร้อนที่สุดของประเทศเป็นประวัติการณ์

ผลที่ตามมาก็คือภาคเหนือที่ปกติจะหนาวจัดกลับเจอปีที่ฝนตกชุกที่สุด ทั่วประเทศยังเจอสภาพอากาศเลวร้ายเป็นวงกว้าง เช่น น้ำท่วมในเดือนกรกฎาคมในมณฑลเหอหนานทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

ขณะที่ผืนดินร้อนที่สุดติดต่อกันมาหลายปีแล้ว (รวมแล้วร้อนเพิ่มขึ้น 22 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2000 หรือ พ.ศ. 2543 โดยเว้นวรรคไป 1 ปี) ทะเลก็เจอเข้ากับสถิติใหม่เหมือนกัน

ตามรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาใน Advances in Atmospheric Sciences ระบุว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรในปี 2564 “ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยบันทึกไว้”

นักวิจัยพบว่า ตั้งแต่ปี 2501 มหาสมุทรของโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราดังกล่าวเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษ 1980 (ราวปี 2530) โดยร้อนขึ้นแปดเท่าเมื่อเทียบกับในทศวรรษก่อน

รายงานระบุว่า ทะเลที่ร้อนขึ้นเร็วที่สุด ได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และอินเดีย ปัจจัยระยะสั้นคือปรากฏการร์เอลนีโญและลานีญา แต่ตัวการใหญ่คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รายงานระบุด้วยว่า “ความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นตัวการดักจับความร้อนภายในระบบภูมิอากาศ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบภูมิอากาศ”

ผลที่ตามมาของอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นมีตั้งแต่พายุโซนร้อนที่รุนแรงไปจนถึงการละลายอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

ข้อมูลจาก
• Damian Carrington. (January 10, 2022). “Climate crisis: last seven years the hottest on record, 2021 data shows”. Guardian.
• David Knowles. (January 12, 2022). “The world’s oceans saw record warming in 2021 as climate change continues apace”. Yahoo News.

Copyright @2021 – All Right Reserved.