“ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์” ยักษ์ใหญ่ที่กำลังละลาย นักวิทยาศาสตร์ พบรอยแยกของธารน้ำแข็ง ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คาดว่า น้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 10 เมตร ภายในปี 2300
“ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์” (Greenland Ice Sheet) เป็นแหล่งน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมดของเกาะกรีนแลนด์ ทำให้มันเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำแข็งที่สำคัญที่สุดในโลก และมีผลกระทบอย่างมากต่อระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ ประกอบไปด้วยน้ำแข็งที่สะสมมานานหลายล้านปี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนของระบบนิเวศในภูมิภาคแถบอาร์กติก ถึงแม้ว่าผู้คนจะคุ้นเคยกับภาพของธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ปกคลุมเกาะกรีนแลนด์ แต่ในปัจจุบัน ธารน้ำแข็งแห่งนี้ กำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะละลายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก
การละลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า อุณหภูมิในกรีนแลนด์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การละลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน น้ำแข็งที่ละลายไหลลงสู่ทะเล กลายเป็นน้ำทะเลที่มีระดับเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก
การละลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากการละลายนี้เกิดขึ้นในระดับที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
รอยแยกยักษ์บนน้ำแข็งกรีนแลนด์ขยายเร็วขึ้น: สัญญาณเตือนภัยน้ำทะเลสูง
การศึกษาล่าสุดพบว่า แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ กำลังแตกร้าวเร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การศึกษาวิจัยพบว่า รอยแยกขนาดใหญ่บนแผ่นน้ำแข็งใน “กรีนแลนด์” กำลังขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มที่จะทำให้น้ำแข็งละลายเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น
นักวิจัยใช้แผนที่พื้นผิวสามมิติ 8,000 แผ่น จากภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์ความละเอียดสูง เพื่อประเมินวิวัฒนาการของรอยแตกร้าวบนพื้นผิวแผ่นน้ำแข็งระหว่างปี 2016 ถึง 2021 พวกเขาพบว่า รอยแยก หรือรอยแยกรูปลิ่มที่เกิดขึ้นในธารน้ำแข็ง มีขนาดและความลึกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และในอัตราที่เร็วกว่าที่ตรวจพบก่อนหน้านี้
“สิ่งที่ผมประหลาดใจมากที่สุดก็คือ ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนี้ การศึกษาครั้งก่อนแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหลายทศวรรษ… และตอนนี้ เรากำลังแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 ปี” ดร. ทอม ชัดลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดอร์แฮมและหัวหน้าคณะผู้จัดทำการศึกษากล่าว
ตั้งแต่ปี 1992 ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 14 มิลลิเมตร ตามการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ สาเหตุหลักมาจากการละลายของน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งการไหลของน้ำแข็งลงสู่มหาสมุทรที่มากขึ้นจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ผลการวิจัยล่าสุดชี้ว่า น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายตัวเฉลี่ยถึง 30 ล้านตันในทุกๆ 1 ชั่วโมง สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตการณ์โลกรวนนับวันจะยิ่งสร้างผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับการศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อระบุตำแหน่งสิ้นสุดของธารน้ำแข็งหลายแห่งของกรีนแลนด์ทุกเดือน นับตั้งแต่ปี 1985-2022 ซึ่งผลออกมาว่า น้ำแข็งมีการหดตัวลงอย่างมาก และเกิดขึ้นในหลายจุด โดยรวมแล้วปริมาณน้ำแข็งที่หายไปมีมากนับล้านล้านตัน
“แบบจำลองขนาดใหญ่หลายแบบของเรามีปัญหาในการอธิบายสิ่งที่เรียกว่า ‘ความไม่เสถียรแบบไดนามิก’ มากมาย” เขากล่าว “ความไม่เสถียรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการที่ธารน้ำแข็งเคลื่อนตัวและเคลื่อนที่เร็วขึ้น ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นได้ถึง 1 เมตรภายในปี 2100 และ 10 เมตรภายในปี 2300”
ดังนั้น เราจำเป็นต้องคาดการณ์ระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นโดยด่วน เพราะเราต้องสามารถวางแผน บรรเทา และปรับตัวให้เข้ากับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในอีกสามศตวรรษข้างหน้า
ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
การละลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ ยังมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในหลายๆ ด้าน เมื่อธารน้ำแข็งละลาย และปล่อยน้ำเย็นออกไปในมหาสมุทร จะมีการเปลี่ยนแปลงในกระแสน้ำในมหาสมุทร ที่ส่งผลต่อระบบสภาพอากาศของโลก การเปลี่ยนแปลงในกระแสน้ำเช่นนี้ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม “ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์” เป็นแหล่งน้ำแข็งที่สำคัญ และมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก การละลายของธารน้ำแข็งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ แต่ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของมนุษย์ในพื้นที่ชายฝั่ง การศึกษาธารน้ำแข็งกรีนแลนด์อย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเข้าใจถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
ธารน้ำแข็ง คือ
ธารน้ำแข็ง คือ มวลของน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นจากหิมะ ทับถมกันจนเป็นแผ่นหนาและกลายเป็นธารน้ำแข็ง แหล่งกำเนิดหิมะของธารน้ำแข็งคือ น้ำในมหาสมุทรจะระเหยกลายเป็นไอ และตกลงสู่พื้นดินในรูปหิมะ
ธารน้ำแข็งมี 2 ประเภท
- ธารน้ำแข็งหุบเขา เป็นธารน้ำแข็งบนภูเขาซึ่งอาจแผ่กว้างลงมาถึงตีนเขากลายเป็นธารแข็งเชิงเขา(Piedmont glacier)
- ธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีป เป็นธารน้ำแข็งชนิดเป็นพืดปกคลุมพื้นที่บริเวณกว้างขวางแถบขั้วโลกโดยเฉพาะที่กรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติก
ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ จัดอยู่ใน ธารน้ำแข็งทวีป และอีกที่คือทวีปแอนตาร์กติก ที่เกาะกรีนแลนด์มีพื้นที่ 17.4 ล้านตารางกิโลเมตร ถูกน้ำแข็งปกคลุม 7 ส่วน 8 ของพื้นที่เกาะ นอกจากนี้ฤดูหนาวอันยาวนาน ทำให้ผิวน้ำทะเลแถบขั้วโลกแข็งตัว กลายเป็นน้ำแข็งทะเล (Sea ice) น้ำแข็งทะเลเหล่านี้อาจกระจัดกระจายเป็นกลุ่ม ๆ (pack ice) แผ่ขยายลงมาถึงประมาณละติจูด 60 องศา
อ้างอิง :
- https://www.independent.co.uk/climate-change/news/greenland-ice-sheet-melting-sea-levels-bhtml
- https://www.theguardian.com/environment/2025/feb/03/greenland-ice-sheet-cracking-study
- https://thestandard.co/greenland-ice-melt/