ภัยจากภาวะโลกร้อน ที่ไม่ควรมองข้าม ทำ “ธารน้ำแข็ง” ทั่วโลก ละลายเร็วกว่าที่เคยมีการบันทึกมา พบ ตั้งแต่ปี 2000-2023 สูญเสียน้ำแข็งเฉลี่ยปีละ 270,000 ล้านตัน เท่ากับการบริโภคน้ำทั่วโลก 30 ปี
“ธารน้ำแข็ง” ทั่วโลก กำลังละลายอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยมีการบันทึกมา ภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบัน ธารน้ำแข็งบนภูเขา ซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำน้ำแข็ง เป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของประชากรมากมาย และมีน้ำแข็งปริมาณมหาศาล ที่หากละลายทั้งหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 32 เซนติเมตร (13 นิ้ว)
ทว่า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งสูญเสียน้ำแข็งไปแล้วกว่า 6,500 ล้านตัน หรือราวร้อยละ 5 โดยอัตราการละลายเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสูญเสียมากกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับช่วงปี 2000-2011
การศึกษาครั้งนี้รวบรวมข้อมูลจากกว่า 230 การประเมินระดับภูมิภาค โดยทีมวิจัย 35 ทีมทั่วโลก ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากขึ้น เกี่ยวกับความเร็วของการละลายและแนวโน้มในอนาคต ธารน้ำแข็งถือเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสภาพอากาศปกติ ธารน้ำแข็งจะคงขนาดเดิม โดยได้รับน้ำแข็งจากหิมะเท่ากับที่สูญเสียไปจากการละลาย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งเกือบทุกแห่งหดตัวลง เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล
- น้ำแข็งละลาย 270,000 ล้านตันต่อปี: ตัวเลขที่โลกต้องตื่นตัว
ระหว่างปี 2000-2023 ธารน้ำแข็ง นอกแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติก สูญเสียน้ำแข็งเฉลี่ยปีละ 270,000 ล้านตัน ซึ่ง Michael Zemp ผู้อำนวยการ World Glacier Monitoring Service เปรียบเทียบว่า เท่ากับปริมาณน้ำที่ประชากรโลกใช้ทั้งหมดใน 30 ปี หากคำนวณที่ 3 ลิตรต่อคนต่อวัน บางภูมิภาคเผชิญการเปลี่ยนแปลงรุนแรง เช่น ยุโรปกลาง ที่สูญเสียน้ำแข็งไปถึง 39% ในเวลาเพียงสองทศวรรษ
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature นี้ ไม่ได้เพียงยืนยันว่า ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ยังโดดเด่นจากการรวบรวมข้อมูลจากชุมชนนักวิจัย โดยใช้หลากวิธี เช่น การวัดภาคสนามและข้อมูลดาวเทียม ที่แม้มีข้อจำกัด เช่น การวัดโดยตรงที่ครอบคลุมธารน้ำแข็งเพียงบางส่วน จากกว่า 200,000 แห่งทั่วโลก แต่การผสานวิธีเหล่านี้ ช่วยเพิ่มความแม่นยำ
Andy Shepherd จากมหาวิทยาลัยนอร์ธัมเบรีย เน้นว่า การประเมินจากชุมชนเช่นนี้มีความสำคัญ เพราะสร้างความมั่นใจให้ทั้งนักวิทยาศาสตร์ รัฐบาล และผู้ที่กังวลต่อภาวะโลกร้อนนำผลไปใช้ประโยชน์
- วิกฤตธารน้ำแข็ง: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผลักโลกสู่จุดเปลี่ยน
ธารน้ำแข็งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างช้าๆ ขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งอาจใช้เวลาไม่กี่ปีถึงหลายสิบปี หมายความว่าการละลายจะยังดำเนินต่อไป แต่ปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียไปในอนาคต ขึ้นอยู่กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากควบคุมภาวะโลกร้อนได้ตามเป้าหมาย อาจสูญเสียเพียงหนึ่งในสี่ แต่หากปล่อยให้รุนแรงขึ้น อาจถึงครึ่งหนึ่ง
Zemp ชี้ว่า “ทุกๆ 0.1 องศาที่เราลดภาวะโลกร้อนได้ จะช่วยรักษาธารน้ำแข็งและลดความเสียหายลง”
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการละลายนี้ ไม่จำกัดแค่ท้องถิ่น ประชากรนับร้อยล้านพึ่งพาน้ำจากธารน้ำแข็ง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนอ่างเก็บน้ำตามฤดูกาล หากธารน้ำแข็งหายไป แหล่งน้ำนี้ก็จะหายตามไปด้วย ขณะเดียวกัน การละลายยังส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 20 เซนติเมตร ตั้งแต่ปี 1900 และครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นหลังทศวรรษ 1990 โดย Shepherd ระบุว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกเซนติเมตร ทำให้คน 2 ล้านคนเผชิญน้ำท่วมเพิ่มขึ้นทุกปี การสูญเสียธารน้ำแข็งจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ แต่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในวงกว้าง
อ้างอิง :
- https://www.bbc.com/news/articles/cy4ly8vde85o
- https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/856149