“พายุไซโคลนอัลเฟรด” ถล่มออสเตรเลีย ประกาศเตือนภัยฉุกเฉิน แต่นักพยากรณ์อากาศ พบเส้นทางการเคลื่อนตัวที่ผิดปกติ จนถึงขั้นกังวล เพราะเส้นทางที่ไม่ธรรมดาของ “อัลเฟรด” เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“พายุไซโคลนอัลเฟรด” ถล่มออสเตรเลีย เมื่อวันเสาร์ 8 มีนาคม 2568 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม เส้นทางถูกตัดขาด ไฟฟ้าดับกว่า 250,000 หลัง และมีผู้สูญหายในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ทางการประกาศเตือนภัยฉุกเฉินและอพยพประชาชนกว่า 20,000 คน แม้พายุอ่อนกำลังลง แต่ยังคาดว่าจะเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรงในรัฐควีนส์แลนด์
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุอาจทวีความรุนแรงถึงระดับ 3 ได้ แม้โอกาสยังไม่สูงนัก แต่ด้วยความรุนแรงเกินระดับ 2 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อขึ้นฝั่ง พายุไซโคลนอัลเฟรด จะนำพาความเสียหายครั้งใหญ่มาสู่ควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์
เดวิด คริซาฟูลลี นายกรัฐมนตรีควีนส์แลนด์ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “หายนะที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง” พร้อมขอให้ประชาชนตระหนักถึงคำเตือนอย่างจริงจัง ขณะที่ดอนน่า เกตส์ นายกเทศมนตรีรักษาการโกลด์โคสต์ เปรียบเทียบว่า เมืองนี้ไม่เคยเผชิญพายุรุนแรงเช่นนี้ตั้งแต่ปี 1952 และครั้งล่าสุดที่บริสเบนเผชิญพายุโซนร้อนใกล้เคียง คือเมื่อปี 1990
เส้นทางพิศวงของอัลเฟรด: ภัยร้ายจากภาวะโลกร้อน
สิ่งที่ทำให้พายุไซโคลนอัลเฟรดน่ากลัวยิ่งขึ้นไม่ใช่แค่ขนาด แต่เป็นเส้นทางการเคลื่อนตัวที่ผิดปกติ แทนที่จะเคลื่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ตามแบบฉบับของพายุในทะเลคอรัล อัลเฟรดกลับพุ่งลงใต้ขนานกับชายฝั่ง ก่อนหักเลี้ยวเข้าตะวันตกอย่างฉับพลันสู่ชายฝั่งตะวันออก
ดร.ลิซ ริทชี่-ไทโอ ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช อธิบายว่า การเปลี่ยนทิศนี้เกิดจากปฏิสัมพันธ์กับร่องความกดอากาศละติจูดกลาง ซึ่งดึงพายุเข้าสู่กระบวนการ “เปลี่ยนผ่านนอกเขตร้อน” ทำให้กลายเป็นระบบลูกผสมที่อาจรุนแรงยิ่งกว่าพายุหมุนเขตร้อนทั่วไป
ปัจจัยที่ซ้ำเติมสถานการณ์คือ สันเขากึ่งเขตร้อนที่ผลักอัลเฟรดให้เคลื่อนสู่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ดร.ริทชี่-ไทโอ ระบุว่าเป็นพฤติกรรม “ผิดปกติอย่างยิ่ง” โดยทั่วไป พายุหมุนเขตร้อนมักอ่อนกำลังลงก่อนถึงบริสเบน หรือนิวเซาท์เวลส์ตอนเหนือ ด้วยอิทธิพลของน้ำเย็นและลมเฉือน แต่พายุลูกนี้กลับรักษาความรุนแรงได้
ดร.ทอม มอร์ทล็อค หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์สภาพอากาศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงถึง 27 องศาเซลเซียส นอกชายฝั่งซิดนีย์ ซึ่งสูงกว่าปกติราว 1 องศา ช่วยให้พายุคงความแข็งแกร่งได้ไกลกว่าที่เคยเป็นมา
“พายุหมุนเขตร้อนมักจำกัดอยู่เหนือเส้นขนาน 25 องศา แต่ทุกวันนี้ เราพบว่ามันเคลื่อนลงใต้มากขึ้น” ดร.มอร์ทล็อคกล่าว พร้อมเปรียบเทียบพายุอัลเฟรดกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เช่น พายุไดนาห์ (2510) วันดา (2517) และพายุในปี 2497 ที่ก่อ “อุทกภัยครั้งใหญ่” ภาวะโลกร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นและลมเฉือนต่ำเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้พายุทวีความรุนแรง
ดร.อิฟเทคาร์ อาห์เหม็ด จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล เน้นย้ำว่า “พายุหมุนเขตร้อนเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน เราเห็นพายุที่รุนแรงขึ้น เคลื่อนไกลขึ้น และกระทบพื้นที่กว้างขึ้น” ขณะที่พายุไซโคลนอัลเฟรด ก่อตัวพร้อมระบบอื่นอีกสองลูกในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถือว่าน่าสนใจในแปซิฟิกใต้ และอาจสะท้อนถึงฤดูกาลพายุที่รุนแรงผิดปกติทั่วโลก เช่น ในมหาสมุทรแอตแลนติกที่เกิดพายุเฮอริเคนถึง 11 ลูกในปีนี้
อีกหนึ่งความกังวลคือความเร็วการเคลื่อนตัวที่ช้าของอัลเฟรด ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 14 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของพายุทั่วไป โทมัส ฮินเทอร์ดอร์เฟอร์ นักอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า “การเคลื่อนตัวช้าทำให้พายุมีเวลาดูดพลังงานจากน้ำอุ่นนานขึ้น เพิ่มความรุนแรงและปริมาณฝน” เขากล่าวว่า “เราอยากให้มันเคลื่อนเร็วกว่านี้มาก” เพราะยิ่งพายุอยู่นาน ฝนยิ่งตกหนัก และความเสียหายยิ่งทวีคูณ
พายุไซโคลนอัลเฟรดไม่เพียงเป็นภัยธรรมชาติ แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนถึงผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศที่มนุษยชาติต้องเผชิญ ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียกำลังเผชิญบททดสอบครั้งสำคัญ และทุกสายตาจับจ้องว่ามหันตภัยครั้งนี้จะทิ้งรอยแผลไว้เพียงใด
อ้างอิง :
- https://www.independent.co.uk/weather/alfred-tropical-cyclone-path-forecast-australia-bhtml
- https://www.tnnthailand.com/earth/191767/#