สติทำให้เห็น ‘ความปวด’ แต่ไม่เป็น ‘ผู้ปวด’

by Admin

Part 10  สติทำให้เห็น ‘ความปวด’ แต่ไม่เป็น ‘ผู้ปวด’ 

นอกจากต้องปล่อยวางความปวดแล้ว พระไพศาล วิสาโล บอกว่า แทนที่จะไปจดจ่อใส่ใจตรงที่ปวดก็มาจดจ่อลมหายใจ หรือใช้สติก็ได้ “สติ” คือ การดูความปวดโดยไม่เข้าไปยึดความปวด สมาธิเหมือนการหันหลังให้ความปวด ลืมปวด ลืมปวดเพราะสนใจสิ่งอื่นแทน แต่สติการมาดูโดยไม่เข้าไปยึด ถ้าดูไม่เป็นก็เข้าไปยึด ถ้าห่างก็ไม่เป็นอะไร

เหมือนกับไฟกองไฟ ไฟกองใหญ่มันทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเราอยู่ห่างจากมัน แต่ถ้าเราเข้าไปใกล้กองไฟหรือโดดเข้าไปในกองไฟเราจะปวดทรมานมาก สติมันทำหน้าที่ดึงเราออกมาให้เกิดระยะห่างระหว่างเรากับกองไฟ หรือระหว่างจิตกับความปวด

สติทำหน้าที่ช่วยให้เราดู ไม่ใช่เข้าไปเป็น ให้เกิดระยะห่างจากความปวด ไม่ใช่เข้าไปจมอยู่กับความปวด หรือพูดอีกอย่าง สติมันทำให้เห็นความปวด แต่ไม่เป็นผู้ปวด “เห็น” กับ “เป็น” ไม่เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อปวดอย่าเข้าไปเป็นผู้ปวด

หลวงพ่อคำเขียน เคยกล่าวว่า ความโกรธมันไม่ได้ลงโทษเรา ความเป็นผู้ป่วยต่างหากที่มันลงโทษเรา ความปวดมีไว้ “เห็น” ไม่ใช่เข้าไป “เป็น” เช่นเดียวกันความทุกข์ก็มีไว้เห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อปวด อย่าเข้าไปเป็นผู้ปวด ให้รู้ความปวด และเห็นความปวด

อย่าง นางสามาวดี โดนไฟครอก นางโดนหลอกไปติดในคลังผ้า นางมาคันทิยาก็จุดเพื่อหวังครอกนางสามาวดีให้ตายในกองเพลิง ไฟคลอกนี่ปวดนะ แต่นางสามาวดีเนี่ย นอกจากแผ่เมตตาให้กับกับนางมาคันทิยาแล้ว ก็ใช้เวทนาเป็นอารมณ์ก็คือ ดูความปวด ร่างกายมันปวด แต่จิตมีสติ ดูความปวด

สุดท้ายก็ตาย แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า การตายของนางสามาวดีเป็นการตายที่ดี เป็นการตายที่ไม่โมฆะ เพราะว่าแม้กายจะปวด แต่ใจไม่ได้ปวดด้วย เพราะดูเวทนา

พระอนุรุทธะ ตอนที่ท่านป่วยหนัก ทั้งๆ ที่ท่านมีฌานที่สูงมาก ท่านรู้ว่าตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานพระพุทธเจ้าปรินิพพานในฌานองค์ไหน เพราะท่านมีฌานตามติดจิตพระพุทธเจ้าไปเรื่อย จนกระทั่งถึงตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ฌานท่านสูงมาก แต่ว่าตอนป่วยหนัก ท่านใช้การเจริญสติ เอาเวทนาเป็นอารมณ์ก็เลยไม่ถูกทุกขเวทนารบกวนจิตใจ

หงุดหงิดได้ไม่สงบได้แต่เห็นมันทำให้จิตออกจากความทุกข์ได้

นี่เป็นวิธีการปล่อยวางความปวดที่เราควรจะฝึกเอาไว้ แต่สำหรับปุถุชนอย่างเรา การเจริญสติมาช่วยตรงนี้คือ แม้ใจมันยังปวดอยู่ ใจมันยังหงุดหงิดอยู่ แต่มันไม่สงบ แต่ก็ยังมีสติเห็นความไม่สงบ มีสติเห็นความหงุดหงิดหงุดหงิดได้ ไม่สงบได้ แต่เห็นมัน มันก็ทำให้จิตออกจากความทุกข์ได้

ไม่ใช่ว่า ถ้าจิตมันหงุดหงิด จิตมันมีความโกรธแล้วจะทุกข์เสมอไป มันอยู่ที่ว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เรายึดมันหรือเปล่า

เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ว่า เขาเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่มีความโกรธไหม ท่านตอบมี แต่ไม่เอา มีความโกรธ แต่ไม่เอาความโกรธ จึงไม่ทุกข์ ไม่ใช่ว่าไม่มี ฉะนั้นเวลาเราป่วย มีความหงุดหงิด มีความรุ่มร้อน แต่เห็นมัน จิตก็จะอยู่เหนือความหงุดหงิด

อันนี้มันเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราไม่อนุญาตให้มันเกิดขึ้น เราทรมานมากนะ อย่างที่บอกถ้าเราอยากให้จิตสงบ แต่จิตไม่สงบ มีทุกข์ แต่การเจริญสติมันทำให้เราเห็นว่า จิตไม่สงบ ก็รู้ว่าไม่สงบ ตรงนี้ก็ทำให้หายทุกข์ได้ หายทุกข์ไม่ใช่เพราะจิตมันสงบนะ หายทุกข์เพราะรู้ว่าจิตไม่สงบ เมื่อไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ไม่ใช่เพราะมีความสงบเกิดขึ้น

อันนี้มันเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ ซึ่งทำให้เรามีอิสระในการที่จะยกจิตอยู่เหนือความทุกข์ ไม่ว่าจะความทุกข์กาย หรือความทุกข์ทางใจก็ได้

อย่ายึดติดว่ากายเป็นของเรา

สุดท้ายถ้าเราปล่อยวางร่างกายได้ยิ่งดีเลย เพราะเราไปยึดติดในกายว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา เวลากายทุกข์เวลากายป่วย ใจมันก็เลยป่วยด้วย ในสมัยพุทธกาลมีอุบาสกท่านหนึ่งชื่อ นกุลบิดา ป่วยหนัก ไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า กายป่วย แต่อย่าให้ใจป่วยนะ

นกุลบิดาฟังแล้วเกิดความปิติมาก ไม่รู้ว่ามันเคยทำได้ กายป่วย ใจไม่ป่วย ปิติมาก ตอนหลังได้สนทนากับพระสารีบุตร นุกุลบิดาก็เลยถามพระสารีบุตรว่า กายป่วย แต่ใจไม่ป่วยเป็นอย่างไร กายทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์เป็นอย่างไร นุกุลบิดาก็ได้คำตอบว่า เมื่อใจเราไม่สำคัญมั่นหมายว่า ร่างกายนี้เป็นของเรา เมื่อกายนี้แปรปรวน กายนี้เป็นอื่น ก็ไม่เกิดความคับแค้น ไม่เกิดความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ พูดง่ายๆ ไม่เกิดทุกข์

3 สาเหตุแห่งความทุกข์ใจ

ความทุกข์ใจมันไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วยที่เกิดกับร่างกาย แต่ความทุกข์ใจมันเกิดจาก…หนึ่ง ไม่ยอมรับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย สอง ปรารถนาจะให้ความเจ็บป่วยนั้นหาย แต่มันไม่หาย สาม ไปยึดว่าร่างกายนี้ต้องไม่ป่วย ไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา พอไม่เป็นดั่งใจ มันก็เลยเกิดความผิดหวัง ความคับแค้น

เมื่อไปยึดติดว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เป็นกู เป็นของกู พอร่างกายทุกข์ มันก็เกิดกู ผู้ทุกข์ขึ้นมา พอร่างกายป่วยก็มีกูผู้ป่วยขึ้นมา ซึ่งตรงนี้แหละที่มันทำให้ความทุกข์ขึ้นมาได้

ไม่ใช่ง่ายนะที่เราจะเห็นว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ว่าฝึกได้ อย่างน้อยฝึกจากการที่เราได้เจริญภาวนาจนเห็นว่าใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นว่าความคิดนี้ ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา เห็นว่าความปวดไม่ใช่เราเริ่มต้นจากสิ่งที่มันเป็นนามธรรมก่อน

Copyright @2021 – All Right Reserved.