โลกร้อนสุดๆ แผ่นน้ำแข็งละลาย
ก๊าซเรือนกระจกพุ่งพรวด

by Igreen Editor

ที่ประชุม Climate Action Summit ล่าสุดได้มีการรวบรวมข้อมูลจากรายงานหลาย ๆ ชิ้น โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะของสภาพภูมิอากาศ และการแสดงแนวโน้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รวมถึงความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลัก ๆ ในชั้นบรรยากาศ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น และยังชี้แนวทางในการบรรเทาสถานการณ์ด้วย

รายงาน จัดทำขึ้นโดยกลุ่มที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ (Science Advisory Group) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศนานาชาติที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูง มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ รวมถึงสาขาการบรรเทาความเสียหายและการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมโลก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) เป็นผู้ประสานงานการจัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น โดยการสนับสนุนของกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในการประชุมด้านการปฏิบัติการภูมิอากาศของเลขาธิการสหประชาชาติ มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่มีความโปร่งใส โดยใช้วิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัย สามารถนำไปปรับใช้ได้

กลุ่มที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “รายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอการประเมินอย่างเป็นเอกภาพเกี่ยวกับสถานะของโลก ภายใต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากน้ำมือมนุษย์ การเพิกเฉยต่อปัญหาของมนุษย์ และจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพอากาศโลกในอนาคต”

กลุ่มที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ยังระบุด้วยว่า รายงานนี้ “เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะหยุดภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

รายงาน United in Science เผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่สำคัญ จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกในช่วงระหว่าง ปี ค.ศ. 2015-2019 ของ WMO ดังนี้

  • ช่วงระยะ 5 ปีที่ร้อนที่สุด

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกระหว่างปี 2015–2019  กำลังจะกลายเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา ขณะนี้คาดว่าจะสูงกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ ค.ศ. 1850–1900 ที่ 1.1 องศาเซลเซียส (± 0.1 องศา)  ขณะเดียวกันคลื่นความร้อนแผ่ขยายอย่างกว้างขวางและยาวนานขึ้น  เกิดไฟป่ารุนแรงและขยายวงกว้างจนทำลายสถิติ และยังเกิดภัยพิบัติทำลายล้างอื่น ๆ เช่น พายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วมและภัยแล้งที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • การลดลงอย่างต่อเนื่องของน้ำแข็งในทะเลและมวลน้ำแข็ง

ขอบเขตน้ำแข็งในทะเลช่วงฤดูร้อนของอาร์กติกลดลงในอัตราประมาณ 12% ต่อทศวรรษในช่วงปี 1979-2018 และช่วง 4 ปีที่ขอบเขตน้ำแข็งในทะเลช่วงฤดูหนาวมีค่าต่ำสุด เกิดขึ้นระหว่างปี  2015  ถึงปี 2019

โดยรวมแล้วปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียเป็นประจำทุกปีจากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6 เท่าระหว่างปี 1979-2017 ส่วนระหว่างปี 2015-2019 นั้น ถือเป็นช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่มีอัตราการสูญเสียมวลของธารน้ำแข็งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยบันทึกกันมา

  • ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และน้ำทะเลกำลังเป็นกรดมากขึ้น

จากการสังเกตระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลก พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 3.04 มม. ต่อปี ในช่วงปี 1997-2006 มาอยู่ที่ประมาณ 4 มม.ต่อปีในช่วงปี 2007–2016  สาเหตุเป็นเพราะมหาสมุทรร้อนขึ้นและการละลายเพิ่มขึ้นของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตก นอกจากนี้ ความเป็นกรดในมหาสมุทรโดยรวมเพิ่มขึ้น 26% ตั้งแต่ต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ในส่วนของข้อมูลจากระบบ Global Atmosphere Watch ของ WMO ในรายงานฉบับนี้ ยังระบุว่า

  • ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศสูงเป็นประวัติการณ์

ระดับของก๊าซเรือนกระจกที่มีอายุยาวนาน คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) ได้เพิ่มระดับสูงสุดทำลายสถิติใหม่แล้ว

ครั้งสุดท้ายที่ชั้นบรรยากาศของโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตรา 400 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) คือประมาณ 3-5 ล้านปีก่อน ซึ่งในเวลานั้นอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับทุกวันนี้ แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตกละลาย แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออกร่นหดตัว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10-20 เมตรเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้

ในปี 2018 ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกอยู่ที่ 407.8 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) สูงขึ้น 2.2 ppm จากเมื่อปี 2017 ข้อมูลเบื้องต้นจากสถานีตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกส่วนย่อยในปี 2019 บ่งชี้ว่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ กำลังจะถึง 410 ส่วนต่อล้วนส่วน (ppm) ภายในสิ้นปี 2019

ในปี 2017 ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในชั้นบรรยากาศทั่วโลกอยู่ที่ 405.6 ± 0.1 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) มีเทนอยู่ที่ 1859 ± 2 ส่วนต่อพันล้านส่วน (ppb) และไนตรัสออกไซด์อยู่ที่ 329.9 ± 0.1 ส่วนต่อพันล้านส่วน (ppb) เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือก่อนปีค.ศ. 1750 ค่าเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากช่วงนั้นขึ้นมาถึง 146%, 257% และ 122% ตามลำดับ

อัตราการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา (ระหว่างปี 1985–1995, 1995–2005 และ 2005–2015) เพิ่มขึ้นจาก 1.42 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ต่อปี เป็น 1.86 ppm ต่อปี และ 2.06 ppm ต่อปีตามลำดับ

อ้างอิง: https://www.unenvironment.org/news-and-stories/press-release/landmark-united-science-report-informs-climate-action-summit?fbclid=IwAR1lA-MjGlJjhbhqbZ5NWJTYAJUKRecInbVFwm9rg3fc2rdjTjUYU8gZPv0

Copyright @2021 – All Right Reserved.