เมื่อโลมาต้อง ‘ตะโกน’
เหตุมลพิษทางเสียงเพิ่มขึ้น
ทั้งขนส่ง ขุดเจาะ ท่องเที่ยว

by Admin

โลมา หนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่ใช้เสียงสะท้อนตำแหน่ง (echolocation) ในการนำทาง สื่อสาร หาคู่ครอง และล่าเหยื่อ การใช้เสียงของโลมานั้นแม่นยำมาก สามารถบอกได้แม้กระทั่งว่าวัตถุกำลังเคลื่อนที่หรืออยู่นิ่ง อยู่สูงหรือต่ำ หรือมีขนาดหนาบางแค่ไหน

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่มลพิษทางเสียงจากกิจกรรมมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การขุดเจาะต่างๆ โซนาร์ทางทหาร การประมงและการท่องเที่ยว นักวิจัยจึงได้ศึกษาผลกระทบมลพิษทางเสียงต่อการสื่อสารของโลมา ซึ่งพบว่าโลมาต้องเปล่งเสียงดังขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะขยับเข้าใกล้วัตถุมากขึ้น

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร ‘Current Biology’ โดยนักวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกเสียงและการเคลื่อนไหวให้กับ เดลต้าและรีสโลมาปากขวด 2 ตัว ในทะเลสาบ โดยวางภารกิจให้โลมาต้องสื่อสาร

จากการศึกษาพบว่าระดับเสียงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ ทำให้เดลต้าและรีสต้องเปล่งเสียงดังและนานขึ้น และในระดับเสียงที่ 150 เดซิเบล ต้องเปล่งเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปกติ นอกจากเสียงที่เปล่งดังกว่าปกติแล้วเดลต้าและรีสยังพยายามว่ายเข้าไปหาลำโพงที่ปล่อยเสียงออกมามากขึ้น

แม้ว่าการศึกษานี้จะทำกับโลมาที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์ แต่การค้นพบดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายของมลพิษทางเสียงต่อโลมาตามธรรมชาติเช่นกัน

WWF ระบุว่ามลพิษทางเสียงสามารถรบกวน echolocation ของโลมาทำให้การอาหาร การหาคู่ การเดินทางมีปัญหา และในกรณีที่รุนแรงอาจถึงขั้นสูญเสียการได้ยินชั่วคราว

และหากเป็นเช่นนั้นการบริโภคอาหารและการสืบพันธุ์อาจถูกระงับ กระทบระบบห่วงโซ่อาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่มา:

Jan 16, 2023. ‘Dolphins have to ‘shout’ to hear each other over noise pollution, research reveals.’ EuroNews

Jan 12, 2023. ‘Dolphins Can Shout Underwater, but It’s Never Loud Enough.’ The New York Times

‘Communication and Echolocation.’ Seaworld.org

Copyright @2021 – All Right Reserved.