ดูกัลด์ เซมเพิล
สันติแห่งชีวิตในรสชาติผลไม้

by Igreen Editor

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเองหรอก พวกเขาฆ่าตัวเองด้วยมีดกับส้อม”

นี่คือคำพูดของชายคนหนึ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีการบริโภคไร้เนื้อและนักนิยมวิถีเรียบง่ายในโลกตะวันตกไปตลอดกาล

เซมเพิล คือชื่อของเขา ฟังคล้ายกับคำว่า “ซิมเพิล” ที่แปลว่าเรียบง่าย ชีวิตของเขาก็เป็นแบบนั้นจริงๆ และยังเป็นแบบอย่างให้กับคนหลายล้านคนทั่วโลก

ดูกัลด์ เซมเพิล (Dugald Semple) เป็นนักเขียน นักธรรมชาตินิยมชาวสก็อต และนักเคลื่อนไหวเพื่อการกินมังสวิรัติในอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1930 ถือเป็นผู้นำการกินมังสวิรัติเชิงสังคมคนแรกของโลกตะวันตกก็ว่าได้

แต่ เซมเพิล เป็นที่รู้จักกันมากกว่าในฐานะผู้ริเริ่มการกินผลไม้อย่างเดียวเพื่อยังชีพ หรือ Fruitarianism

บางคนอาจเริดคิ้วด้วยความสงสัยเมื่อได้ยินคำว่าฟรุตแทเรียน เหมือนกับบางฉากในภาพยนต์เรื่อง Notting Hill ที่ตัวประกอบคนหนึ่งบอกว่าเธอไม่กินทั้งเนื้อ และไม่กินทั้งผัก แต่ยังชีพด้วยผลไม้เท่านั้น – เธอเป็นฟรุตแทเรียน

แน่ล่ะ ฉากนั้นสร้างความขบขันและสงสัยให้กับตัวละครและผู้ชม แต่ฟรุตแทเรียนไม่ใช่เรื่องตลก มันมีแนวคิดที่อิงกับสันติภาพของร่างกายปัจเจกบุคคล และสันติภาพของเรือนร่างร่วมของมนุษยชาติ โดยมีปรัชญาที่ลึกซึ้งของเซมเพิลเป็นเสาหลัก

เซมเพิลและแนวคิดของเขาไม่ใช่เรื่องน่าหัวร่อ เขาเป็นหนึ่งใน “นักบวชโมเดิร์น” ที่ใช้ชีวิตตามปรัชญาที่เขานำเสนอ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ตระหนักในสันติภาพ คลุกคลีกับธรรมชาติ และตระหนักถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องดำรงชีวิตอยู่โดยทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด

แนวคิดนี้ย่อมน่าหัวเราะเยาะในยุคที่อุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู เซมเพิลเองก็เคยเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในยุคอุตสาหกรรมในฐานะคนร่างแบบทางวิศวกรรม แต่เขาผละตัวออกมาจากโลกแห่งจักรกลและมลพิษ เริ่มใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติในช่วงทศวรรษที่ 1910 (1)

เซมเพิลปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในเต็นท์ บางครั้งเดินทางแบบคาราวานด้วยรถบ้าน เมื่อปักหลักในฟาร์มที่เบธ, เขตแฟร์ลี, สก็อตแลนด์ เขาก็ทำฟาร์มให้เป็นสวรรค์ของคนรักธรรมชาติ ต้อนรับนักเดินเท้าและนักปั่นจักรยานด้วยไมตรีจิต (ในยุคที่รถยนต์กำลังเริ่มครองโลก) เขาเลิกกินเนื้อกินแต่ผัก และเผยแพร่แนวคิดการกินอาหารอย่างประหยัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1  บางคนในยุคของเราจึงเรียกเขาว่าเป็นฮิปปปี้คนแรกของโลก (2)

บางคนก็เรียกเขาว่า ธอโรชาวสก็อต (Scottish Thoreau) ด้วยวิถีและแนวคิดของเขาคล้ายกับเฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) นักคิดนักเขียนชาวสหรัฐในช่วงศตวรรษที่ 19 ผู้เขียนบันทึกแนวธรรมชาตินิยมและวิถีเรียบง่ายชื่อ Walden (มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว) (3)

ความมุ่งมั่นในปรัชญาธรรมชาตินิยมและสันติภาพโลกของเขานั้นแรงกล้า กระทั่งทางการยังยอมรับเขาในฐานะผู้คัดค้านการทำสงคราม และไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ในฐานะผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม (Conscientious objector) เช่นเดียวกับศาสนิกผู้รักในวิถีเรียบง่ายหลายๆ กลุ่ม เช่นชาวเควกเกอร์ และชาวแอนาแบพติสต์ที่ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปรบ เซมเพิลจึงสามารถผลักดันปรัชญาและวิถีชีวิตของเขาได้อยางไม่ตะขิดตะขวงใจว่า เป็นคนปากอย่าง (เป็นทหาร) ใจอย่าง (รักสันติ)

เซมเพิลทำการเชื่อมโยงหายนะของสงครามเข้ากับการกินเนื้อและการเกษตรเพื่อป้อนตัณหาที่ลิ้นเอาไว้อย่างน่าสนใจในปาฐกถาเรื่อง “มังสวิรัติกับสงคราม (Vegetarianism and Peace) เมื่อปี 1938 ว่า

“หลายคนอาจตื่นตะลึงกับความเกี่ยวข้องระหว่างสงครามและอาหาร แต่โซเครติสเคยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เอาไว้เนิ่นนานมาแล้ว เมื่อเพลโตเสนอกรอบอุดมคติสำหรับประเทศ เขาเสนอว่าอาจจำเป็นจะต้องส่งเสริมการกินอาหารประเภทเนื้อในชุมชนของเขา…

โซเครเตสตอบว่า – เมื่อเจ้าส่งเสริมอาหารประเภทเนื้อ หมายความว่าเจ้าจะไม่มีที่ดินในการเพาะปลูกอาหารและเลี้ยงสัตว์ในเวลาเดียวกัน แล้วเจ้าจะต้องรุกผืนดินของเพื่อนบ้านเพื่อแย่งชิงที่ดินเขามา ซึ่งเขาจะคัดค้าน แล้วเจ้าจะต้องทำสงครามระหว่างกัน นี่คือบทเรียนที่เราได้พบมาในมหาสงครามครั้งก่อน และยังพบเห็นได้ในหลายประเทศที่ไม่อาจเลี้ยงตัวเองได้ จนต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน”

ปรัชญาของ เซมเพิล เรียบง่ายเหมือนการกระทำของเขา นั่นคือ รับผิดชอบต่อตัวเองและใส่ใจต่อคนอื่นในหนังสือว่าด้วยวิถีเรียบง่าย A Free Man’s Philosophy (ปรัชญาของมนุษย์เสรี) เซมเพิลบอกเล่าประสบกาณ์ในการทำฟาร์มที่เบธ ความสนิทสนมกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มจนเหมือนเป็นญาติสนิทกัน ทัศนะของเขาต่อแนวคิดสังคมนิยม และแนวคิดสหกรณ์ รวมถึงเล่าเรื่องที่เขาไปพบกับมหาตมะ คานธี เจ้าของปรัชญาอหิงสาทางการเมือง ซึ่งตอนนั้นเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชที่รัฐบาลอังกฤษกลัว แต่คนอังกฤษที่มีใจเป็นธรรมให้ความเคารพรัก

เส้นทางการเป็นนักผลไม้นิยมของเซมเพิลเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 10 ในบทความของเขาที่รวบรวมในหนังสือสรรนิพนธ์ว่าด้วยหลักอหิงสา  Here’s Harmlessness: An Anthology of Ahimsa เมื่อปี 1963 เขาเล่าว่า

“ผมเริ่มแบบหักดิบเมื่อ 50 ปีก่อน ไม่ได้แค่เลิกกินเนื้อหรืออาหารคาว แต่ยังเลิกกินนม ไข่ เนย ชา และกาแฟ ผมไม่เคยกินชีส … ต่อมาผมเริ่มกินถั่ว ผลไม้ ธัญพืช และผัก ผมใช้ชีวิตราวกับอยู่ในสวนสวรรค์อีเดนแบบนี้ราวๆ 10 ปี พบว่าสุขภาพและความแข็งแรงของผมดีขึ้น”

ทัศนะของเขาอาจจะดูสุดโต่งไปบ้างในสายตาของใครหลายคน โดยเฉพาะเรื่องไม่ดื่มนมและกินไข่ (เรื่องนี้คนที่กินเจในไทยคงไม่ใช่ปัญหา) เขาบอกเล่าเหตุผลไว้ในวารสาร The Vegetarian Messenger & Health Review เมื่อปี 1912 เอาไว้ว่า “ไข่เกิดขึ้นมาก็เพื่อฟักเป็นไก่ ไม่ใช่เป็นไข่เจียว นมวัวก็เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับลูกวัว ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

แต่ที่สุดโต่งกว่าคือแนวคิดเรื่องนิยมผลไม้หรือ “ฟรุตแทเรียน” เขานิยามการดำรงชีวิตด้วยโภชนาการแบบนี้เอาไว้ว่า

“ฟรุตแทเรียนคืออาหารที่มีส่วนประกอบหลักเป็นถั่ว ผลไม้ ไม่จำเป็นจะต้องเลิกกินธัญพืชปรุงสุกและผัก และการเลิกกินอาหารปรุงสุกทั้งหมด เท่าที่ทราบก็คือจะให้ผลดีกว่า สำหรับการกินอาหารแบบนี้ ไม่เพียงแต่ต้องเลิกกินเนื้อ แต่รวมถึงผลผลิตจากสัตว์ด้วย คือนมและไข่ การที่นักมังสวิรัติยังกินของจำพวกนี้อยู่เป็นความขัดแย้งต่อหลักการมังสวิรัติมายาวนาน รวมถึงในหมู่วงการแพทย์”

เขายังเน้นย้ำผลดีต่อสุขภาพไว้ในหนังสือ Joys of the Simple Life (ความสุขแห่งวิถีชีวิตเรียบง่าย) เมื่อปี 1915 เอาไว้ว่า หลังจากเลิกกินเนื้อ กินนม กินไข่แล้ว “สุขภาพของผมดีขึ้นมาก และผมไม่เสียดายกับความเปลี่ยนแปลงนี้เลย”

และเขาบอกว่า

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเองหรอก พวกเขาฆ่าตัวเองด้วยมีดกับส้อม” (ในหนังสือพิมพ์ The Glasgow Herald,  12 ตุลาคม 1953)

คำกล่าวนี้สะท้อนความเชื่อของเขาเรื่องการกินที่เกินขอบเขตเป็นภัยมากกว่าเป็นคุณต่อชีวิต แม้แต่ในยุคของเราเอง การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้าย แต่คนส่วนใหญ่หาได้ตระหนักไม่

แม้จะมีวิถีชีวิตไม่เหมือนใครอยู่สักหน่อย แต่ดูกัลด์ เซมเพิล ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวตลอด เขาเคยมีภรรยาชื่อแคธี แต่เธอเสียชีวิตในปี 1941 ไม่กี่วันหลังจากเยอรมนีทิ้งระเบิดมาหล่นใกล้ๆ กระท่อมของพวกเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคธีกับเซมเพิล ไม่มีลูกด้วยกัน แต่เคธีมีลูกติดชื่อเอียน ซึ่งหายสาบสูญไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ดูเหมือนว่าสงครามจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเซมเพิล ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเป็นผู้คัดค้านสงครามและการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรม เช่นเดียวกับผู้คนบนวิถีเรียบง่ายรายอื่นๆ ทั่วโลก     

มีเรื่องหักมุมนิดหน่อยในช่วงบั้นปลายชีวิตของเซมเพิล เขาไม่ได้ทำตัวซิมเพิลแบบดิบๆ เหมือนตอนยังหนุ่ม ในช่วงท้ายของชีวิตเขาอาศัยอยู่ในบ้านเป็นหลังๆ เหมือนคนทั่วไป และยังมีรถยนต์ส่วนตัว (4) ดูเหมือนจะสวนทางกับวิถีช่วงต้นของชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ เจตนารมณ์ไม่เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์น้อย และถือเนื้อวิรัติ-ผักวิรัติอย่างเคร่งครัด

ดูกัลด์ เซมเพิล (ชาตะ 1884 – มรณะ 1964) ยังคงเป็นไอคอนของนักกินผลไม้เพื่อยังชีพอยู่ตลอดไป

อ้างอิง

  1. Abrams, L. & Brown, C. (2010). A History of Everyday Life in 20th Century Scotland. Sutcliffe, Steven. After ‘The Religion of My Fathers’: The Quest for Composure in the ‘Post-Presbyterian’ Self. Edinburgh University Press. Page 186
  2. Noted Vegetarin Dies at Age 79. (20 January 1964) The Victoria Advocate. Retrieved : 27 March 2019.
  3. “The simple Semple life” (27April 2015). https://www.heraldscotland.com/opinion/13211376.the-simple-semple-life/ Retrieved : 27 March 2019.
  4. Abrams, L. & Brown, C. (2010). A History of Everyday Life in 20th Century Scotland. Sutcliffe, Steven. After ‘The Religion of My Fathers’: The Quest for Composure in the ‘Post-Presbyterian’ Self. Edinburgh University Press. Page 189

ภาพประกอบ

  1. หนังสือและภาพถ่ายของเซมเพิล จาก The Ernest Bell Library
  2. แนวคิดเพื่อสุขภาพของ เซมเพิล ในหนังสือของเขาชื่อ Diet And Good Health ปี 1922
  3. โรงสีของเซมเพิลที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ภาพโดย Rosser1954
  4. Theflyingtortoise

Copyright @2021 – All Right Reserved.