ภูมิภาคทั่วโลกใช้วิธีชิงเผา
จัดการเชื้อเพลิงป้องกันไฟป่า

by Igreen Editor

ในทางปฏิบัติถึงแม้จะไม่สามารถกำจัดเชื้อเพลิงออกไปจากป่าได้ทั้งหมด เพื่อป้องกันไฟป่า แต่ก็สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงลงได้บางส่วน หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของเชื้อเพลิง หรือตัดตอนความต่อเนื่องของเชื้อเพลิงออกจากกัน เพื่อให้สามารถควบคุมไฟป่าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการเชื้อเพลิงจะพิจารณาดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสูง มีการสะสมของเชื้อเพลิงมากหากเกิดไฟป่าจะยากต่อการควบคุม มีชนิดของเชื้อเพลิงที่ติดไฟและเกิดไฟป่าง่าย หรือในพื้นที่ที่มีคุณค่าสูง เช่น สวนป่า เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมในการจัดการเชื้อเพลิงเหล่านี้จะมีผลโดยตรงทำให้พฤติกรรมของไฟป่าเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ง่ายต่อการควบคุมมากขึ้น เช่น อัตราการลุกลามช้าลงและไม่ต่อเนื่อง ความรุนแรงของไฟลดลง ความสูงเปลวไฟลดลง การติดไฟของเชื้อเพลิงยากขึ้น เป็นต้น

ภาพ: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่

ดังนั้น แนวความคิดรวบยอดของการจัดการเชื้อเพลิง (Fire Fuel Management) คือ การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงอันจะมีผลทำให้พฤติกรรมของไฟป่าที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แล้วแต่กรณีและบริบทที่เหมาะสมซึ่งจะแตกต่างกันไป

การจัดการเชื้อเพลิงมีหลายวิธีและในทางปฏิบัติจะต้องผสมผสานหลาย ๆ วิธี เข้าด้วยกัน โดยแบ่งเทคนิคในการจัดการเชื้อแพลิงออกเป็น 4 ประเภท คือ

ภาพ: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่

1.การลดปริมาณเชื้อเพลิง (Fuel Reduction) เป็นการลดทอนปริมาณของเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ในป่าให้น้อยลง ซึ่งการวางแผนลดปริมาณเชื้อเพลิงจะต้องพิจารณาการสะสมเชื้อเพลิงในป่าเป็นหลัก โดยกรณีของป่าธรรมชาติจะต้องลดปริมาณเชื้อเพลิงตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามการเพิ่มปริมาณของเชื้อเพลิงตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับเชื้อเพลิงให้อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ตลอดเวลา

การลดปริมาณเชื้อเพลิงทำได้หลายวิธี เช่น การเผาตามกำหนด (Prescribed Burning) ในรูปแบบการชิงเผา (Early Burning) การตัดแต่งกิ่งไม้พื้นล่าง หรือการนำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ เช่น นำไปทำปุ๋ย ทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง การกำจัดเชื้อเพลิงโดยเตาเผาเคลื่อนที่ การใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้เครื่องจักรกลเพื่อฝังกลบเชื้อเพลิง เป็นต้น

2.การเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิง (Fuel Conversion) การที่เชื้อเพลิงชนิดเดิมถูกแทนที่ด้วยชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติในการติดไฟแตกต่างไปจากเดิม เช่น ติดไฟยากขึ้นหรือติดไฟแล้วลุกลามช้ากว่าเดิม ให้ความร้อนต่ำกว่าเดิม เป็นต้น

แนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิงได้มาจากประสบการณ์ในการตั้งถิ่นฐานของชาวตะวันตกซึ่งมีการเปลี่ยนพรรณไม้ป่าให้เป็นพรรณไม้บ้าน เปลี่ยนทุ่งหญ้าธรรมชาติให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนป่าและทุ่งแพรรีเป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลทำให้พฤติกรรมของไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย และโดยทั่วไปจะมีความถี่และความรุนแรงของไฟลดลง

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีกลับปรากฏว่าการเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิงมีผลทำให้ความถี่และความรุนแรงของไฟเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน ซึ่งก่อให้เกิดไฟประเภทใหม่ที่เรียกว่า Wildland-Urban Inerface (WUI) อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่ส่งผลให้อุณหภูมิในช่วงหน้าแล้งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เชื้อเพลิงมีความแห้งมาก

3.การแยกเชื้อเพลิง (Fuel Isolation) การที่เชื้อเพลิงมีอันตรายสูงและมีการจัดเรียงตัวอย่างต่อเนื่อง ถูกแยกออกหรือถูกตัดตอนออกจากกันด้วยแนวกันไฟ จะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้าไปในพื้นที่หรือป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามออกจากพื้นที่ที่กำหนด

ประโยชน์ของการแยกเชื้อเพลิงด้วยแนวกันไฟจึงไม่ได้มีเพื่อลดโอกาสการเกิดไฟหรือลดความรุนแรงของไฟเหมือนการลดปริมาณหรือเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิง หากแต่จะช่วยจำกัดเขตของไฟหรือให้หน่วยดับไฟป่าสามารรถเข้าไปควบคุมได้ง่ายขึ้นตามปรัชญาหลักสองประสานในการป้องกันตัวเอง คือการใช้ป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแกร่ง (โดยแนวกันไฟ) ประสานกับการตอบโต้ที่รวดเร็วรุนแรง

ถึงแม้ว่าเทคนิคการจัดการเชื้อเพลิงจะมีหลากหลาย แต่ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมีเพียงการทำแนวกันไฟและการเผาตามกำหนด (Prescribed Burning หรือ ชิงเผา) เนื่องจากเทคนิคอื่น ๆ ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดและมักจะใช้เฉพาะบางกรณีหรือเหมาะสมเฉพาะกับบางพื้นที่เท่านั้น

4.การสร้างแนวกันไฟ (Fire Break Construction) ประกอบด้วย 2 ชั้น คือชั้นนอกเป็นแนวกว้างที่กำจัดไม้พุ่มและไม้พื้นล่างออกจนหมด และชั้นในเป็นแนวแคบลงอยู่ภายในแนวแรกอีกชั้น ซึ่งจะกำจัดเชื้อเพลิงออกทั้งหมดจนถึงชั้นผิวหน้าดิน

ภาพ: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่

สำหรับการแนวกันไฟสร้างได้ 6 วิธี คือ

1.ใช้วิธีกล หรือการใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรกล เขตอบอุ่นจะใช้วิธีนี้เพื่อป้องกันไฟเรือนยอดที่มีความรุนแรงสูง แต่สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไฟผิวดิน ส่วนใหญ่จึงกำจัดแค่เชื้อเพลิงบนพื้นป่าจำพวกใบไม้กิ่งไม้แห้ง หญ้า และไม้พื้นล่างเล็ก ๆ ออกก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องตัดไม้ยืนต้นทิ้ง ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักกลหนัก แค่ใช้แรงงานคน เครื่องมือเกษตร เช่น จอบ ตราด มีด ขวาน

2.ใช้สารเคมี ในเขตอบอุ่นใช้ยากำจัดวัชพืช เช่น โซเดียมอเซไนท์ แต่มักตกค้างในดินเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า นอกจากนี้มีการใช้สารหน่วงการไหม้ไฟ เช่น ไดแอมโมเนียฟอสเฟต และโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต เป็นการฉีดปกคลุมเชื้อเพลิงไม่ให้เชื้อเพลิงติดไฟหรือติดไฟยากขึ้น โดยสารดังกล่าวจะอยู่คงทนจนถึงฤดูฝนที่จะชะล้างลงดินหรือแหล่งน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตกค้าง ที่ผ่านมามีการคิดค้นสารหน่วงการไหม้ไฟที่ไม่มีพิษตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โฟมที่สกัดจากโปรตีน เช่น Class A Foam ซึ่งมีการใช้อยู่ในสหรัฐ แคนาดา และนิวซีแลนด์ แต่ราคายังค่อนข้างแพง

3.ปลูกพืชสีเขียวเป็นแนวปี (Green Belt หรือ Green Fire Break) เป็นการปลูกพืชเขียวชอุ่มเป็นแนวไว้ทั้งปี เป็นพันธุ์ที่ไม่ผลัดใบ แต่อวบน้ำสูง มีเรือนยอดแน่นทึบไม่ให้แสงส่องถึงพื้นดินได้ แต่จะต้องเป็นพื้นที่มีการชลประทานดี ประเทศไทยเคยทดลองประยุกต์ใช้วิธีการนี้แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องการน้ำมาก

4.ใช้การให้น้ำ (Wet Belt หรือ Wet Firebreak) เป็นการให้น้ำจากพืชที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเพื่อให้พืชปกคลุมดินเป็นแนวเชียวชอุ่มชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะใช้ระบบชลประทานไหลผ่านแนวหรือการวางแนวท่อตามแนวกันไฟแล้วติดตั้งสปริงเกอร์หรือเรียกว่า แนวกันไฟเปียก ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ต้นทุนสูง เคยนำมาทดลองใช้ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

5.การชิงเผา (Burning or so called Prescribed Burning) เป็นการเผาพื้นที่เป็นแนวเพื่อกำจัดวัชพืชและกระตุ้นการงอกของพืชใหม่และหญ้าสดซึ่งไม่ติดไฟ วิธีการนี้ใช้มานานและแพร่หลายมากในทุกภูมิภาคของโลก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อยและใช้แรงงานน้อยที่สุด แต่ได้แนวกันไฟที่มีประสิทธิภาพสูง ในไทยเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้การเผาเพื่อทำแนวกันไฟป้องกันบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา แต่วิธีการนี้จะต้องควบคุมอย่างดี มิเช่นนั้นไฟอาจลุกลามออกนอกพื้นที่ได้

6.ใช้แนวธรรมชาติ (Natural Break) เช่น ลำห้วย แนวผาหิน หรือสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ เช่น ถนน ทางรถไฟ แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งดัดแปลงเป็นแนวกันไฟได้ (1)

มุมมองจาก ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า  การเผาตามกำหนดคือคำตอบในการแก้ปัญหาไฟป่า แต่อาจไม่ถูกใจ แต่เป็นวิธีการที่ถูกต้อง สำหรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควันปี 2564 และปีต่อ ๆ ไป

สำหรับการจัดการไฟป่าโดยใช้วิธีให้เกษตรกรลดการเผาอาจช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่น้อยมาก หรืออาจจะได้ผลเพียง 1% ถ้าเทียบกับพื้นที่ป่าผลัดใบที่น่าจะมีเกือบครึ่งของพื้นที่ป่าทั้งหมด แต่ที่สำคัญกว่าก็คือจะไปเอาเชื้อเพลิงเหล่านั้นมาได้อย่างไร

การห้ามเผาโดยมีมาตรการเฉียบขาดก็ช่วยได้มากขึ้นบ้าง แต่อาจได้ผลเพียง 10% “แต่ก็เหมือนเล่นโปลิศจับขโมย เผลอเป็นจุด ไม่จีรัง ดูจากข้อมูลจุดความร้อนทุก ๆ ปี ในช่วงห้ามเผาก็จะเห็นว่า การห้ามเผาได้ผลมากน้อยอย่างไร” อาจารย์กอบศักดิ์แสดงความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

ทั้งนี้ การชิงเผา การเผาตามหลักวิชาการ หรือ “การเผาตามกำหนด” จึงเริ่มถูกหันมามอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี เราไม่ยอมรับกันเลย และมีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่างในเรื่องนี้

ในทรรศนะของอาจารย์กอบศักดิ์การจัดการเชื้อเพลิงในป่าด้วยการเผานี้คือทางออกและทางรอดเดียวที่มีในยามนี้ เสริมด้วยการจัดการแนวกันไฟเป็นแนวทางที่นักวิชาการไฟป่าทั้งโลกเสนอ แนะนำ ตลอดมาและตลอดไป

อย่างไรก็ตามอาจารย์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยถ้าจะชิงเผาในพื้นที่เดิม ๆ ในทุก ๆ ปี โดยอ้างว่าเพื่อลดความเสี่ยง เพราะเมื่อเผาไปหนึ่งครั้ง ความเสี่ยงลดลงไปพอสมควรในปีถัด ๆ มา เนื่องจากเชื้อเพลิงลดลงไป โดยเฉพาะไม้พุ่ม ไม้พื้นล่าง และที่สำคัญระบบนิเวศจะได้มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงพักเผาด้วย

ข้อมูลจากงานวิจัยอาจารย์สมศักดิ์ สุขวงศ์ และอาจารย์สันต์ เกตุปราณีต รวมทั้งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์กอบศักดิ์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร international journal of wildland fire สรุปตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า ป่าเต็งรังเมื่อมีการเผาประมาณ 2-3 ครั้ง ในรอบระยะเวลา 10 ปี ระบบนิเวศจะยังคงความสมบูรณ์อยู่ได้

ดังนั้น ต้องมีการประเมิน วางแผนการเผาที่รอบคอบ ทำให้ถูกที่ถูกเวลา (ต้นปีหน้าต้องเริ่มดำเนินการแล้ว) เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดความเสี่ยง โดยการสร้างความรับรู้และมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องนำข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ มาสนับสนุน what where when why how to, ในการชิงเผา เช่น แอปพลิเคชัน, ระบบการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ, ระบบเตือนภัยไฟป่า, การประเมินเชื้อเพลิงและอันตรายจากไฟ การจับมือร่วมวางแผนของชุมชน เจ้าหน้าที่และนักวิชาการฯ (2)

สำหรับประเด็นการชิงเผา (Early Burning) จากข้อเสนอในบทความของ ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ ระบุไว้ว่า ในประเทศออสเตรเลียใช้การชิงเผาเป็นกิจกรรมหลักของงานควบคุมไฟป่าให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าขนาดใหญ่และยากต่อการควบคุม ความรู้ในการชิงเผาของออสเตรเลียจึงมีความก้าวหน้า โดยพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยวางแผนและควบคุมการชิงเผา

ขณะที่ในประเทศไทยมีการชิงเผาเพื่อป้องกันไฟในสวนป่ามานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี โดยในช่วงหน้าไฟปี 2563 ที่จะถึงนี้การชิงเผามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการควบคุมไฟป่า แต่ประสบการณ์การชิงเผาในป่าธรรมชาติของไทยมีน้อย และเส้นแบ่งระหว่างการชิงเผาและการเผาป่านั้นบางมากและมองเห็นไม่ชัดเจน นั่นคือหากดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ประสบการณ์และทักษะที่เพียงพอ การชิงเผาก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างจากการเผาป่าก็ได้ (1)

อ้างอิง:

(1) วีรชัย ตันพิพัฒน์ หน่วยวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไฟป่าภูมิภาคอาเซียนตอนบน (Uper ASEAN Wildlane Fire Special Reseach Unit) ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ (ปรับปรุงจาก ศิริ อัคคะอัคร, 2543) พฤษภาคม 2563

(2)https://www.facebook.com/kobsak.wanthongchai/posts/3437559352971570

Copyright @2021 – All Right Reserved.