ในปี 2022 รถ EV จำหน่ายไปแล้วทั่วโลกกว่า 10.6 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 57% คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ยานยนต์ไฟฟ้าจะครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเกิน 50%
ในปี 2022 รถ EV ถูกจำหน่ายไปแล้วทั่วโลกกว่า 10.6 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 57% คาดว่าตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไปหรืออีก 10 ปีข้างหน้า ยานยนต์ EV จะครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเกินกว่า 50% โดยจีนจะยังคงเป็นผู้นำการผลิต และการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งการแข่งขันด้านราคาจะรุนแรงขึ้น
ประเทศไทยมีโอกาสก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาค ด้วยความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานและแรงงานที่มีคุณภาพ โดยการผลิต EV ทุก 100,000 คัน จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจราว 26,000 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ได้แก่ การผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยังคงใช้ในรถ EV
ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) เติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นความหวังสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อรูปแบบการเดินทาง แต่ยังกำลังปฏิวัติโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทาน และพฤติกรรมผู้บริโภค
แรงขับการเติบโตของรถ EV
การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเป็นไปอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่า ในปี 2022 ยานยนต์ EV ถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 10.6 ล้านคันทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้น 57% จากปีก่อน จากการวิเคราะห์ของ SCB EIC คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างปี 2022 – 2030 ยอดขายและการผลิตรถ EV ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% และ 33% ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ได้แรงหนุนสำคัญจากตลาดเกิดใหม่อย่าง ไทย บราซิล และอินเดีย ที่เริ่มผลักดันนโยบายส่งเสริม EV อย่างจริงจังในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าอัตราการยอมรับ EV ในประเทศเหล่านี้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับประเทศในยุโรป อย่างนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และสวีเดน
ในด้านการผลิต ระหว่ างปี 2010 – 2022 มี ยอดผลิตสะสมทั่วโลกราว 28 ล้านคัน เติบโตเฉลี่ยปีละ 73% โดยมากกว่าครึ่งผลิตในประเทศจีน ตามด้วยสหภาพยุโรป (29%) และสหรัฐฯ (11%) คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมจะยังเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 33% ต่อปี จนมียอดผลิตสะสมเกิน 200 ล้านคันในปี 2030 ซึ่งจะมาพร้อมกับวิวัฒนาการด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการขับขี่ที่ล้ำสมัยมากขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนด้านอุปทานจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1) การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำาคัญที่ผลักดันการเติบโต
โดยปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้รับความนิยมสู งสุด ด้วยระยะทางขับขี่ 450 กิโลเมตรต่อการชาร์จ และอายุการใช้งาน 6 – 8 ปี อีกทั้งยังรองรับเทคโนโลยี Fast Charge และเป็นมิตรกั บสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยประเภทของแบตเตอรี่ Li-ion ที่มีการใช้งานแพร่หลายที่สุด คือ กลุ่มลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนส่วนใหญ่เลือกใช้
ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยเฉพาะแบรนด์ Tesla จะใช้งานแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมนิเคิลโคบอลต์อะลูมิเนียมออกไซด์ (NCA) เป็นหลัก นอกจากนี้เริ่มมีการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid State Battery) ที่จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า สามารถวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จ โดย Toyota คาดว่าจะนำมาใช้ได้ภายในปี 2027
2) อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนคือความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมชิ้นส่วน
โดยเฉพาะการพัฒนาวัสดุน้ำหนักเบาอย่างอะลูมิเนียมและพลาสติกมาใช้ แทนเหล็ก ทำให้สมรรถนะการขับขี่ดีขึ้นและประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็มีความสำคัญ เนื่องจากรถ EV หนึ่งคันต้องใช้ชิปกว่า 3,000 ชิ้นสำหรับระบบควบคุมต่างๆ โดยคาดว่าการลงทุนของบริษัทชั้นนำอย่าง TSMC SMIC และ Intel จะทำให้อุปทานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วง 2022 – 2027
นอกจากปัจจัยด้านอุปทานแล้ว กระแสนิยมของผู้บริโภคยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าร้อนแรงต่อเนื่อง โดยแรงส่งด้านอุปสงค์เกิดขึ้นได้เพราะ 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
ประการแรก นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะหลังความตกลงปารีสในปี 2016 ที่มีกว่า 190 ประเทศรวมถึงไทยร่วมลงนาม มุ่งควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สหภาพยุโรปแสดงจุดยืนชัดเจนด้วยการตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2035 ซึ่งถือเป็นภูมิภาคแรกของโลกที่มีนโยบายเช่นนี้
ขณะที่กลุ่มอาเซียนเพิ่งเริ่มทยอยออกมาตรการสนับสนุนในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เช่น สิงคโปร์ยกเว้นค่าจดทะเบียน ส่วนไทยและอินโดนีเซียมีมาตรการอุดหนุนราคาควบคู่กับการพัฒนาสถานีชาร์จให้ครอบคลุมมากขึ้น
ประการที่สอง ราคาพลังงานที่ผันผวนและพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2022 ผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาสนใจ EV มากขึ้น สะท้อนจากยอดขายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง BYD (158%) และ Tesla (46%)
นอกจากนี้ ต้นทุนการเป็นเจ้าของ EV ที่ต่ำกว่ายังเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยในจีนพบว่า ต่ำกว่ารถสันดาปถึง 3 เท่า เนื่องจากค่าชาร์จไฟฟ้าถูกกว่าค่าน้ำมันมาก ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้ต้นทุนการครอบครองยานยนต์ต่ำลง
สำหรับในไทย การศึกษาของ Thai EV Updates ชี้ว่า การใช้งาน EV จะประหยัดกว่ารถสันดาปประมาณ 4.2 เท่าเมื่อใช้งาน 8 – 10 ปี
ประการสุดท้าย การรุกตลาดของค่ายรถจีนที่นำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งรูปแบบฟังก์ชันการใช้งาน และระดับราคา สอดคล้องกับจำนวนโมเดล EV ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่ม SUV ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดโลก ทั้งนี้ SCBEIC มองว่ าค่ายรถจีนประสบความสำเร็จอย่างสูงในภูมิภาคอาเซียน เพราะ
1) กระแสยานยนต์ EV กำลังได้รับความสนใจเนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นของนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และ 2) ปัญหากีดกันทางการค้าที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น BYD สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในสิงคโปร์ได้ถึง 21.6% ใกล้เคียงกับ Tesla ส่วนในยุโรป ยอดขายรถ EV จากจีนเติบโต 125% และมีส่วนแบ่งตลาดรวมเกือบ 10% ในปี 2022
อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาด EV ในสหรัฐฯ และยุโรปยังได้แรงหนุนจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในภูมิภาคที่เร่งพัฒนาและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ความสำเร็จของค่ายรถจีนมาจากฐานตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทำให้ราคา EV จับต้องได้และมีตัวเลือกหลากหลายสำหรับผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้ค่ายรถจีนสามารถพัฒนาและต่อยอดกำลังการผลิตจนเพียงพอสำหรับการส่งออกเพื่อเจาะตลาดโลก
ต่างจากญี่ปุ่นที่ตลาดภายในประเทศยังนิยมรถสันดาปเป็นหลัก เนื่องจาก EV มีราคาสูง ตัวเลือกน้อย และโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสถานีชาร์จ
สาธารณะยังมีจำนวนไม่มากและไม่ครอบคลุม ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ของค่ายรถญี่ปุ่นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมีส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรม EV เติบโตขึ้นได้ อย่างต่อเนื่อง โดยแม้ว่าในปี 2022 รถ EV จะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงแค่ 10% ของยอดขายทั้งหมด แต่คาดว่านับตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไปยานยนต์ EV จะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกได้เกินกว่า 50% หรือมียอดขายเหนือกว่ายานยนต์ประเภทอื่นๆ
พลวัตห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์
อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากกระแส EV ที่ไม่เพียงทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ และกลยุทธ์ทางธุรกิจรูปแบบใหม่ แต่ยังกลายเป็นสมรภูมิแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในการผูกขาดทรัพยากรและเทคโนโลยี โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญ 2 ประการ คือ ความสำเร็จของ Tesla ที่นำเสนอรถ EV ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและประหยัดค่าใช้จ่าย จนมียอดส่งมอบเพิ่มขึ้นถึ ง 5,800% ในช่วง 10 ปี และการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของจีนที่เพิ่มส่วนแบ่งการผลิตจาก 24% ในปี 2010 เป็น 32% ในปี 2022 จากการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน EV และแบตเตอรี่ โดยมีความท้าทายสำคัญ 3 ด้าน
1) การปรับตัวของผู้ผลิตดั้งเดิม
ค่ายรถตะวันตกเร่งพัฒนา EV อย่างจริงจัง นำโดย BMW ที่มีส่วนแบ่งยอดขาย EV 10.3% และเติบโตกว่า 100% ในปี 2022 สวนทางกับการหดตัวของยอดขายรถสันดาปในภาพรวม ความสำเร็จนี้มาจากการเปิดรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2013 ด้วยรถรุ่น i3 และ i8 ปัจจุบันยังมีแผนเปิดตัวอีกกว่า 10 รุ่น พร้อมพัฒนาโครงสร้างตัวถังเฉพาะสำหรับEV (BMW Neue Klasse) และแบตเตอรี่ทรงกระบอกที่ชาร์จเร็วขึ้นและวิ่งได้ไกลขึ้น
ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นอย่าง Toyota, Honda และ Nissan ยังพัฒนาช้ากว่ามาก สะท้อนจากแผนเปิดตัวรถที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับแบรนด์จากฝั่งตะวันตก
2) การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น
นำโดย Tesla ที่ใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาต่อเนื่องในหลายประเทศ เช่น ลด 20% ในสหรัฐฯ และปรับลด 5 ครั้งในจีนช่วง 2 ปี (2022 – 2023) Tesla ทำเช่นนี้ได้เพราะมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 15,000 ดอลลาร์ต่อคัน หรือ 30% ของราคาขาย สูงกว่าคู่แข่งอย่าง BYD และ Volkswagen เกือบ 3 เท่า โดยมักใช้กลยุทธ์นี้ในประเทศที่อุปสงค์แผ่วลงหรือมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐกำลังจะหมด
รวมถึงเพื่อระบายสต็อกก่อนเปิดตัวรุ่นใหม่ ส่งผลให้ค่ายรถอื่นต้องตอบโต้ด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เช่น Xpeng และ Zhejiang ในจีน หรือ MG และ
ORA ในไทยที่ให้ส่วนลดถึง 200,000 บาท แม้แต่ค่ายรถสันดาปก็ต้องปรับตัว เช่น Toyota ขยายระยะเวลาผ่อนเป็น 8 ปี และ Mazda แจกบัตรเติมน้ำมัน ซึ่งแม้จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่อาจสร้างความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่มีสายป่านสั้น
3) การแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน
โดยจีนครองอิทธิพลในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ถึง 75% ผ่านการลงทุนในแหล่งแร่หายากทั่วโลก เช่น ถือหุ้นในบริษัทผลิตแร่ลิเทียมในออสเตรเลียผ่าน Tianqi Lithium และควบคุมเหมืองโคบอลต์ 15 จาก 19 แห่งในคองโก ความได้เปรียบนี้ช่วยดึงดูดค่ายรถต่างๆ ให้มาตั้งฐานผลิตในจีนจนกลายเป็นผู้ผลิต EV รายใหญ่ที่สุดของโลก
ในทางกลับกันสหรัฐฯ เน้นการพึ่งพาตนเองโดยสนับสนุนเหมืองแร่หายากในประเทศและสร้างพันธมิตรกับแคนาดา ออสเตรเลีย และมาดากัสการ์ พร้อมดึงบริษัทเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่าง LG Energy Solution, Panasonic, SK Innovation และ Samsung SDI มาตั้งฐานผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง และออกกฎหมาย IRA ห้ามนำเข้าชิ้นส่วนจากจีน ตั้งแต่ปี 2025 สถานการณ์นี้อาจนำไปสู่การแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทานระหว่างตะวันออกและตะวันตกที่ชัดเจนขึ้นในอนาคต
โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญไปสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยไทยมีจุดแข็งจากความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานที่มีประสบการณ์ในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนมาอย่างยาวนาน รวมถึงฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์อุตสาหกรรม
ปัจจัยเหล่านี้สร้างแรงดึงดูดให้ผู้ผลิต EV จากค่ายต่างๆ สนใจเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพิ่มโอกาสในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง EV ของภูมิภาค (Regional EV Hub) เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยได้ทยอยพัฒนาระบบนิเวศ EV อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยภาครัฐดำเนินนโยบายครอบคลุมทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน
ด้านอุปสงค์ มีมาตรการกระตุ้นความสนใจและการยอมรับจากผู้บริโภค ประกอบด้วย การให้เงินอุดหนุนการซื้อรถ EV การลดและยกเว้นภาษีนำเข้า 100%
เพื่อเพิ่มตัวเลือกในตลาดให้หลากหลาย และการส่งเสริมสถานีชาร์จสาธารณะซึ่งปัจจุบันมีแล้วกว่า 1,500 แห่งกระจายครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด
ด้านอุปทาน ภาครัฐมุ่งผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV ที่สำคัญของโลก ผ่านมาตรการจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตรถและแบตเตอรี่ การดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดผลเป็นรูปธรรม สะท้อนจากการมีค่ายรถยนต์ประกาศแผนการผลิตและประกอบรถ EV ในไทยแล้วเกือบ 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งหากทุกโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้กำลังการผลิตรถ EV ของไทยเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 9 หมื่นคันต่อปี เป็นกว่า 9 แสนคันต่อปีในปี 2030
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ EV ก็มีแนวโน้มเติบโตควบคู่กัน โดยผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้ง EA, CATL และ SVOLT ต่างสนใจร่วมลงทุนในไทย แม้ ว่าในระยะแรกกำลังการผลิตอาจยังอยู่ในระดับต่ำและจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าแบตเตอรี่เป็นหลัก ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออก EV ที่สำคัญของภูมิภาค เช่นเดียวกับความสำเร็จในกลุ่มยานยนต์สันดาป
จากการวิเคราะห์ของ SCB EIC โดยใช้ข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) เพื่อศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย พบข้อสรุปสำคัญ 2 ประการ
1) การผลิต EV ทุก 100,000 คัน จะทำให้ GDP เติบโต 0.2% หรือสร้างมูลค่าเพิ่มราว 26,000 ล้านบาท ซึ่งรวมทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก โดยเป็นการประเมินในกรณีที่ดีที่สุดที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานครบวงจร ตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วน ไปจนถึงการประกอบรถ อย่ างไรก็ตาม ผลดีต่อเศรษฐกิจอาจต่ำกว่าที่ประเมินหากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตช้ากว่าการผลิตรถ
2) ในด้านผลกระทบต่อผู้ประกอบการพบว่า การผลิต EV มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่ารถสันดาป 15% โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่สามารถเติบโตไปกับอุ ตสาหกรรม EV โดยเฉพาะกลุ่มแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนดั้งเดิมอย่างยางล้อ เม็ดพลาสติก อุปกรณ์ขับเคลื่อน และสายไฟ
อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการกว่า 1,300 ราย หรือครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนระบบส่งกำลังและเชื้อเพลิง
(Transmission System) อาจได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าตลาดอาจลดลง 3,800 ล้านบาท หรือ 10% หากส่วนแบ่งตลาด EV เพิ่มเป็น 15% ในปี 2025
SCB EIC ประเมินว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ EV จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
แต่การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถสันดาปมาสู่ยานยนต์ไฟฟ้าก็สร้างความท้าทายให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการเงิน ในการยกระดับอุตสาหกรรมผ่าน 3 แนวทางสำคัญ :
1) การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศ EV ให้ครบวงจรภายในประเทศ
• เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้เติบโตทันกับการผลิตรถ EV ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
• ลดการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากต่างประเทศ
• มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมการผลิตในประเทศเป็นหลัก
2) การสนับสนุนการพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้า
• ส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตในกลุ่มชิ้นส่วนที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น ชิ้นส่ วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า ยางล้อ และชุดสายไฟ
• ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์์ในกลุ่มอุปกรณ์ขับเคลื่อน เช่น ระบบเบรกและการสั่นสะเทือนให้ตอบโจทย์การใช้งานใน EV
• สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
3) การขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับกลุ่มเปราะบาง
• ช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ผลิตท่อไอเสีย ถังเชื้อเพลิง และระบบส่งกำลัง ให้ขยายสู่ตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
• ส่งเสริมการเจาะตลาดยานยนต์เชิงพาณิชย์ที่การเปลี่ยนผ่านสู่ EV จะช้ากว่ารถยนต์ส่วนบุคคล
• สนับสนุนการขยายตลาดอะไหล่ทดแทน (REM) ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตตามอายุการใช้งานรถที่ยาวขึ้น
การดำเนินการทั้ง 3 ด้ านนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการสนับสนุนด้านนโยบายและมาตรการจูงใจจากภาครัฐ การลงทุนและพัฒนาจากภาคเอกชนและการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเติบโตได้ อย่างยั่งยืนในยุค EV และสร้างมูลค่ าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ
ยานยนต์ไฟฟ้ า (EV) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก และประเทศไทยก็ไม่พลาดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยแรงผลักดันจากนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลและความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ตลาด EV ในไทยเติ บโตอย่างรวดเร็ว และดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลก
โอกาสของไทยอยู่ที่ความพร้อมของฐานการผลิตและแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียนได้
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การปรับตัวของผู้ประกอบการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมมากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นทั้งโอกาสและความท้ าทายสำหรับประเทศไทย การดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันและการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขั บเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนได้
ที่มา: Future Trends Ahead 2025 Presented by SCBX หัวข้อ ‘EV’olution การปฏิวัติยานยนต์ไฟฟ้า’ โลกไปทางไหน? ไทยได้อะไรบ้าง? อ่านฉบับเต็ม: https://bit.ly/40kZiCT