‘หยวกกล้วยเอธิโอเปีย’ ช่วยได้
พืชทางเลือกรับมือภูมิอากาศป่วน
สุดยอดอาหารเลี้ยงคนนับร้อยล้าน

by Igreen Editor

ประเทศที่ร้อนตับแตกตลอดเวลาเหมือนเมืองไทยอาจจะรู้สึกแค่ว่ามันร้อนมากกว่าเดิม (นิดหน่อย) แต่ส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่า เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกปั่นป่วนมันไม่ได้ทำให้แค่ร้อนขึ้น แต่ยังทำให้อุณภูมิไม่เหมาะกับการเพาะปลูกพืช เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมทำลายพืชผล และผู้คนจะอดอยากหลายพันล้านคน

ชาวเอธิโอเปียกำลังจัดการกับต้นกล้วยประจำถิ่นเพื่อนำมาปรุงอาหารเครดิตภาพ: Italian boy / wikipedia

จากตัวเลขล่าสุด หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะมีผู้คนมากถึง 1,800 ล้านคนต้องอดอยากหิวโหย การวิจัยเมื่อหลายปีก่อนระบุว่ามีโอกาส 90% ที่ผู้คน 3,000 ล้านคนจะต้องเลือกระหว่างทนหิวโหยหรืออพยพครอบครัวไปยังดินแดนที่สภาพอากาศไม่รุนแรงภายใน 100 ปี

หน้าตาของเมนู “โคโช” หรืออีกอย่างเรียกว่า “บูลลา” ของชาวเอธิโอเปีย

ไม่ต้องอะไรมาก ข้อมูลล่าสุดจากออสเตรเลียพบปลาดาวชนิดหนึ่ง (Pentaceraster regulus) ที่ตามปกติอาศัยอยู่ในเขตร้อน มันกลับไปปรากฏตัวในน่านน้ำที่เย็นกกว่าห่างจากถิ่นเดิมของมันถึง 600 กิโลเมตร และไม่น่าจะใช่เรื่องของการพลัดถิ่นโดยบังเอิญ แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกร้อนขึ้นจนสัตว์เริ่มอพยพหนีกันตายแล้ว

ดูจากสภาพปัจจุบันแล้ว ความหวังในการต่อสู่กับภาวะโลกร้อนเริ่มริบหรี่ลงมาก หลายคนจึงเริ่มปั้น “แผน B” ขึ้นมารองรับสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการหาอาหารที่ทนทานต่อภาวะโลกร้อน มีสารอาหารสูง และสาารถเลี้ยงคนได้เป็นล้านหรือหลายร้อยล้านคนโดยไม่ต้องกังวลว่าปัญหาโลกร้อนจะทำให้มันล้มตาย

จากการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่า ญาติพืชของกล้วยซึ่งพบในเอธิโอเปียเท่านั้นที่จะมีศักยภาพที่จะเลี้ยงผู้คนมากกว่า 100 ล้านคนในสภาพแวดล้อมที่ร้อนขึ้น มันมีชื่อว่า “Enset” (เอ็นเซ็ต) หรือที่เรียกว่า “กล้วยปลอม” เป็นพืชเนื้อแป้งที่เป็นอาหารหลักในเอธิโอเปีย ดินแดนที่ผ่านความแห้งแล้ง และความอดอยากมาหลายต่อหลายครั้ง

ต้นเอ็นเซ็ต (Ensete ventricosum) พบตามป่าที่มีฝนตกชุกบนภูเขาและตามหุบเหวและลำธารกลางป่า มีลักษณะเหมือนต้นกล้วยอย่างมาก มีลูกที่ดูเหมือนกล้วยหักมุกลูกใหญ่ ๆ หรือหัวปลีแก่ ๆ เพียงแต่มันกินไม่ได้แถมยังมีเมล็ดแข็ง มาถึงตอนนี้แล้วหลายคนอาจจะสงสัยว่าตกลงจะให้กินมันยังไง?

คำตอบคือ “กินต้นและรากของมัน” นั่นเอง โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มที่อยู่ตรงกลางหรือใจกลางสามารถนำมารับประทานได้ คล้าย ๆ กับ “หยวกกล้วย” (แต่หยวกกล้วยมีคุณค่าอาหารต่ำกว่ามาก) ซึ่งมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติคล้าย ๆ กับแกนกลางของต้นปาล์มและปรง

คนท้องถิ่นจะนำเอาแกนหยวกมาตำให้แหลกละเอียดและหมักชิ้นส่วนที่บดแล้วกลายเป็นอาหารที่เรียกว่า “โคโช” อีกอย่างเรียกว่า “บูลลา” ทำมาจากของเหลวที่คั้นออกมาจากแกนหยวก บางครั้งก็กินเป็นโจ๊ก ส่วนเนื้อหยาบจะถูกแช่ในน้ำให้ตกตะกอนก็จะกลายเป็นแป้ง จากนั้นจะนำไปนวดและรีดให้แบนและอบบนกองไฟเหมือนโรตี

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า “เอ็นเซ็ตให้ปริมาณอาหารต่อหน่วยพื้นที่มากกว่าธัญพืชส่วนใหญ่ คาดว่าเอ็นเซ็ต 40 ถึง 60 ต้นในพื้นที่ 250–375 ตารางเมตร เพียงพอที่จะบริโภคในครอบครัวจำนวน 5 ถึง 6 คน”

นักวิจัยจากเอธิโอเปียและสหราชอาณาจักรกล่าวว่า พืชผลดังกล่าวมี “ศักยภาพที่สำคัญ” ในการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วแอฟริกา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมันยังสามารถเลี้ยงคนได้มากกว่า 100 ล้านคนในช่วง 40 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารในแอฟริกา

เรื่องนี้เป็นแผน B ของแท้ เพราะนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะ “ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตและการกระจายของพืชผลหลัก” ทั่วแอฟริกา และกล่าวว่าการดำเนินการส่งเสริมการเพาะปลูกเอ็นเซ็ตสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบเหล่านั้นได้

รายงานชี้ว่า “สายพันธุ์ที่ยืดหยุ่นและให้ผลผลิตสูง เช่นเอ็นเซ็ตเป็นหนทางเดียวในการปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารในท้องถิ่น ในขณะที่ลดการขยายพื้นที่เพาะปลูกและทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอาจสูงที่สุดในช่วงที่มีความเสี่ยงร้ายแรง”

ปัญหาในตอนนี้คือ เอธิโอเปียมีกฎหมายห้ามนำพืชพันธุ์ท้องถิ่นออกนอกประเทศ ซึ่งคงต้องหาทางเจรจากันต่อไป อีกปัญหาคือการปลูกเอ็นเซ็ตต้องใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นมาช่วย รวมถึงปัญหาสำคัญที่สุดคือ จะทำให้ผู้คนท้องที่อื่นยอมรับแหล่งอาหารประเภทใหม่ได้อย่างไร? แต่นี่เป็นเรื่องของ “แผน B” ที่ยังพอมีเวลาขบคิดกันได้

แน่นอนว่ามันไม่ใช่อาหารที่เหมาะกับคนไทย แต่อาจเป็นทางออกให้กับผู้คนที่จะต้องอดอยากหิวโหยนับพันล้านคนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งสภาพอากาศไม่เหมาะกับการปลูกธัญพืชอีก รวมถึงการบาดเจ็บล้มตายจากการแย่งชิงแหล่งน้ำที่อาจทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศได้

อ้างอิง:
• Brooklyn Neustaeter. (January 21, 2022). “Banana-like crop could feed more than 100 million people, study finds”. CTVNews.ca.
• Catherine Brahic (January 8, 2009). “Billions could go hungry from global warming by 2100”. New Scientist.
• Wikipedia contributors. “Ensete ventricosum.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 22 Jan. 2022. Web. 23 Jan. 2022.

Copyright @2021 – All Right Reserved.