บางจากฯ จัดกิจกรรมวันหิ่งห้อยโลกส่งเสริมการอนุรักษ์หิ่งห้อยแห่งคุ้งบางกะเจ้า

by Igreen Editor

“หิ่งห้อยนับร้อยนับพัน ส่องแสงระยิบระยับกัน สว่างไสวไปทั้งต้นลําพู เด็กน้อยแอบออกมา ไล่คว้าแสงน้อยมาดู ใส่ไว้ในกล่องงามหรู ซ่อนไว้ใต้หมอน แล้วนอนคอยฝันดี”

เนื้อหาท่อนฮุคในบทเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ที่แฟนเพลงในอดีตฟังแล้วคงจินตนาการถึงเจ้าแมลงเรืองแสงระยิบระยับในตัวเอง…ลอยอยู่เบื้องหน้าท่ามกลางความมืด

ความสำคัญของ “หิ่งห้อย” ที่มีต่อระบบนิเวศ เป็นที่มาของการจัดงาน “วันหิ่งห้อยโลก” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2562 ณ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง โดยการสนับสนุนของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของหิ่งห้อยและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของคุ้งบางกะเจ้าให้อยู่ในสภาพอุดมสมบูรณ์ต่อไป

คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ 12,000 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล ถือเป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อยแห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับกรุงเทพมหานครมากที่สุด แต่จากการสำรวจพบว่า ในช่วง 2 ปีมานี้ปริมาณหิ่งห้อยกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ความมหัศจรรย์ของหิ่งห้อยไม่ได้มีแค่แสงสวยงามในยามค่ำคืน แต่มันคือดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ พื้นที่ใดที่มีหิ่งห้อยลดลง บ่งบอกว่าพวกมันกำลังตีตัวออกห่างจากสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความปลอดภัย

การอนุรักษ์พื้นที่บางกะเจ้าให้เป็น “Unseen เกาะหิ่งห้อยของประเทศ” จึงต้องสร้างความร่วมมือระหว่างคนใน 6 ตำบลของพระประแดง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้มีความยั่งยืน

วิษณุพงษ์ สงวนสัจพงษ์ นายอำเภอพระประแดง กล่าวว่า คุ้งบางกะเจ้าไม่ได้เป็นพื้นที่สำคัญเฉพาะกับ อ.พระประแดง หรือ จ.สมุทรปราการ เท่านั้น แต่สำคัญกับประเทศไทยด้วย เพราะการอนุรักษ์หิ่งห้อยเป็นการแสดงถึงการรักษาพื้นที่สีเขียวให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ต่อไป ชาวคุ้งบางกะเจ้าจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้แม่น้ำลำคลองมีความสะอาด ดังนั้นการจัดงานวันหิ่งห้อยโลกขึ้นจึงเป็นการกระตุ้นให้คนบางกะเจ้าเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ เพราะแม้แต่หน่วยงานภายนอกยังเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน

คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวางแผนยุทธศาสตร์และพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวางแผนยุทธศาสตร์และพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาการจัดงานวันหิ่งห้อยโลกว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สอดคล้องกับงานหิ่งห้อยโลกสากลที่จัดพร้อมกันทั่วโลก เป็นการต่อยอดจาก “โครงการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ: เส้นทางหิ่งห้อย วิถีแห่งการอนุรักษ์” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสานต่อแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า เสริมสร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานโครงการหิ่งห้อยคุ้งบางกะเจ้า และพัฒนาพื้นที่บางกะเจ้าให้เป็น Unseen เกาะหิ่งห้อยของประเทศในอนาคต ตามแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่บูรณาการร่วมกันทั้ง 6 ตำบลต่อไป

ผศ.ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในแกนนำคณะนักสำรวจหิ่งห้อย อธิบายว่า ถ้าบริเวณไหนมีหิ่งห้อย แสดงว่าบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะระบบนิเวศที่สมบูรณ์จะเป็นตัวรองรับวงจรชีวิตของหิ่งห้อยตั้งแต่เป็นตัวหนอนจนโตเต็มวัย แต่ถ้าบริเวณไหนมีมลพิษ น้ำปนเปื้อนสารเคมี จะทำให้ตัวหนอนหิ่งห้อยตาย

“การพบเห็นหิ่งห้อยในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้านั้น เป็นกระจกสะท้อนว่าบริเวณนี้ยังเป็นป่าเขตเมืองที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัยต่อการอยู่อาศัย ไม่ใช่ปลอดภัยเฉพาะหิ่งห้อย แต่ปลอดภัยกับคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย แต่ในปัจจุบันปริมาณหิ่งห้อยลดน้อยลงมาก

ภาพ : บัณฑูร พานแก้ว

ในอดีตพื้นที่บางกะเจ้ามีหิ่งห้อยจำนวน มากกว่าปัจจุบัน 10 เท่า แต่ในช่วง 2 ปีมานี้สังเกตได้ว่าจำนวนหิ่งห้อยเริ่มลดลง จึงเป็นที่มาของการเริ่มสำรวจเพื่อการอนุรักษ์

“การสำรวจหิ่งห้อยในพื้นที่เริ่มขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ใน 6 ตำบล ตำบลละไม่กี่คน โดยมีบางจากฯ ให้การสนับสนุน” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหิ่งห้อย เล่าที่มา

ผลสำรวจทำให้ทราบว่า หิ่งห้อยน้ำจืด พบมากใน ต.บางยอ และ ต.บางกอบัว ซึ่งไม่ค่อยมีป่าชายเลน และแม้จะพบหิ่งห้อยอยู่ แต่มีจำนวนลดลง ส่วนหิ่งห้อยน้ำกร่อย พบมากที่ ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางกระสอบ ต.บางกะเจ้า และบางส่วนของ ต.ทรงคะนอง ขณะที่หิ่งห้อยบก พบใน ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางยอ และ ต.บางกอบัว กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ส่วนที่เป็นป่า

สำหรับสถานการณ์หิ่งห้อยในระดับประเทศ

โดยรวมถือว่าวิกฤตหรือไม่ ตอบยาก เพราะไม่มีการอัพเดทข้อมูล แต่ถ้าถามคนท้องถิ่นก็จะบอกว่าน้อยลงมากหลายเท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับเรื่องฤดูกาลและปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวด้วย เช่น บริเวณคุ้งบางกะเจ้า มีการพูดกันว่ามีการลักลอบดักกุ้งแม่น้ำโดยใช้สารเคมี หรือการวางยาปลาริมแม่น้ำ เหล่านี้เป็นปัจจัยให้หิ่งห้อยหายไป เพราะน้ำปนเปื้อนสารเคมี

ภาพ : บัณฑูร พานแก้ว

อีกปัจจัยคือพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำมักอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพเรื่องหิ่งห้อยโดยตรง จริงๆ แล้วบทบาทการอนุรักษ์ควรเป็นของทุกคน เพราะทุกคนควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะเป็นที่อยู่ของหิ่งห้อยด้วย ดังนั้นการรักษาพื้นที่สีเขียวไว้ในอนาคตก็จะช่วยให้หิ่งห้อยสามารถอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างมีความสุข

ด้าน นักสำรวจชั้น ม.4 โรงเรียนวัดทรงธรรม นันทกาญจน์ คงสมบัติ เล่าว่า การสำรวจหิ่งห้อยในพื้นที่บางกะเจ้าทำให้เธอได้ประสบการณ์หลายๆ อย่าง แต่ที่มากสุดเห็นจะเป็นเรื่องมุมมองที่เธออยากให้มีการอนุรักษ์หิ่งห้อยให้มากขึ้น รวมทั้งจะชักชวนเพื่อนๆ ให้เข้ามาร่วมทีมสำรวจด้วยกัน

ฉะนั้น การอนุรักษ์พื้นที่แม่น้ำลำคลองหรือป่าชายเลน ทั้งในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าและที่อื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศเพื่อส่งต่อให้เด็กน้อยรุ่นหลานได้มีโอกาสเห็นแสงระยิบระยับสว่างไสวใต้ต้นลำพูต่อไป

ขอบคุณภาพ:  บัณฑูร พานแก้ว

Copyright @2021 – All Right Reserved.