Food Waste เรื่องใหญ่ พบ 800 ล้านคนยังหิวโหย ในสภาอย่า ‘ดราม่า’

by Admin

อาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกปี วิธีการกำจัดไม่ได้มาตรฐาน โดยส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เกินพอดี กินทิ้งกินขว้าง กินเกินความจำเป็น ฉะนั้นประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนฯ จึงไม่ได้อยู่ที่การนำอาหารเหลือกลับบ้าน สส.ที่นำเรื่องนี้มาโพสต์ลงโซเชียลควรใช้สติปัญญาให้มากกว่านั้น

1) ประชากรโลกกว่า 800 ล้านคนยังประสบภาวะการขาดแคลนอาหาร ไม่มีอาหารกิน ในบางภูมิภาคของโลกมีผู้หิวโหยที่อดตายรายวันแม้กระทั่งในบ้านเราก็มีพลเมืองที่ใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ และอดมื้อกินมื้อ แต่ผู้ทรงเกียรติในสภาฯ ไทยอู้ฟู่ใช้งบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า สิ้นเปลือง และยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศอีกด้วย

2) ย้อนไปดูตัวเลขงบฯ ค่าอาหาร สส. ตก 1,000 บาท/คน/วัน โดยปีงบประมาณ 2566 ใช้งบค่าอาหาร รวม 72,031,000 บาท (72 ล้าน)

ปีงบประมาณ 2565 และปี 2564 จัดสรรงบฯ สูงถึง 87,880,000 บาท (87 ล้าน) แต่งบฯ ค่าอาหารกลางวันเด็กไทยอัตราค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอนุบาล 1 – ป.6 ในโรงเรียนของรัฐ ปีงบประมาณ 2566-2567 (ตามมติ ครม. 8 พ.ย. 65) ดังนี้

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน

– โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121 คนขึ้นไป ใช้เงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน

3) ปัญหาการใช้งบไม่มีประสิทธิภาพและเหลื่อมล้ำก็เรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาขญะอาหารควรเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีอาหารที่ถูกทิ้งหรือปล่อยให้เน่าเสียอย่างเปล่าประโยชน์ประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นในโลกแต่ละปีมากถึง 1,300 ล้านตัน โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ประเมินว่าทั่วโลกนั้นผลิตขยะอาหารอย่างน้อย 30% จากอาหารทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 940 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

4) ประเด็นที่สำคัญมากจาก  Food Waste ที่ถูกทิ้งทั่วโลกในแต่ละปีก็คือ “ต้นทุน” ที่มาจากผืนป่าซึ่งถูกถางบุกรุกเพื่อการเพาะปลูกวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกมหาศาล สร้างปัญหาดินปนเปื้อน เกิดมลพิษอากาศจากการเผาป่า เผาวัสดุทางการเกษตร การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล

5) อาหารที่ถูกผลิตต่อวันสำหรับการบริโภคถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ประมาณ 1 ใน 3 เป็นหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 8 ของสัดส่วนการปล่อยทั้งหมดในแต่ละปี หรือสร้างภาระก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า

6) ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมดนี้มากพอสำหรับประชากรในทวีปแอฟริกาที่สามารถบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะสำหรับประชากรบางประเทศที่ขาดแคลนอาหารและน้ำ หากนำประเด็นดราม่ากินทิ้งกินขว้างของสมาชิกรัฐสภาบ้านเราไปเปรียบเปรยว่า หากนำอาหารที่ล้นเกินนี้ไปไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพก็เป็นประเด็นที่น่าขบคิดไม่น้อย

7) สำหรับสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยพบว่า มีการผลิตขยะออกมา 24.98 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 68,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ขยะอินทรีย์ร้อยละ 64 ซึ่งอัตราการผลิตขยะต่อคนอยู่ที่ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน แต่สามารถรีไซเคิลเพียงร้อยละ 32 ถูกกำจัดอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 37 ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้องกว่าร้อยละ 31 ทำให้เกิดขยะสะสมที่ก่อมลภาวะ และผลกระทบอื่นตามมาอีกหลายด้าน

8) ทุกคนอาจเข้าใจว่าการนำขยะเหลือทิ้ง (อาหารหมดอายุและเศษอาหาร) ไปฝังกลบเป็นวิธีกำจัดที่ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะการย่อยสลายของขยะใต้หลุมฝังกลบจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาซึ่งเป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งอาจส่งกลิ่นรบกวน และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

9) ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีปัญหา Food Waste อย่างเช่น อังกฤษมีมากถึง 17 ล้านตัน สหรัฐฯ ทิ้งอาหาร 34 ล้านตัน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทิ้งอาหารกว่า 90 ล้านตัน/ปี และปัญหาอาหารเหลือทิ้งเหล่านี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่บางประเทศแก้ปัญหาด้วยการนำขยะเหล่านี้เข้าเครื่องบด-อบขยะอาหารแทนการฝังกลบ และนำไปเป็นปุ๋ยเพาะปลูก รวมทั้งนำขยะไปผลิตพลังงานสะอาด

10) สส./สว. จึงไม่ควรสร้างดราม่าจากการนำอาหารกลับบ้านของเพื่อนสมาชิกเพื่อสร้างคอนเทนต์ดิสเครดิตคู่แข่ง แต่ควรนำความไว้วางใจจากประชาชนไปรวบรวมสติปัญญาสำหรับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะนโยบายการจัดการ Food Waste ที่จะสร้างแรงจูงให้ทุกคนลดการบริโภคหรือลดต้นตอการสร้างขยะตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชนไปจนถึงการผลักดันเชิงนโยบายที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริง

Copyright @2021 – All Right Reserved.